3 ทายาทมหาเศรษฐีไทย อีก 1 ซีอีโอ ฉายวิสัยทัศน์ ผนึกพลังร่วมเปลี่ยนผ่านประเทศไทยตามคำมั่นโลก การพัฒนายั่งยืน (SDGs) สร้างสมดุลโลกใหม่ ‘ฐาปน’ ไทยเบฟ ชี้ บ่อยครั้งธุรกิจสร้างปัญหา กระตุ้นบริโภคเกินตัว แก้โจทย์ต้องมาจากทุกภาคส่วนรับผิดชอบ ด้าน ‘ธรรมศักดิ์’ ซีอีโอเอสซีจี แก้เกมไทยมีที่ยืนในตลาดโลก เร่งลดคาร์บอน-เพิ่มขีดแข่งขัน-กฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน-เสรีพลังงานสะอาด ขณะ ‘ศุภชัย’ จาก ซีพี หาโมเดลให้ธุรกิจกระจาย 20 แห่งทั่วโลก ลดคาร์บอน 5.7 ล้านตันอย่างไรให้ยังเติบโต 5-7% ปิดท้าย ‘ธีรพงศ์’ ไทยยูเนี่ยน พลิกโจทย์ ท้องทะเลสุขภาพดี ชีวิตคนดีตาม
ความพยายามของประชาคมโลกที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 2030 (Sustainable Development Goals) รวมถึง เดินตามข้อตกลงพันธสัญญาประชาคมโลกลดคาร์บอนลง 30-40% ในอีก 6 ปีข้างหน้า นับเป็นความท้าทายของประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันด้านราคา และสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ทำให้องค์กรทุกรระดับ รวมถึงบุคคล ต้องเร่งหาแนวทางปฏิบัติ พร้อมไปกับหาวิธีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ่จากผลกระทบที่รุนแรงและถี่ขึ้น จากภาวะโลกร้อน โลกรวน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะจน หรือ รวย
ชวนมาแกะรอยแนวคิด 4 ผู้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำจาก Thailand Supply Chain Network ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์การปรับโมเดลธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ในงานเสวนา ‘วิสัยทัศน์ 2030 : พลังความร่วมมือสู่อนาคตที่ยั่งยืน’
ปรับโมเดลธุรกิจ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ร่วมรับผิดชอบสร้างสมดุลโลกใหม่
ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดประเด็นถึงปัญหาโลกขาดสมดุลในยุคปัจจุบัน และการเดินตามพันธสัญญาประชาคมโลกภายในปี 2030 ที่จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนต้องปรับโครงสร้างซัพพลายเชนธุรกิจ (ห่วงโซ่การผลิตและธุรกิจ) ตั้งแต่รายใหญ่ กลาง และเล็ก ให้ร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาการผลิต อาศัยมาตรการจากภาครัฐ เป็นผู้ออกกฎเกณฑ์กติกาบังคับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ทุกภาคส่วนให้คำนึงถึงผลกระทบต่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันรับผิดชอบ ก็จะเกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อส่วนรวม
ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเปิดกว้างฟังเสียงผู้ประกอบธุรกิจ และฟังภาครัฐด้วยกันเอง จากทุกหน่วยงาน จึงจะทำให้เกิดความสมดุลที่ดี โดยใช้ความรู้ความสามารถจากภาคเอกชน แนวคิดจากโอกาสจากประสบการณ์ต่างๆมากมายจากภายนอก เพื่อร่วมมือก้ันวางกรอบกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดขึ้นมา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนำมาปฏิบัติได้จริง สอดคล้องกับบริบทของประเทศ สมเหตุสมผล พร้อมกันกับในองค์กรก็ต้องฟังเสียงพนักงานด้วยเช่นกัน
“ผู้ประกอบการทุกคนก็ต้องพูดคุยกันให้มากขึ้น เพราะทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ล้วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น ซัพพลายเออร์ หรือเวนเดอร์ ทุกคนมีบทบาทในการร่วมมือกันวางอนาคตปี 2030 ร่วมมือกัน ในมิติที่คล้ายกันมากๆ เพื่อก้าวเดินไปพร้อมกัน (Co-existence) จะนำไปสู่การสร้างสรรค์พลังแห่งความร่วมมือ”
ทบทวนธุรกิจบ่อยครั้งสร้างปัญหา
นำพาสังคมบริโภคเกินยับยั้ง
ฐาปน เล่าว่า หัวใจสำคัญของการจัดงาน Sustainability Expo 2024 ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น ภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาความพอเพียง เพื่อความยั่งยืน Sufficiency for Sustainability มุ่งเน้นให้องค์กรร่วมมือกันเดินตามรอยพระปฐมบรมราชโองการ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทุกคน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ 3 ห่วง ประกอบด้วย ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีความคุ้มกันที่ดี และ 2 เงื่อนไข ได้แก่ คุณธรรม และความรู้ เพื่อสื่อถึงทุกคนว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลที่ดี
“เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน ถือเป็นผืนผนังด้านหลัง ที่องค์กรกำลังร่วมกันเดินตามรอยพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในด้านการสื่อสารต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทุกๆคน ที่เรียกว่าประโยชน์สุขของ อาณาประชาราษฎร์ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เราอยู่ในโลกธุรกิจบ่อยครั้งพวกเรา เป็นคนที่สร้างปัญหาเหมือนกันเพราะว่าธุรกิจบางทีถ้าเราไม่มีความสมดุลที่พอเหมาะ พอประมาณ เราก็จะกลายเป็นการทำอะไรแบบสุดโต่ง ใช้ก็ใช้แบบสุดโต่งอยากจะได้ราคาที่ดี คุ้มค่าที่สุด และของที่ดีที่สุด ตอบสนองธุรกิจเติบโตต่อไปอยู่เรื่อยๆ ทำให้เกิดการบริโภคที่ไม่หยุดยั้ง แบบที่เรียกว่า Consumerism โดยที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น จึงต้องชวนกลับมาคิด ในด้านความยั่งยืน เพราะเราใช้สิ่งของทรัพยากรบนโลกใบนี้”
ฐาปน ยังนำเสนอแนวคิดโมเดล 5 P ที่ทุกคนควรคำนึงถึงความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริง ที่ตอบโจทย์โลกใบนี้ คือ โลก- Planet เกิดมาก่อนมนุษย์ , มนุษย์ – People สร้างคุณภาพชีวิตให้กับคน, ความรุ่งเรือง – Prosperity สร้างความเจริญก้าวหน้า, สร้างพันธมิตร -Partnership แสวงหาความร่วมมือ ทำงานร่วมกัน และ ความสงบสุข -Peace ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข จึงเกิดสันติภาพ เมื่อทุกคนจะถามหาเรื่องความเจริญเติบโต รุ่งเรือง
“ชุมชนต้องเข้มแข็งและพร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ พร้อมทั้งมีโอกาสไปช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ก่อให้เกิดเป็นภาคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากเรามีการทำงานร่วมกัน จะกลายเป็นพลังสร้างสรรค์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อความยั่งยืน”
4 เรื่องใหญ่พาไทยอยู่รอดยั่งยืน
เร่งลดคาร์บอน-เพิ่มขีดแข่งขัน
ก.ม.เศรษฐกิจหมุนเวียน-เสรีพลังงานสะอาด
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยต้องทำสองเรื่องไปพร้อมๆ กัน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเอสซีจีได้เสนอให้ภาครัฐจัดทำแผนแม่บทรีไซเคิล เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินธุรกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง จึงต้องกำหนดเป็นแผนแม่บท ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
“ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องรีไซเคิล แต่เรายังขาดแผนแม่บทที่จะกำหนดทิศทางและกำกับดูแล รวมถึงการขาดจิตสำนักในระดับบุคคลในเรื่อง Circular Economy เช่น การแยกขยะเปียกขยะแห้ง เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพนำมารีไซเคิลได้จะมีค่าใช้ในการดำเนินการมหาศาล อีกทั้งต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน”
เสรีพลังงานสะอาด วางโครงสร้างไฟฟ้าอัจฉริยะ
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยเอสซีจีเสนอให้ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด (Law and Regulations) เพื่อให้สามารถซื้อ-ขาย ไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงง่ายขึ้น มีการกำหนดให้มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพสายส่งโดยรวมทั่วประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะทำให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า เอสซีจี ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน กำลังดำเนินโครงการ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เพื่อให้เป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ขณะเดียวกัน เอสซีจีมีเป้าหมายผลิตซีเมนต์คาร์บอนต่ำให้ได้ 80% ภายในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 100% ในปีหน้า
เดินตามพันธสัญญาคาร์บอนศูนย์จากปัจจุบัน 5.7ล้านตัน
โจทย์ท้าทายซีพี ปักธง20 ประเทศทั่วโลกโต 5-7 %
ด้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า การจะบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนได้ สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดคือ ต้องมีพันธสัญญาร่วมกัน โดยซีพี ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในขอบเขตที่ 3 ( Scope 3) ภายในปี 2050
“ในขณะที่ทุกธุรกิจซีพีใน 20 ประเทศทั่วโลก ยังคงเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5-7% ต่อปี ก็ต้องมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมีการปล่อยคาร์บอนเฉพาะธุรกิจซีพี 5.8 ล้านตัน ในปี 2023 แต่ถ้ารวมทั้งซัพพลายเชนจะปล่อยคาร์บอนทั้งหมด 79.3 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ซึ่งถือเป็นความท้ายที่จะต้องดำเนินมาตรการให้มากยิ่งขึ้น”
ศุภชัย บอกว่า ซีพีดำเนินการใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ การลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงก๊าซมีเทน การจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะอาหาร (Food waste) และการสร้างจิตสำนึก โดยเน้นกระบวนการศึกษา
สำหรับปี 2030 ซีพีตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในการดำเนินงาน Scope 1&2 โดยจะใช้พลังงานหมุนเวียน 50% ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอแมส และไบโอแก๊ส ลดขยะของเสียเป็นศูนย์ด้วยการผลิตเป็นปุ๋ย 1.2 ล้านตัน ลดอาหารขยะ 56,000 ตัน และใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำ/ใช้ใหม่/ย่อยสลายได้ 100% ส่วนใน Scope 3 จะลดคาร์บอนร่วมกับคู่ค้าให้ได้ 25% โดยจะมีมาตรการเพื่อจูงใจให้คู่ค้ามีการใช้พลังงานหมุนเวียน
2 โจทย์ เพื่อโลกที่ดี
มหาสมุทรดี สุขภาพคนดีตาม
ขณะที่ ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ไทยยูเนี่ยน ได้เริ่มดำเนินงานด้านความยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2014 เพราะถือเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด หลังจากไทยถูกกดดันจากปัญหาเรื่องแรงงาน และการทำประมงผิดกฎหมาย จนกระทั่งปี 2023 ได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเลด้วยการดูแลคนและโลกเพื่อความยั่งยืน ผ่าน 2 เป้าหมายหลักคือ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้อยู่อาศัย (Healthy Living) และเพื่อสุขภาพของมหาสมุทร ( Healthy Ocean) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนทั้ง Scope 1,2,3 ให้ได้ 42% ภายในปี 2030 และปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะไทยยูเนี่ยนจะต้องทำงานร่วมกับซัพพลายเชนทั่วโลก
ธีรพงศ์ บอกอีกว่า ที่ผ่านมาเข้าไปช่วยดูแลชีวิตสัตว์ทะเลตามแหล่งธรรมชาติ เริ่มต้นจาก ทูน่า เแต่ปัจจุบันได้ขยายขอบข่าย การดูแลไปยังสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ เช่น แมคเคอเรล แซลมอน รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง เช่น กุ้ง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและทำประมงแบบคาร์บอนต่ำ สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนคือ ความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยสถาบันการเงินจะต้องเข้ามาช่วยในด้านการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ทุกฝ่ายในซัพพลายเชนสามารถใช้พลังงานสะอาด
นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังขยายแผนความยั่งยืนให้ครอบคลุมไปยังการเกษตร เช่น การปลูกถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำอาหารสัตว์ โดยกำหนดนโยบายในการรับซื้อถั่วเหลืองจากเกษตรกรที่ไม่ทำลายป่า และมีระบบการตรวจสอบแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน
“เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” ที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน