ดอกคำฝอย สามารถนำมาต้มเป็นชาดอกคำฝอย สรรพคุณ ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตันเส้นเลือด ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนของโลหิตตามร่างกาย แต่มีข้อพึงระวังคือ หากทานดอกคำฝอยมากเกินไป หรือติดต่อกันนานเกินไป อาจส่งผลให้มีอาการโลหิตจางได้ ซึ่งทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ หรืออาจทำให้โลหิตประจำเดือนมามากผิดปกติ
เมล็ดกระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด โดยนำเมล็ดกระเจี๊ยบตากแห้งมาบดให้เป็นผง จากนั้นนำมาชงกับน้ำร้อนหรือต้มน้ำดื่ม ช่วยลดไขมันในเลือด บำรุงเลือด ขับน้ำดี แก้ปัสสาวะขัด นอกจากนี้ กระเจี๊ยบเขียว เป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และคุณค่าทางโภชนาการสูงลิบ อีกทั้งยังมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด เนื่องจากกระเจี๊ยบเขียวมีไฟเบอร์สูง โดยเฉพาะไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้สามารถช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลและน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายได้
เก๊กฮวยอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ละลายได้ดีในน้ำ ดังนั้นการดื่มน้ำเก็กฮวยนอกจากจะสดชื่น ช่วยดับกระหายแล้ว ยังได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง และช่วยชะลอวัย ทำให้ผิวพรรณสดใสอีกด้วย นอกจากนี้เก็กฮวยยังมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการขับสารพิษในร่างกาย และยังเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับลม ช่วยให้รู้สึกสดชื่น สบายท้อง อีกทั้งในเก็กฮวยยังมีสารโคลีน ที่ช่วยให้ร่างกายสร้างเลซิติน ที่ช่วยลดไขมัน ลดคอเลสเตอรอลได้ การดื่มน้ำเก็กฮวยที่ไม่ใส่น้ำตาลมากไปจึงไม่ทำให้อ้วน แต่ช่วยเผาผลาญไขมันได้ดี
ขิง มีความสามารถในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่2 แต่ก็ควรบริโภคตามคำแนะนำของคุณหมอด้วยเช่นกัน เพื่อที่คุณหมอสามารถให้คำแนะนำในเรื่องของการทานขิงร่วมกับยา เนื่องจากขิงอาจไปทำปฏิกิริยากับยาที่ผู้ป่วยทานอยู่ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องติดตามผลของระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด หากทานขิงเข้าไปมากจนเกินไปก็จะทำให้ระดับอินซูลินลดลงไปมากด้วย และนั่นอาจทำให้ร่างกายอยู่ในขีดอันตรายได้
ตะไคร้ ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นค่ะ เพราะมีการศึกษาหนึ่งพบว่าการดื่มชาตะไคร้จะช่วยในการย่อย ลดอาการปวดท้อง แก้หวัด ลดอาการตะคริวในลำไส้ และท้องเสียได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันและลดแก๊สในลำไส้ได้อีกด้วย
ทางด้านนายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา ในฐานะรองโฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การบริโภคอาหารควรยึดหลักดังนี้
1.ไม่รับประทานอาหารอิ่มจนเกินไป เพราะจะทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานหนัก ควรรับประทานอาหารในแต่ละมื้อโดยยึดหลักที่ว่า มื้อเช้ารับประทานอาหารที่ดี มื้อกลางวันรับประทานแต่พออิ่ม มื้อเย็นรับประทานให้น้อย และควรดื่มชาหรือน้ำสมุนไพรที่ช่วยย่อยร่วมด้วย เช่น ชาดอกคำฝอย ชาเก็กฮวย ชากระเจี๊ยบ น้ำขิง น้ำตะไคร้ เป็นต้น
2. ควรควบคุมหรือจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารจำพวกถั่ว เช่น ถั่วดำ ถั่ววอลนัท เกาลัด แม้ว่าถั่วจะมีสรรพคุณช่วยบำรุงไตและช่วยขับถ่ายได้ดีแต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ประมาณ 25 กรัมต่อวัน
3. ควรรับประทานผักสด เต้าหู้ และรับประทานอาหารรสจืด หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะจะทำให้เกิดโรคได้
4. ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือถ้าจำเป็นต้องดื่มให้ดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนดี และควรดื่มชาที่กล่าวแล้วข้างต้นหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะชาจะช่วยขับปัสสาวะ ลดปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดได้