เร่งองค์กรนำ AI Transformation เปลี่ยนธุรกิจทันสมัย ปลดล็อกศักยภาพ เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

เร่งองค์กรนำ AI Transformation เปลี่ยนธุรกิจทันสมัย ปลดล็อกศักยภาพ เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

การนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) เข้ามาใช้ในธุรกิจได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามอีกต่อไป โดย AI Transformation หรือการปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยการนำ AI มาประยุกต์ใช้นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าใหม่ให้กับธุรกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

ท่ามกลางการแข่งขันสูง การใช้ AI จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเติบโตที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน สุดท้าย หากองค์กรยังไม่เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนี้ อาจจะถึงเวลาแล้วที่จะนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างและความสำเร็จในอนาคต! 

จากหัวข้องานสัมมนา ‘AI Transformation: Is Your  Business AI-Ready? ธุรกิจพร้อมแค่ไหน ใช้ AI เปลี่ยนผ่านองค์กร’  ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยี King Power และ Techsauce ร่วมแนะแนวทาง การนำ AI มาใช้ในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูง รวมถึง การปาฐกถา จาก Bitkub Captial Group Holdings 

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอกลุ่มบริษัท Bitkub Capital Group Holdings เปิดมุมมองในเรื่องการใช้AI ว่า ไม่มีใครสงสัยเกี่ยวกับความสามารถ ความอัจฉริยะของAI ว่าทำหน้าที่แทนคนได้ในหลายเรื่อง เริ่มต้นจากที่ทำงานซ้ำๆ ความจดจำ ประมวลผล จนทำให้องค์กรเริ่มนำระบบ AI มาใช้ในการทำงานเพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน องค์กรที่มีพนักงานขนาด 50 คน หากทุกคนสามารถใช้ AI มาช่วยในการทำงานได้ จะเกิดผลลัพธ์ในการทำงานเท่ากับคนทำงาน 1 หมื่นคน เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว จึงถึงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นพัฒนาทักษะการใช้ AI ในองค์กรให้ตอบโจทย์การทำงานในยุคปัจจุบัน 

“ใช้แชทจีพีที ให้เป็น เหมือนใช้กูเกิล และยูทูปในยุคแรกๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว จึงต้องสงเสริมเด็กเยาวชนให้มีทักษะด้านAI”

 

 

 

ประโยชน์ของ AI Transformation

ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer ของ King Power Corporation กล่าวถึงแนวคิดการใช้AIว่า อยู่คู่สังคมมาอย่างยาวนาน แต่เด่นชัดในเรื่องภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันAI ได้เข้ามามีบทบาทใกล้ชิดกับคนมากขึ้น เริ่มจาก จีพีที แชตบอต ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อความระหว่างมนุษย์ พอนำมาใช้งานมากขึ้น ทำให้องค์กรเกิดการตื่นตัว และนำAIมาช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต

ในวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก องค์กรต้องเข้าไปค้นหาความสนใจของผู้บริโภครายบุคคล เพื่อให้เข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง และความไม่แน่นอนของสังคมนี้ AI จะมีส่วนช่วยสังเกตพฤติกรรมและนำมาวิเคราะห์ อาทิ การนำกล้อง AI มาใช้ดูจำนวนคนเข้าออกร้านค้า และสังเกตว่าคนไปอยู่ในโซนผลิตภัณฑ์ใดเยอะ ซึ่งพัฒนาไปนอกเหนือจากการดูหน้าตาแล้ว แต่แค่เห็นตัวก็สามารถระบุเพศกับสัญชาติได้ 

มีการนำ AI มาปรับใช้กับพนักงานองค์กร เป็นคำถามประเมินสภาพอารมณ์การทำงาน สาเหตุเบื้องต้นของอารมณ์ ซึ่งจะคอยช่วยสรุปผลให้หัวหน้ารับทราบ และให้คำแนะนำว่าหัวหน้าควรทำอย่างไร เช่น เพิ่มคำชมให้พนักงาน 

ทั้งนี้การนำ AI มาใช้ในภาคธุรกิจของไทยมีความแตกต่างกันไปตามประเภทอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก 

  1. กลุ่มที่มีการเก็บข้อมูลลูกค้า (Consumer Data) ข้อมูลจำนวนมาก จำเป็นต้องมีผู้ช่วยจำ  เช่น ธนาคาร ห้างร้าน เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค 
  2. อุตสาหกรรมโรงงาน ที่นำ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 
  3. กลุ่มธุรกิจพลังงานและสุขภาพ ที่สามารถวิเคราะห์ยาที่เหมาะสมสำหรับบุคคล เพราะยาบางโรคไม่ใช่สามารถให้กับทุกคนได้ ที่จะช่วยได้อย่างมากสำหรับโรคมะเร็ง หรือที่ผ่านมาคือโควิด-19 ที่ AI มีส่วนสำคัญในการพัฒนาวัคซีนและยารักษา

 

“โจทย์คือ คุณจะคิดว่าจะเอา AI มาช่วยสร้างประสิทธิภาพได้อย่างไร และทำอย่างไรให้คนในองค์กรมีประสบการณ์ด้าน AI ที่ดีขึ้น”

 

 

ความท้าทายและการรับมือขององค์กร 

แบ่งเป็นเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  1. Observer ผู้สังเกตการณ์ : องค์กรที่ตระหนักและสนใจใน AI แต่ยังไม่ได้นำ AI มาใช้ ผู้บริหารระดับสูงอาจสนใจแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ผู้บริหารยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเข้าเท้าเข้าสู่โลกของ AI 
  1. First Beginner ผู้เริ่มต้น : เริ่มนำ AI มาใช้ในงานพื้นฐานได้ เช่น การใช้ Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือใช้ AI Chatbot ในการตอบคำถามลูกค้าแทนพนักงานคอลเซ็นเตอร์
  1. Intermediate ผู้ใช้ระดับกลาง : องค์กรที่ผ่านมาจากการเป็น First Beginner ถ้าเปรียบเทียบกับคน คือผ่านร้อนผ่านหนาว มีประสบการณ์มาเยอะพอสมควร จนทำให้สามารถนำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล เริ่มรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา ใช้ชุดคำสั่งได้อย่างถูกต้องทำให้เข้าใจธุรกิจและลูกค้ามากขึ้น
  1. Advanced ผู้ใช้ขั้นสูง : องค์กรที่ใช้ AI ในการตัดสินใจทางธุรกิจและสร้างนวัตกรรม เรียกได้ว่าเป็น AI Transformation อย่างแท้จริง เปรียบเป็นผู้บรรลุธรรมที่อยู่สูงสุด คือสามารถนำ AI มาใช้ในการตัดสินใจ ถือว่าเป็น AI transformation เพราะพนักงานในองค์กรเข้าใจในการทำงานร่วมกับ AI ได้ 

 

 

 

กรอบเวลาสำหรับ AI Transformation 

สำหรับองค์กรที่ต้องการเริ่มทำ AI Transformation การวางกรอบเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงควรเริ่มจากการประเมินความพร้อมของระบบภายในองค์กร จากนั้นจึงพิจารณาความสามารถในการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อรองรับการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ 

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ  ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Techsauce ให้มุมมองว่าองค์ต้องประเมินทักษะความรู้ของพนักงาน ความเข้าใจในการนำ AI มาใช้งาน ซึ่งคนรุ่นใหม่จะเข้าใจอยู่แล้วเพียงแต่ต้องคอยแนะนำว่าข้อมูลใดที่จะอัพโหลดเข้าไปให้ AI วิเคราะห์ไม่ได้ เช่น ข้อมูลลูกค้าบางส่วนที่เป็นความลับและเสี่ยงต่อการรั่วไหลไปสู่สาธารณะ 

 

“การใช้ AI ในองค์กรเหมือนกับการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งต้องคำนึงถึงความต้องการของพนักงานแต่ละกลุ่ม บางคนอาจคุ้นเคยและเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีนี้ ในขณะที่บางคนอาจยังไม่เข้าใจ AI เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้มีความรู้” 

นอกจากนี้ ผู้บริหารยังต้องชัดเจนว่า ต้องการใช้ AI เพื่ออะไร เพื่อที่จะวางแผนร่วมกับฝ่ายบุคคล (HR) และติดตามข้อมูลดูว่าพนักงานมีความกระตือรือร้นและใช้ AI มากเพียงใด ซึ่งจะช่วยสะท้อนประสิทธิภาพของ AI ผ่านตัวชี้วัดประสิทธิ (KPI) ที่ชัดเจน เป็นต้น 

 

 

 

หัวเรือไปทางไหน หางต้องไปทางนั้น

“อยากจะออกไปทะเลต้องรู้ว่าจะไปเกาะ แล้วเราต้องพาเขาไปให้ได้ ตามจุดมุ่งหมายนั้น ๆ”

ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ เสริมว่า แม้การทำ AI Transformation จะมาพร้อมกับโอกาสที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกองค์กร ปัญหาในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการขาดทักษะด้านเทคโนโลยีในบุคลากรเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่พบ และถ้าอยากเปลี่ยนแปลงองค์กรต้องเริ่มจากผู้นำ ผ่านหลัก 3 C  

  1. Commitment ความมุ่งมั่น ก่อนที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างต้องมีเป้าหมายเริ่มต้นขององค์กรที่ชัดเจน ถ้าคิดว่าจะทำ AI Transformation ก็ต้องรู้ว่าองค์กรจะทำไปเพื่ออะไร ไม่ใช่เป็นแค่การทำเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ แต่เป็นความชัดเจนที่จะเป็นเป้าหมายส่งผ่านให้คนในองค์กร
  2. Communication การสื่อสาร ให้คนในบริษัทรู้ถึงเส้นทางเดียวกัน เมื่อแม่ทัพ (หัวหน้างาน) เข้าใจจุดประสงค์เดียวกันและหลังจากนั้นหัวหน้าต้องหาวิธีสื่อสารไปหาลูกน้องในแต่ฝ่าย เพื่อให้ทุกคนรู้เส้นทาง รู้กลยุทธ์แล้วไปด้วยกัน
  3. Collaboration การร่วมมือกัน ให้ทุกคนสามารถเดินไปข้างหน้าด้วยกัน สู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน ผู้นำจำเป็นต้องเปิดใจรับ เป็นผู้ฟังที่ดีและหมั่นให้คำชื่นชมพนักงาน หมายถึงต้องปรับตัวของตนให้เป็นผู้นำที่ลพนักงานสามารถเปิดใจคุยถึงปัญหาและกล้าหาวิธีแก้ปัญหาไปด้วยกัน

 

“ถ้าเราใช้ AI ไม่เป็น เราแพ้คนที่ใช้เป็นแน่นอน แค่การเขียนคำสั่ง คำถามให้ AI ตอบที่ไม่เหมือนกันก็ได้คำตอบจาก AI ก็จะไม่เหมือนกัน นี่คือวิธีการที่ต้องรีสกิลให้ปรับตัวได้ AI ไม่มีทางทดแทนมนุษย์ได้ แต่เราจะใช้ประโยชน์จากมันเป็นหรือเปล่า”