พร้อมแล้ว “รถบัสไฟฟ้า EV BUS” จากฝีมือคนไทย ลดฝุ่นเซฟ-พลังงาน

พร้อมแล้ว “รถบัสไฟฟ้า EV BUS” จากฝีมือคนไทย ลดฝุ่นเซฟ-พลังงาน


“ไทยยานยนต์ไฟฟ้า” พร้อมที่จะทำการตลาดรถบัสไฟฟ้า (EV BUS)แล้ว หลังจากทดสอบและเก็บข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา หนุนด้วยปัจจัยแวดล้อมทั้งฝุ่น pm2.5 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ทำให้ราคาถูกลง ระยะใช้งานนานขึ้น

สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จัดงานเสวนาภายใต้ชื่องาน “โอกาสของ EV BUS ประเทศไทย” พร้อมจัดการแถลงข่าว “การพัฒนารถบัสไฟฟ้า EV BUS ฝีมือคนไทย”

 

นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการ สป.อว. กล่าวว่า โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ได้รับความร่วมมืออันดีกับกลุ่มผู้ประกอบการในเครือข่ายของสมาคมเครื่องจักรกลไทย ในการนำเอาผลงานจากโครงการไปขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ หนึ่งในผลงานจากสมาคมเครื่องจักรกลไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ สามารถดำเนินการสำเร็จ ส่งมอบเป็นผลงานที่พร้อมใช้งานและมีศักยภาพในการขยายผล และจะนำเสนอต่อทุกท่านในวันนี้คือ รถบัสไฟฟ้า ที่พัฒนาขึ้นด้วยความสามารถของสมาคมเครื่องจักรกลไทย บริษัท ไทยเซ็นทรัลเมคคานิคส์ จำกัด และบริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด ซึ่งการดำเนินงานโครงการฯ เริ่มต้นศึกษาจากรถบัสไฟฟ้าต้นแบบของ TEV ที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการทำข้อตกลงความร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและประกอบรถบัสไฟฟ้าแบบโครงสร้าง Monocoque จากต่างประเทศ

 

ด้านนายสมบูรณ์ ทิพยรังสฤษฏ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยเซ็นทรัลเมคคานิคส์ และ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด (THAI ELECTRIC VEHICLE CO.,LTD. – TEV) ได้ผลิตรถบัสไฟฟ้ารองรับความต้องการภายในประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการไทย ประชาชนไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

รถบัสไฟฟ้าแบบโครงสร้าง Monocoque ออกแบบวางแบตเตอรี่ไว้บนหลังคารถนี้ นอกจากไม่ก่อฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศแล้ว ยังเป็นยานพาหนะคุณภาพที่มีสมรรถนะสามารถนำมาใช้ในการขนส่งในชั่วโมงเร่งด่วนได้ดีสามารถผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังรอระบายได้ดี เหมาะสมใช้กับพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมมากกว่ารถที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหลายที่ออกแบบวางแบตเตอร์รี่ไว้ใต้ล่างและท้ายรถ ซึ่งเสี่ยงต่อน้ำท่วมถึงหรือกระเซ็นเข้าถึง ด้วยผู้ผลิตต่างประเทศไม่เคยตระหนักและคำนึงถึงปัญหาประเด็นนี้ เพราะล้วนแต่อยู่ในเขตหนาวเย็นจึงไม่พบเจอกับปัญหาเช่นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น

นอกจากนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถทำการผลิตแบบ Mass Product ที่สอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ประกอบการไทย ด้วยต้นทุนการผลิตจริงที่สามารถจะเสนอราคาขายได้ในราคาที่ต่ำลง สามารถแข่งขันราคากับคู่แข่งต่างประเทศได้ง่ายเมื่อสามารถผลิตออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในประเทศ นอกจากช่วยลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยให้เกิดธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่องในประเทศได้ไวขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

นายจิรศักดิ์ เยาววัชสกลุ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ในมุมมองของบขส. มอง 3 เรื่องคือ เรื่องของตลาด ความพร้อม และโอกาสการใช้รถบัสไฟฟ้า ซึ่งในเรื่องของตลาดภายในบขส. ซึ่งมีรถบขส.และรถร่วมบริการจำนวนกว่า 5,000 คัน ยังไม่นับรวมรถตู้ซึ่งต่อไปจะต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสอีกประมาณ 5,000 คัน ซึ่งสามารถที่จะเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าได้ ส่วนเรื่องความพร้อมต้องอยู่ที่โรงงานประกอบรถ ผู้ประกอบการสามารถทำรถไฟฟ้าที่กี่กิโลเมตรต่อการชาร์ต 1 ครั้ง ไม่ว่าจะชาร์ตปกติหรือชาร์ตเร็วก็ตาม

ขณะที่ส่วนของโอกาส ก็มีโอกาสที่จะใช้เนื่องจากเหตุผลของพีเอ็ม2.5 รวมถึงต้นทุนการเดินรถ ถ้าเป็นรถที่ใช้น้ำมันตกกิโลเมตรละ 4-5 บาท ลิตรละ 30 บาท และถ้าใช้รถไฟฟ้าต้นทุนจะเหลือเพียง 1ใน 3 เท่านั้น นอกจากนี้การใช้รถที่ใช้น้ำมันจะต้องสิ้นเปลืองไปกับน้ำมันหล่อลื่น การสึกหรอของสิ้นส่วนต่างๆ และถ้าเป็นรถไฟฟ้าจะน้อยกว่า ดังนั้น ถ้ามองในเรื่องของการประหยัด

นายวรากร กติกาวงศ์ กรรมการบริหาร บจก.ไทยยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า เรามองกลุ่มเป้าหมายไปที่องค์กรขนาดใหญ่ที่มีความต้องการในการใช้รถบัส โดยการส่งทีมการตลาดเข้าไปนำเสนอ และทดลองใช้ โดยมีแผนให้ซื้อและให้เช่าไปพร้อมกัน ที่สำคัญปัจจุบันธนาคารต่างๆเริ่มปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากรถบัสไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูงเกือบ 10 ล้านบาท เราก็สามารถปล่อยให้เช่ารถได้ ลูกค้าก็คลายกังวล เราก็ขายไปพร้อมกับบริการหลังการขาย

เราค่อนข้างมั่นใจว่าปีหน้า จะเริ่มเห็นรถบัสไฟฟ้าออกใช้งานบนถนน และที่สำคัญ เรื่องแบตเตอรี่ เพราะแบตเป็นพลังงานหลักในตัวรถ และประเทศไทยยังผลิตเองไม่ได้ในวันนี้ เราจึงต้องนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ซึ่งถ้าวิ่งระยะทางไกลตัวแบตก็จะมีราคาที่แพงขึ้น คือ ต้องซื้อความจุของแบตเตอร์รี่เพิ่มขึ้นนั้นเอง รวมถึง เรามีแผนงานที่จะพัฒนาแบตเตอร์รี่ขึ้นใช้เองในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

 

ข่าวที่น่าสนใจ