ยุทธศาสตร์รอบด้าน เชื่อมโยงไร้รอยต่อ ออสเตรเลีย-อาเซียน กระชับสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด วาระสีเขียวผลักดันความยั่งยืน

ยุทธศาสตร์รอบด้าน เชื่อมโยงไร้รอยต่อ ออสเตรเลีย-อาเซียน กระชับสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด วาระสีเขียวผลักดันความยั่งยืน


นายกฯ ร่วมประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย กระชับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน ผลักดันวาระสีเขียว เสริมศักยภาพด้านพลังงานสะอาด-แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

 

นายกฯ ร่วมประชมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย แลกเปลี่ยนความเห็น ความท้าทายที่สำคัญ ความจำเป็น3 ด้าน ที่ต้องส่งเสริมสันติภาพ-เสถียรภาพ-ความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ รวมถึงร่วมกันจัดการกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อมั่นความร่วมมือจะทำให้สำเร็จตามยุทธศาสตร์ร่วมกัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมหารือแนวทางผลักดันความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียให้เป็นรูปธรรม โดยไทยได้ผลักดันเรื่องความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ (Seamless Connectivity) โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน โครงการ Landbridge การเชื่อมโยงด้านท่าเรือ ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

รวมถึงผลักดันวาระสีเขียว ได้แก่ การลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านสีเขียว แก้ไขปัญหาหมอกควัน PM2.5 การสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีสีเขียว การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด และเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำอาเซียน และนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะของผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย (Leaders’ Plenary) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ณ Melbourne Convention and Exhibition Centre นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ภายใต้หัวข้อ “ASEAN-Australia Cooperation under ASEAN’s Three Community Pillars”

โดยนายกรัฐมนตรีและผู้นำอาเซียนและออสเตรเลีย ต่างยินดีที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย โดยออสเตรเลียนับเป็นประเทศแรกที่ได้รับสถานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้น จนนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) พร้อมเสนอให้ที่ประชุมฯ ใช้โอกาสที่สถานการณ์โลกปัจจุบันได้แบ่งเป็นหลายขั้ว กระชับความร่วมมือทั้งภายในภูมิภาคและระดับโลก เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนและออสเตรเลีย ผ่านการผลักดันความร่วมมือ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ระบุ 2 ประเด็นเร่งด่วน ที่จะทำให้เกิดสันติสุข และความมั่นคง

ประการแรก การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ (Seamless Connectivity) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนและออสเตรเลียได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพอย่างเต็มที่ ผ่านการสนับสนุนความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ดังนี้

1) ความเชื่อมโยงการค้าและด้านการลงทุน ส่งเสริมมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน ผ่านการเชื่อมโยงตลาดการค้าและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งกรอบ RCEP และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area: AANZFTA)

2) ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ โดยเสนอให้ออสเตรเลียซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบการจัดการท่าเรือ กระชับความร่วมมือกับอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาเอกสารแนวทางสำหรับท่าเรืออัจฉริยะ (Guidelines on Smart Ports) รวมทั้งเชิญชวนออสเตรเลียเข้ามาร่วมลงทุนใน โครงการ Landbridge EEC ระบบขนส่งทางราง และสนามบินด้วย

3) ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ผ่านการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังพัฒนากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ที่ถือเป็น กรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับแรกของโลก และคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนได้ 2 เท่า เป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และหวังออสเตรเลียจะใช้ข้อริเริ่มออสเตรเลียสำหรับอาเซียน (Aus4ASEAN) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของอาเซียนในอนาคตด้วย

4) ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ด้วย Soft power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ต้องการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างกันของประชาชน ซึ่งไทยหวังว่าทุนจากออสเตรเลียที่มอบให้นักเรียนในอาเซียน และการจัดตั้งศูนย์ ASEAN – Australia จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และการอบรมเพิ่มพูนทักษะ ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น และหวังออสเตรเลียอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับประเทศในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการดำเนินธุรกิจระหว่างกันให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ประการที่สอง การส่งเสริมวาระสีเขียวในภูมิภาค โดยสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งออสเตรเลียสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับอาเซียน ในการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน การเงินสีเขียวผ่านพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหวังว่าออสเตรเลียจะร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการจัดการคาร์บอน และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อรองรับยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (The ASEAN Strategy for Carbon Neutrality)

โดยในช่วงการเยือนออสเตรเลียครั้งนี้ นายกฯได้มีการหารือกับภาคเอกชนนำเทคโนโลยีใหม่และ Green Hydrogen มาลงทุนเสริมศักยภาพด้านพลังงานสะอาดไทย
และได้หารือกับ แอนดรูว์ ฟอเรสต์ Dr. Andrew Forrest AO, Executive Chairman and Founder ผู้บริหาร Fortescue ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทถลุงสินแร่เหล็ก (Iron Ore) อันดับ 4 โลก มีกำลังการผลิต 192 ล้านตันต่อปี ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำและแบตเตอรี่ EV

ซึ่งแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอร์รี่ไฮโดรเจนและไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย พร้อมกล่าวชื่นชมนโยบายการผลิตพลังงานสีเขียวและเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 ของไทยด้วย

ในส่วนของวิสัยทัศน์ต่อภูมิภาค ประเด็นสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และ แนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในการรับมือกับปัญหาท้าทายร่วมกัน (Vision for the Region, Strategic Issues and How ASEAN and Australia Can Work Together to Address Shared Challenges)

นายกฯ กล่าวว่า ต้องส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ และร่วมกันจัดการกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อมั่นความร่วมมือจะทำให้สำเร็จตามยุทธศาสตร์ร่วมกัน

ความท้าทายเร่งด่วน คือปัญหา PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action: CLEAR Sky) ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งหวังว่าจะได้ร่วมมือออสเตรเลียในด้านนี้

ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องร่วมมือเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องพยายามมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำ และเป็นศูนย์กลางของรถยนต์ไฟฟ้า ไทยได้เพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 50% ภายในปี 2040 รวมทั้งออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน โดยได้ระดมทุนไปแล้ว 12.5 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด และ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ