“สนธิรัตน์” ถก คณะกรรมการปฏิรูปฯ ปลดล็อกอุปสรรคด้านพลังงาน

“สนธิรัตน์” ถก คณะกรรมการปฏิรูปฯ ปลดล็อกอุปสรรคด้านพลังงาน


ปชช.ต้องเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น! “สนธิรัตน์” ประชุมหารือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เห็นสอดคล้อง ผลักดันปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรับมือยุคเปลี่ยนผ่าน พร้อมเป็นเจ้าภาพหลักดึงหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมปลดล็อกทุกอุปสรรคด้านพลังงาน

วันนี้ (13 ก.ย.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ผู้บริหารกระทรวงพลังงานได้ร่วมประชุมหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ซึ่งนำโดย ดร.พรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปฯ โดยภาพรวมเป็นทิศทางที่เห็นตรงกันในการปฏิรูปพลังงานด้านต่างๆ ซึ่งในหลักการกระทรวงพลังงานพร้อมจะทำงานร่วมกันกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ เพื่อนำไปสู่การวางวิสัยทัศน์พลังงานของประเทศได้ถูกต้อง และทันต่อการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างกิจการพลังงานที่ปัจจุบันเป็นการวางโครงสร้างแบบเดิมที่เน้นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น จึงต้องเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันเพื่อรับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงได้มากขึ้น

“ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเป็นประโยชน์มาก กระทรวงพลังงานรับจะเป็นเจ้าภาพหลักในการร่วมทำงานกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ เพื่อช่วยกันคิดแนวทางและลงลึกในรายละเอียดประเด็นต่างๆ เพื่อนำสู่ในทางปฏิบัติต่อไป” นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับสาระสำคัญ 6 ด้านที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปดังนี้

1.ด้านบริหารจัดการ เสนอให้ปฏิรูปองค์กรตั้ง OSS หรือหน่วย One Stop Service มีศูนย์กลางขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าจุดเดียว การพัฒนาศูนย์สารสนเทศด้านพลังงานแห่งชาติ โดยตั้งเป็นองค์กรอิสระเพื่อรวบรวมข้อมูลพลังงานที่ถูกต้อง สร้างความน่าเชื่อถือให้กับภาคประชาชน รวมถึงการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเพราะที่ผ่านมาการวางแผนมาจากหน่วยงานรัฐเป็นหลัก ซึ่งแนวนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงฯ ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของรัฐบาลที่ดี และจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในการสร้างโรงไฟฟ้าตามพื้นที่ต่างๆ ได้

2.ด้านไฟฟ้า เสนอบูรณาการการดำเนินงานและการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าร่วมกันภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนด้านการลงทุนอันจะเป็นต้นทุนกระทบมายังผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งเรื่องนี้ได้มีความคืบหน้ากระทรวงพลังงานตั้งคณะทำงานและเริ่มหารือเรื่องระบบสายส่ง Grid Modernization รวมถึงการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าร่วมกันแล้ว

3.ด้านปิโตรเลียม/ปิโตรเคมี เสนอนโยบายส่งเสริมการเปิดการแข่งขันเสรีกิจการก๊าซเพื่อสร้างโอกาสไทยเป็นฮับในภูมิภาค พร้อมทั้งสนับสนุนการทดลองดำเนินงานภายใต้ Sandbox

4.ด้านพลังงานทดแทน เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมบูรณาการระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในการปฏิรูประบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

5.ด้านอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เสนอผลักดันร่างกฎกระทรวงเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code : BEC) ให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ทันภายในปี 2562

6.ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เสนอตั้งคณะกรรมการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกำหนดเป้าหมายให้เป็นระบบ บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าด้วยกันทั้งกระทรวงคมนาคม อุตสาหกรรม คลัง และพลังงาน รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
หนุน “โรงไฟฟ้าชุมชน” เข้าระบบ พร้อมดัน B10 เป็นดีเซลพื้นฐานเริ่ม 1 ม.ค.63