“นักเศรษฐศาสตร์คลุกฝุ่น” โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ

“นักเศรษฐศาสตร์คลุกฝุ่น” โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ

โฆษิตเป็นบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงทั้งในแวดวงเศรษฐกิจ การเมือง ที่หลายคนรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี  แต่ละบทบาทหน้าที่ตลอดชีวิตการทำงานต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ชีวิตของโฆษิตเริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมารับราชการจนได้รับตำแหน่งสูงสุด นั่นคือรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 

จากนั้นชีวิตก็มีเหตุต้องพลิกผัน เมื่อต้องไปเริ่มต้นชีวิตการเมืองด้วยการรับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปีพ.ศ. 2535 และรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของ นายอานันท์ ปันยารชุน และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกครั้งในรัฐบาลของนายอานันท์ พ.ศ. 2535

จากนั้นอีก 2 ปีต่อมาชีวิตต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อได้รับโอกาสให้เข้าไปรับตำแหน่งกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ แต่แล้วในปีถัดมาพ.ศ.2538 ต้องหวนกลับไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลของ นายบรรหาร ศิลปอาชา แทน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แทนนายทนง พิทยะ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2542 จึงกลับเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ

แต่จนแล้วจนรอดชีวิตของโฆษิตก็ต้องกลับเข้าสู่วังวนการเมืองอีกครั้ง ในรัฐบาล “ขิงแก่” พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับแต่งตั้งให้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แทนนายสิทธิชัย โภไคยอุดม ซึ่งลาออกจากตำแหน่งจากกรณีการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ครั้งหนึ่งในชีวิตของโฆสิตยังเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2539 อีกด้วย 

ดังที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ชีวิตของโฆษิตนั้นโลดโผนสลับกันเข้าออกระหว่างธุรกิจกับการเมืองมาตลอด แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการก้าวไปรั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารจัดการและวางแผนของธนาคารกรุงเทพอย่างเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2537 ที่ถูกมองว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง หลังจากครึ่งชีวิตที่ผ่านมาเคยเป็นข้าราชการชั้นสูงที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ และเทคโนแครต ด้วยประสบการณ์ที่สภาพัฒน์ในฐานะรองเลขาธิการฯ คีย์แมนคนสำคัญในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้บทบาทของโฆษิตทางด้านการพัฒนาชนบทเป็นที่โดดเด่นยิ่งนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในเวลาต่อมา 

นอกจากนี้โฆษิตยังมีบทบาทสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยแง่มุมทางความคิดในฐานะกูรูด้านเศรษฐกิจที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงรัฐบาล ล้วนแล้วมีประเด็นและมุมมองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เช่นกรณีของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้น่าสนใจยิ่ง “หากอ่านพระราชดำรัสอย่างชัดเจนแล้วจะเห็นถึงเรื่องการต้องก้าวทันโลก โลกาภิวัตน์และการรองรับความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก ตระหนักว่าข้างนอกเปลี่ยนเราต้องปรับ ถ้าเราไม่ปรับจะไม่มีภูมิคุ้มกัน สังคมก็จะมีปัญหา การก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าเราไม่ทัน เราก็โดนทิ้ง และเช่นกัน การที่ต้องการให้ทัน ต้องใช้ความรู้ และคุณธรรม ตาเราเปิดเต็มที่ ดูว่าข้างนอกเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อก้าวให้ทัน” 

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2506 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการคลัง (เกียรตินิยม) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2508 จบปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และได้รับการอบรมหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2531 ด้วย