รองประธานหอการค้าไทย ถอดความเชื่อภายใน หลั่งน้ำตาขออย่าด้อยค่าประเทศไทย เชื่อมั่นและศรัทธา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข็มทิศนำทางกลับมาค้นหาของดีภายในเมืองไทยยังแข็งแกร่งด้านภูมิปัญญา พร้อมสู้ ท้าท้ายเศษฐกิจยุคผันผวน ด้าน ศิริกุล เลากัยกุล จากโครงการพอแล้วดี ผ่านยุคตกต่ำของการเผาผลาญทรัพยากร เผยนิยามความยั่งยืนต้องปรับเปลี่ยน Regenerative หวนกลับมาฟื้นฟูธรรมชาติ ดูแลมหาสมุทร ดิน คืนสู่สมดุลใหม่ เผยคาถา เตือนสติ พอประมาณ ภูมิคุ้มกันจากพระพุทธศาสนา ทำให้บริโภค และใช้ชีวิตด้วยสติ
ภายในงาน การเสวนา ‘ก้าวพอดี’ สมดุลที่ดีเพื่อโลกที่ดีกว่า พอเพียง เติบโต ยั่งยืน มีการนำเสนอกรณีศึกษา ความสำเร็จในการดำเนินโครงการ ‘ก้าวพอดี’ ธุรกิจที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการสู่ความยั่งยืน
โดยมี กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียงและลดความเหลื่อมล้ำ หอการค้าไทย และ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ The Creator พอแล้วดี มาให้ความรู้เกี่ยวกับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการพัฒนาธุรกิจ ดำเนินชีวิต พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศในเวทีโลก
ไม่ด้อยค่าประเทศไทย
มั่นใจปัญญาสู้ได้ในเวทีโลก
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียงและลดความเหลื่อมล้ำ หอการค้าไทย เชื่อว่าการประเทศไทยจะอยู่ต่อไปและมีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงร.9 ทำให้เรามองเห็นสิ่งดีงาม มีอยู่ทั่วทุกทิศในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีแค่เมืองหลวง กรุงเทพฯ ทุกจังหวัดของดีอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ล้วนมีอัตลักษณ์ มีคุณค่า เมื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ทำให้เข้าใจความดีงามภายในท้องถิ่นที่มี และหยิบนำไปพัฒนาต่อยอด
“ทุกจังหวัดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ทุกที่มีคุณค่า มีอัตลักษณ์ มีอะไรดี สิ่งที่สำคัญคือการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรารู้จักตัวตนของเราหรือไม่ เพื่อที่เราจะเอาสิ่งดี ๆ ที่เป็นตัวตนของเราขึ้นมาพัฒนา แล้วเดินไปข้างหน้าต่อไป หากหลายคนถามว่าเศรษฐกิจดีไหม คงต้องตอบในใจ แต่ถามว่าจะรอดหรือไม่ แล้วเราจะรอดเพราะใคร ดังนั้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบอกเราได้ว่า เราต้องรู้จักตัวตน รู้จักสิ่งที่เรามี สร้างการเติบโต ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เราต้องลุกขึ้นมาใช้สองมือ สองแขน หนึ่งหัวใจ หนึ่งหัว ขึ้นมาร่วมกัน พัฒนา เดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำไปด้วยกัน ไม่ด้อยค่าประเทศไทย มีดี ที่พร้อมแข่งขันได้จากภูมิปัญญาสิ่งดีงามในตัวเรา”
เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เตือนสติคนมีดี หยิบขึ้นมาเดินหน้า
สิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องกลับมาทวนคือการ ถามตัวเอง สู้ไหวไหม กำลังหมดกำลังใจหรือไม่ในจังหวัดเราจะสู้ทุนต่างชาติ ได้ไหม แล้วค้นหาจุดแข็งให้คนไทยเราต้องไปต่อ ทั้ง 4 ธุรกิจที่เป็นฐานรากของประเทศ ประกอบด้วย เกษตร โรงแรม ท่องเที่ยว อาหารแห่งความยั่งยืนและอนาคต แล้วเริ่มต้นหยิบมาพัฒนาเป็นธุรกิจ จากความตั้งใจ ไม่กลัวความล้มเหลว แม้จะต้องเริ่มจากศูนย์ ตั้งแต่ไม่รู้อะไรเลย เดินตามหลักการแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยเตือนสติให้รู้ว่า เรามีอะไรดี เชื่อมั่นในประเทศไทย ภูมิใจในความเป็นไทย
“ไม่คิดเพียงว่าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องถามตัวเองให้ทำได้ อย่าหมดศรัทธากับตัวเอง ศรัทธากับประเทศ เรายังไปต่อได้ หากธุรกิจที่ดี แม้จะมีสินค้าจีนเข้ามาแข่งขันจำนวนมาก แต่จะไม่มีใครมาฮุบเราได้ ต่อให้คนเราน้อย เทคโนโลยีน้อย สิ่งที่เรามองข้าม คิดว่าสู้ไม่ได้ อาจจะนำมาสู่ความภาคภูมิใจในประเทศ และไม่หยุดก้าวเดิน ปรับปรุงตัว เชื่อมั่นในประเทศไทย เดินต่อไปได้อย่างสวยงาม”
นิยามใหม่ความยั่งยืน Sustain แค่ประวิงเวลา
ต้อง Regenerative คืนสู่ลูกหลาน
ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ โครงการพอแล้วดี กล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นรากฐานนำพาไปสู่ความยั่งยืน ของในหลวง ร. 9 น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ทรงคิดขึ้นมา ท่านทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงทำงานตลอดเวลา เป็นสิ่งที่คนไทยต้องสำนึกและหันกลับมาภาคภูมิใจในประเทศไทย ความยั่งยืนจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากยุคที่เติบโตมากับการเผาผลาญทรัพยากร ที่มีมากมาย จนไม่ต้องคิดถึงการส่งมอบให้กับลูกหลาน แต่เมื่อใช้กันจนสุดฤทธิ์สุดเดช จึงถึงยุคที่เรียกว่าตกต่ำที่สุด เกิดวิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) จนถึงจุดที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต
เป็นยุคที่ความยั่งยืนจะต้องปรับเปลี่ยน จากเดิมนิยามคือสิ่งที่ยืดออกไป ยืดอายุการใช้งาน ที่เป็นเพียงแค่การประวิงเวลา ที่ไม่ได้คิดใหม่สร้างใหม่ จึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในการส่งต่อทรัพยากรไปสู่ลูกหลานได้ ดังนั้นจึงต้องค้นหาความหมายแนวทางปฏิบัติใหม่ โดยการฟื้นฟู กอบกู้มา (Restored) เป็นการสร้างอนาคตกลับคืนมา พยายามเยียวยาฟื้นคืนธรรมชาติ กลับสู่การหาสมดุลใหม่ (New Balance)
“แนวคิดที่จะสร้างอนาคตต่อไปจะต้องฟื้นฟู อนาคตคืนกลับมา พยายามเยียวยาธรรมชาติ ฟื้นคืนกลับมา แค่ประวิงเวลาไม่เพียงพอ หาสมดุลใหม่ที่เรียกว่า Regenerative แค่ Sustain ไม่เพียงพออีกต่อไป การใช้ทรัพยากร โดยไม่เคยดูแลธรรมชาติ ตอบแทนธรรมชาติ แค่จับปลาในทะเล ตามฤดูกาล แต่ไม่เคยคิดดูแลมหาสมุทร ปลาก็คง อยู่ได้นาน แค่ต้องการปลูกผัก ไม่ดูแลคุณภาพดิน ไม่รู้ว่าจะยั่งยืนไปอย่างไร กระบวนทัศน์ของความยั่งยืนจึงต้องเป็นเรื่องของการ Regenerative”
หลักคิด ‘พอประมาณ’
คาถาหาสมดุล สู่ความยั่งยืนในชีวิต
หัวใจสำคัญของความยั่งยืนที่สุด อยู่ที่ พอประมาณ ถือเป็นหลักสัจธรรมจากพระพุทธศาสนา มาใช้ในการตัดสินใจ ในการสอนให้เดินทางสายกลาง เป็นหลักการทั้งทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรม นำมาใช้ในการตัดสินใจ มีกรอบความคิดที่หาความสมดุลในความพอประมาณ สู่ความยั่งยืนในการใช้ชีวิตได้
การที่เราจะก้าวเข้าสู่ความยั่งยืน การบริหารจัดการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากร การสร้างผลกำไร มันต้องเจอจุดที่สมดุล เมื่อมีการจัดงานความยั่งยืนในไทย เราใช้แนวคิดตามศาสตร์พระราชา คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลายครั้งเวลาเราทำงานเรามักจะมองข้าม แต่เรามีพระมหากษัตริย์ไทยที่เป็นนักพัฒนาอันดับต้นๆ ของโลก แล้วก็สร้าง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา หากจำได้หลัก ‘3 ห่วง 2 เงื่อนไข’ ประกอบด้วย ‘การรู้จักตน การประมาณตน การมีเหตุมีผล’ โดยที่มีเงื่อนไขความรู้ ซึ่งปัจจุบันควรใช้ความรอบรู้ เพราะถ้ารู้เรื่องเดียวจบ แต่ไม่รอบรู้รอบตัว อาจทำให้การแข่งขันไปได้ไม่ไกล
“ความรู้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว หากไปอยู่ในมือคนที่ไม่มีคุณธรรม ความรู้อาจจะทำให้คนอื่นหมดโอกาสได้ ฉะนั้นความรู้กับคุณธรรมควรจะไปด้วยกัน เวลาทำธุรกิจเหมือน ต้องรู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนอยู่ตรงไหน โอกาสอยู่ตรงไหน ไม่เช่นนั้นจะวางแผนได้อย่างไร”
แบรนด์ดิ้ง คือ ตัวตนอันดีงาม
เสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจล่มสลาย
ภาคธุรกิจ คนทำสินค้าต้องลุกขึ้นมาทำแบรนด์ เพราะจะช่วยทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น ค้นหาความดีงามในตัว ว่าจะเอาอะไรไปแข่ง เพื่อเลือกแข่งในเวทีที่มีโอกาสชนะ เพราะฉะนั้นการมีเหตุมีผล เวลาเอาไปใช้กับธุรกิจ ต้องมีการวางกลยุทธ์
“การประมาณตน ไม่ใช่เจียมเนื้อเจียมตัว การวางกลยุทธ์ต้องวางว่าเป้าหมายเป็นอย่างไรมีเหตุมีผล และต้องรู้ว่าการเดืนแต่ละก้าวนั้น สร้างผลกระทบทางบวกทั้งลบ ต่อโลกขนาดไหน”
ส่วนการมีภูมิคุ้มกัน ถือเป็นหลักการบริหารความเสี่ยง การทำธุรกิจ เพราะต้องยอมรับมันมีโอกาสล่มสลาย หรือ ล้มเหลว หากไม่มีอะไรที่เป็นภูมิคุ้มกันดูแลผู้เกี่ยวข้อง หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Engagement) จึงไม่เกิดผลกระทบ รวมถึงการต้องรู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ การมีคุณธรรม (good governance) พระองค์ไม่ได้สอนให้ล้าหลังใคร การบริหารจัดการ ต้องหาความสมดุล
“ถ้าชุมชนไม่รักคุณ ล้มขึ้นมาก็มีแต่คนซ้ำ ไม่มีใครลุกขึ้นมาช่วยเหลือ เพราะว่าทำธุรกิจไม่เคยโอบอุ้มใครไว้เลย”
การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความสมดุล ระหว่าง 3 P คือ People Planet Profit คือสิ่งที่เป็นความท้าทายในธุรกิจในยุคนี้ คือทำแล้วได้อะไร ในฐานะปัจเจกชน เป็นคนที่ไม่เป็นภาระของโลก ช่วยตนเองได้ ไม่ใช่รอคอยให้คนมาช่วย พอเราดูตัวเองได้ก็ดูแลคนอื่น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นทุกการเติบโตจะต้องโอบอุ้มคนอื่นไปด้วย Good Balance Better World เรามีศาสตร์พระราชาเป็นเครื่องมือไปสู่ความยั่งยืน และเป็นต้นแบบของโลกได้ โดยไม่แคร์ใคร