5 มิ.ย. “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ซีพีเอฟ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวทาง”รักษ์โลก”ยั่งยืน

5 มิ.ย. “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ซีพีเอฟ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวทาง”รักษ์โลก”ยั่งยืน


สหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day ซึ่งปีนี้ กำหนดแนวคิด “Only One Earth” is the campaign slogan, with the focus on “Living Sustainably in Harmony with Nature.” โลกใบนี้มีเพียงใบเดียว “วิถีชีวิตที่ยั่งยืน อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล”

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตอกย้ำองค์กรผู้นำแห่งนวัตกรรมอาหารด้วยเทคโนโลยีทันสมัย นำนวัตกรรมและระบบอัตโนมัติ ขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมดูแล ปกป้อง และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รับ”วันสิ่งแวดล้อมโลก” ( World Environment Day) มุ่งสร้างวิถีชีวิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีการผลิตอาหารเพื่อส่งออกทั่วโลก ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก ถึงเวลาที่ทุกคนต้องลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นต้นทางของการผลิตอาหารให้กับมนุษย์

“ซีพีเอฟ ประกาศเป้าหมาย CPF 2030 Sustainability in Action โดยในอีก 9 ปีจากนี้ เป็นระยะเวลาของการลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรยั่งยืน ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ” นายวุฒิชัย กล่าว

บริษัท ฯ มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อลดและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดกระบวนการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน นำนวัตกรรม เทคโนโลยี หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาปรับกระบวนการผลิต รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ตามหลัก 3 Rs คือ ลดการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำโดยไม่ผ่านการบำบัด (Reuse) การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านการบำบัดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ (Recycle)

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นร่วมปกป้องทะเลโลก โดยร่วมกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรและชุมชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมเพื่อดูแลสมดุลระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล อาทิ โครงการกับดักขยะทะเล (Trap The Sea Trash Project) นำร่องความร่วมมือกับ ชุมชนต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เก็บขยะในคลองไมให้ไหลออกสู่ทะเล และคัดแยกขยะ โครงการรณรงค์ให้ชาวประมงลดการทิ้งขยะลงสู่ทะเล โครงการเก็บขยะชายหาด ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานประกอบการของสายธุรกิจสัตว์น้ำซีพีเอฟ และกิจกรรมการจัดการขยะชายฝั่งและในทะเล ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อยอดโครงการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (FLEC)

นายวุฒิชัย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึง การแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ มีการวิจัยและพัฒนาการออกแบบ การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เพื่อลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน 99.9 % ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุอาหารของซีพีเอฟ สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำมาใช้ใหม่ หรือสามารถย่อยสลายได้ ขณะเดียวกัน ได้กำหนดนโยบายการจัดการสูญเสียอาหาร อาหารส่วนเกิน และขยะอาหาร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในด้านของการดูแลสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟ ประกาศเป้าหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2573 ครอบคลุมกิจการซีพีเอฟ รวมถึงคู่ค้าซึ่งจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้แก่ซีพีเอฟ ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และ มันสำปะหลัง และการดำเนินโครงการเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำรวมถึงการสร้างแหล่งอาหาร ปรับปรุงสถานที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ป่าที่คืนกลับมายังป่าที่สมบูรณ์ การฟื้นฟูป่าชายเลน ปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ อาทิ ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม ในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี ไปแล้ว 6,971 ไร่ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม ในโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน 2,388 ไร่ และมีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมอีก 1,870 ไร่ ในปี 2562 – 2566 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และตราด

 

 

ซีพีเอฟ ยังได้สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรลงมือทำเพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดโครงการต่างๆ อาทิ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั่วประเทศ กิจกรรมโครงการกล้าจากป่า พนาในเมือง ส่งเสริมพนักงานปลูกต้นไม้ที่บ้าน กิจกรรมโครงการ “กินเกลี้ยง เลี้ยงโลก” สร้างพฤติกรรมการบริโภคอย่างรู้คุณค่า ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะอาหาร ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากพนักงานเป็นอย่างดี.