กกต.แจงกรณีกรรมการประจำหน่วยเขียนรหัสจังหวัด หรือเขตเลือกตั้งผิดพลาด จะมีการตรวจสอบต้นขั้วที่ใช้ไปกับจำนวนบัตรที่ออกเสียงตรงกันหรือไม่ และกรรมการประจำหน่วยจะทำบัญชี เมื่อไปรษณีย์ได้รับถุงบัตรแล้ว ก็จะทำการตรวจเบื้องต้น เมื่อคัดแยกเสร็จ ก็จะดูว่าจำนวนซองที่คัดแยกกับยอดต้นขั้วตรงกันหรือไม่ ดังนั้นยอดจะกระทบกันโดยอัตโนมัติ
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวานนี้ (7 พ.ค.) คิดเป็น 91.83% ของจำนวนผู้ที่ยื่นลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ ซึ่งต้องขอบคุณผู้มาใช้สิทธิที่มาด้วยแรงศรัทธาประชาธิปไตย สำนักงาน กกต.สัญญาว่าจะรักษาทุกเสียงที่ประชาชนได้ลงคะแนนไว้
ส่วนการทำงานของกรรมการ และอนุกรรมการประจำเขต อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง แต่ต้องขอบคุณที่อดทนทั้งต่อสภาพอากาศและแรงเสียดทานทางการเมือง ทำงานรวมกว่า 16 ชั่วโมง รวมถึงประชาชนที่ร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กปน. และ กกต. ซึ่งมีทั้งเรื่องจริง เรื่องเท็จ แต่สั่งให้ ผอ.ทุกจังหวัดรายงานเข้ามาทุกเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร เป็นเรื่องดี ที่สิ่งที่เราทำอยู่นั้นอยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ
สำหรับวันเลือกตั้งที่ 14 พ.ค.66 กกต. จะไม่ให้มีสิ่งผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นอีก โดยคาดว่าการเลือกตั้งในวันดังกล่าว การบริหารจัดการจะง่ายกว่านี้ เพราะไม่ต้องส่งไปรษณีย์ และบุคลากรที่จะทำงานมีมากกว่านี้ การลงคะแนนตรงตามหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ประชาชนจะไม่สับสนเรื่องหีบบัตร แต่คิดว่าเรื่องหีบไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือปัญหาการจ่าหน้าซองเอกสาร ยืนยันว่าเรามีกระบวนการตรวจสอบ ขอให้ผู้ใช้สิทธิมั่นใจว่าซองบรรจุบัตรเลือกตั้ง จะถูกส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งของผู้ใช้มีสิทธิได้อย่างถูกต้อง
ส่วนกระบวนการตรวจสอบคัดแยกบัตร กรณีกรรมการประจำหน่วยเขียนรหัสจังหวัด หรือเขตเลือกตั้งผิดพลาดนั้น หลังปิดหีบจะมีการตรวจสอบว่าต้นขั้วที่ใช้ไปกับจำนวนบัตรที่ออกเสียงตรงกันหรือไม่ และกรรมการประจำหน่วยจะทำบัญชีมา เมื่อไปรษณีย์ได้รับถุงบัตรมาแล้ว ก็จะทำการตรวจเบื้องต้น เมื่อคัดแยกเสร็จ ก็จะดูว่าจำนวนซองที่คัดแยกกับยอดต้นขั้วตรงกันหรือไม่ ดังนั้นยอดจะกระทบกันโดยอัตโนมัติ
“ถ้ามีการจ่าหน้าซองถูกต้องทั้ง 3 จุด ก็จะถูกแยกออกไปเลย แต่ถ้ามีปัญหา กรอกครบ แต่เขียนเขตหรือรหัสเลือกตั้งผิด จะยึดรหัสเขตเลือกตั้ง 3 ตัวท้าย ซึ่งอยู่ด้านล่างของซองเป็นหลัก ส่วนถ้ากรอกไม่ครบ หรือไม่มีรายละเอียดใดๆ คือไม่มีการกรอกอะไรเลย ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมี แต่ถ้ามีกรณีนี้ จะถูกส่งมาให้คณะกรรมการที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. และไปรษณีย์วินิจฉัยว่าซองนี้จะไปลงเขตใด ซึ่งจะต้องไปสอบทานกับต้นขั้วก่อน ยอมรับว่าอาจจะยุ่งยากพอสมควร” นายแสวง กล่าว
กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ส่วนใหญ่พบว่ามีการกรอกรหัส 3 ตัวท้ายผิดนั้น นายแสวง กล่าวว่า เรื่องการระบุเขตเลือกตั้ง คิดว่าประชาชนทราบ แต่รหัสเขต 3 ตัวท้าย ไม่รู้ว่าประชาชนเข้าใจหรือเปล่า อาจจะเข้าใจว่า กปน.ต้องกรอกรหัสไปรษณีย์ที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของ กปน. แต่การที่เราออกแบบการจ่าหน้าซองให้เขียนถึง 3 ชั้น เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาก็จะสามารถตรวจสอบได้ และสามารถส่งบัตรเลือกตั้งนั้นไปยังหน่วยเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิ ดังนั้น แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตการทำงานของกปน. แต่ยืนยันว่าบัตรทุกใบจะไม่เป็นบัตรเสีย ทุกคะแนนเสียงจะไม่ตกน้ำ
ส่วนกรณีที่มีการติดแฮชแท็ก กกต.มีไว้ทำไม หลังพบความผิดพลาดหลายอย่างในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า นายแสวง กล่าวว่า เป็นความรู้สึกของประชาชนที่มองเราแบบนั้น ซึ่งเราก็รับรู้ แต่ไม่สามารถไปคาดคะเนได้ว่าจะนำไปสู่การฟ้องร้องให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือไม่ แต่สั่งให้ ผอ.จังหวัดทุกจังหวัดรายงานทุกเหตุการณ์ ทั้งการติดเอกสารผิด เอกสารผิด
ทั้งนี้ คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สามารถเดินหน้าการเลือกตั้งต่อไปได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าเรื่องนี้ประชาชนมีความกังวล จึงจะประสานกับไปรษณีย์ และมีความคืบหน้าอะไรก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ด้าน นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย กล่าวถึงการจัดส่งบัตรเลือกตั้งที่ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรลงคะแนนผู้พิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า ในส่วนของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรได้ทยอยส่งเข้ามากว่า 60,000 ใบ หรือประมาณ 67% จาก 45 ประเทศ จากจำนวนทั้งหมด 67 ประเทศ โดยมีคณะกรรมการ 3 ฝ่ายคือ กรมการกงสุล, สำนักงาน กกต. และ ไปรษณีย์ไทย ร่วมกันตรวจคัดแยก
ส่วนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศเมื่อวานนี้ (7 พ.ค.) ได้ขนส่งมายังศูนย์คัดแยกเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทำการคัดแยกตรวจนับโดยคณะกรรมการประกอบด้วย กกต. และไปรษณีย์ ยังไม่ถึงการคัดกรองที่มีเรื่องของการจ่าหน้าซองบัตร โดยกระบวนการคัดแยกตรวจสอบจะดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 7-9 พ.ค. หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 10 พ.ค.นี้ และเริ่มส่งไปยัง 400 เขต คาดว่าจะถึงภูมิลำเนาของผู้ใช้สิทธิภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้
สำหรับการดำเนินการในศูนย์คัดแยก จะมีวอร์รูมคอยมอนิเตอร์ดูการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ กกต.มาร่วมทำงานด้วย โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าพื้นที่ต้องลงทะเบียน ยืนยันตัวตน ห้ามนำอุปกรณ์โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเข้าไป และเมื่อออกจากศูนย์จะต้องถูกตรวจค้นก่อน ส่วนขั้นตอนการตรวจนับ และคักแยกบัตรเลือกตั้ง จะตรวจรหัสซ้ำ 3 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่าบัตรลงคะแนนจะถูกส่งตรงตามที่ผู้ลงคะแนน.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ชาวจีนแห่หาบ้านในไทยเพื่อชดเชยความเสี่ยงหลังการระบาดใหญ่
https://www.thaiquote.org/content/250169
สรรพากรยืนยันยังไม่มีการจัดเก็บภาษีการเดินทาง เป็นการสำรวจความคิดเห็นตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
https://www.thaiquote.org/content/250173
‘ผลิต-ไฟฟ้าลาว’ หรือ EDL-Gen ออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 1,588.6 ล้านบาท
https://www.thaiquote.org/content/250167