“บิ๊กตู่” สั่งเร่งเครื่อง 4 นโยบายพลังงาน เซฟชาติกระตุ้นฐานราก

“บิ๊กตู่” สั่งเร่งเครื่อง 4 นโยบายพลังงาน เซฟชาติกระตุ้นฐานราก


“บิ๊กตู่” เดินเครื่องพลังงาน แจง 4 นโยบายกระตุ้นให้พลังงานช่วยเศรษฐกิจฐานราก

วันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมรับฟังความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายต่างๆ และมอบนโยบายให้ทุกส่วนราชการที่เข้าร่วมกว่า 40 หน่วยงาน ร่วมมือทำงานในช่วงวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ในส่วนกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้นำเสนอความคืบหน้า
การขับเคลื่อนนโยบายพลังงานที่สำคัญ 4 ด้าน คือ

 

1.ด้านไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชุมชนเตรียมประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อในเดือนมีนาคมนี้ โดยตั้งเป้ารับซื้อไฟรวม 700 เมกะวัตต์ คาดเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 6 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ให้กองทุนหมู่บ้านทุกปี พร้อมช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาวัสดุเกษตร 2.5 หมื่นตัน ซึ่งขณะนี้มีโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องที่ยื่นขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนได้ทันที อาทิ โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่อ.บันนังสตา จ.ยะลา และที่อ.เมือง จ.นราธิวาส

2.ด้านน้ำมัน ส่งเสริมใช้น้ำมัน B10 และการบริหารสต็อคน้ำมันปาล์มที่ใช้ในภาคพลังงาน โดยผลักดันให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ 1 ธ.ค 62 สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา B10 เริ่มมีจำหน่ายทุกสถานีน้ำมันแล้ว โดยเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลให้กับปาล์มน้ำมัน ซึ่งภายหลังจากประกาศนโยบายทำให้ปัจจุบัน (เฉลี่ย 1-5 มี.ค.63) ราคาปาล์มทะลายอยู่ที่ 5.30 บาท/กก.จากเดิมก่อนกำหนดนโยบายอยู่ที่ประมาณ 2.80 บาท/กก. และราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) อยู่ที่ 33.50 บาท/กก.จากเดิม 16.20 บาท/กก. พร้อมทั้งวางมาตรการดูแลบริหารจัดการสต็อคไบโอดีเซลอย่างครบวงจร และยังป้องกันการลักลอบน้ำมันปาล์มดิบเข้ามาในประเทศอย่างได้ผลด้วยการใช้เทคนิคตรวจ DNA ของสัญชาติน้ำมันปาล์มดิบ

3.ก๊าซธรรมชาติ ความคืบหน้าการพัฒนา LNG Hub ได้วางโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อเตรียมสู่การเป็นศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติเหลวของเอเชีย โดยตั้งเป้าไว้ปี 2569 จะพัฒนา LNG Terminal และท่อส่งก๊าซ (โรงไฟฟ้าขนอมและสุราษฎร์ธานี) แล้วเสร็จ ปี 2571 พัฒนา LNG Terminal (โรงไฟฟ้าจะนะ) แล้วเสร็จ และในปี 2572 พัฒนาท่อส่งก๊าซ (โคราช-โรงไฟฟ้าภาคอีสาน) แล้วเสร็จ ซึ่งจะสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มา ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เกิดประโยชน์ทางธุรกิจและเกิดการจ้างงาน

4.ภัยแล้ง ได้เตรียมวางแผนร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการบริหารให้เกิดความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าโดยไม่กระทบต่อน้ำกินและใช้ในช่วงภัยแล้ง พร้อมกับพัฒนาระบบ Geographical Information System เพื่อติดตามจุดติดตั้งระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ทั่วประเทศเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยตัดสินใจเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2563 ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2,003 บ่อ คาดว่าจะแล้วเสร็จอีก 662 บ่อ

ข่าวที่น่าสนใจ