อนาคตภาคเกษตรไทยอยู่ในมือของเกษตรกรรุ่นใหม่ คูโบต้า จับมือกรมส่งเสริมการเกษตร ผลักดัน Smart Farmer หนุนใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้มั่นคง ยั่งยืน
แม้ว่าอาชีพเกษตรกรรม จะเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อประชาชนคนไทยในฐานะเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” แต่ ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีเพียงแต่คนรุ่นเก่าที่เป็นปู่ย่า ตายาย หรือพ่อแม่เท่านั้นที่กำลังประกอบอาชีพนี้ แม้ว่าองค์กรต่าง ๆ จะสนับสนุนผลักดันให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ก็ตาม แต่สัดส่วนยังคงน้อย เมื่อดูภาพรวมทั้งประเทศ สำนักเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรประมาณ 7.7 ล้านครัวเรือน และมีจำนวนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียน 8.8 ล้านราย
แรงงานภาคเกษตรอายุเฉลี่ย 59 ปี
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมภาคเกษตรไทยว่า ประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรโดยรวมประมาณ 7-8 ล้านครัวเรือน เป็นเกษตรกรทำนากว่า 4.3 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่แรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรจะมีอายุเฉลี่ยที่ 59 ปี นั่นหมายความว่า คนกลุ่มนี้สร้างรายได้จากการเกษตรมากว่า 1.5 ล้านล้านบาท จากพืชสวน พืชไร่ คิดเป็น 8% ของ GDP ประเทศ
โลกเปลี่ยนเกษตรกรปรับตัวได้อย่างไร?
นายพีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ณ วันนี้โลกกำลังพูดถึงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ทรัพยากร และกำลังตั้งคำถามต่อสินค้าต่าง ๆ ว่ามีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ แปลว่าสินค้าเกษตรประเทศไทยก็ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้เช่นกัน และการที่จะตอบคำถามนี้ได้ จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะเทคโนโลยี จะทำให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น
ยกตัวอย่าง เมื่ออุณหภูมิโลกเปลี่ยนไป พี่น้องเกษตรกร จะทราบถึงการเคลื่อนตัวของผลผลิตว่า ค่อนข้างช้ากว่าปกติ หรือในกลุ่มผู้ปลูกข้าวก็จะเห็นโรคแมลงที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนแต่พบเจอมากขึ้น
“ทั้งนี้ หากมีเทคโนโลยีที่สามารถรู้อนาคตได้ เกษตรกรจะสามารถปรับ หรือควบคุมสภาพแวดล้อมในแปลง ในไร่ ของตนเองได้ เมื่อควบคุมได้ความเสียหายจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ความเสียหายจากความชื้น จากโรคแมลง โรคอุบัติใหม่ ก็จะลดน้อยลง ส่งผลต่อรายได้พี่น้องเกษตรกรที่ยังคงอยู่”
นายพีรพันธ์ กล่าวอีกว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ภาคเกษตรต้องปรับตัวเพื่อให้การทำไร่ทำสวน หรือทำนา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง เช่น ระบบการปลูกข้าว แบบนาเปียกสลับแห้ง
การใช้สายพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคและสภาพอากาศได้ การใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบน้ำต่าง ๆ
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีจึงสำคัญและจำเป็นในยุคนี้อย่างมาก เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์จะเปลี่ยนไป ควรจะให้น้ำตอนไหน เพราะในแต่ละวันอุณหภูมิเปลี่ยน 3-4 รอบต่อวัน เพราะถ้าไม่เข้าใจ จะเผชิญเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างยากลำบาก
และสุดท้ายสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม คือการเงิน การเกษตรจะมีความยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปีนึงเกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้1-2 เดือนจากผลผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็มีรายจ่าย 12 เดือน ดังนั้นการเกษตรแบบผสมผสาน หรือการเกษตรที่สร้างสินค้าให้ มีรายได้ทุกเดือนจะยิ่งดีมาก เป็นการบริหารงบการเงินของเกษตรกร ให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น นี่คือสถานการณ์ในปัจจุบันที่ เทคโนโลยีจะเป็นภูมิคุ้มกัน”
ผลักดัน Smart Farmer กว่าสองหมื่นราย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยอีกว่า อย่างที่บอกไปว่าค่าเฉลี่ยอายุเกษตรกรไทยอยู่ที่ 59 ปี ต้องยอมรับว่า แม้ว่าเราจะพยายามผลักดันให้เขาเข้าใจ Digital Digitization เพื่ออยู่ในโลกของเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้ เช่น ใช้แอปพลิเคชันธนาคาร ซื้อของโดยไม่ต้องใช้เงินสด แต่เรื่องของการเกษตรมีความลึกซึ้งพอสมควร สิ่งที่จะสร้างการขับเคลื่อนทางสังคม ที่เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรงได้ ต้องเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังนั้นกรมฯ มีโครงการผลักดัน Smart Farmer และ Young Smart Farmer ซึ่งในภาพรวม Smart Farmer ในโครงการมีประมาณ 25,000 กว่ารายแล้ว
โดยที่ผ่านมาได้ชวน Smart Farmer คิดเรื่องการตลาด แต่ต่อจากนี้ไปก็ต้องชวนคิดเรื่องการทำผลผลิตให้มีคุณภาพสูง ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง และความลึกซึ้งของเทคโนโลยีเช่น ค่าของคาร์บอนและไนโตรเจนจะเป็นเท่าไหร่ การให้น้ำ ต้องดูว่า อุณหภูมิที่เปลี่ยนไป ความชื้นสัมพัทธ์ที่เปลี่ยนไปต้องจัดการอย่างไรบ้าง หรือแม้แต่การให้ปุ๋ย หรือการไถ ดินร่วนซุน ต้องเป็นอย่างไรบ้าง และที่สำคัญต้องเข้าใจว่าวันนี้มีระบบการจ้าง (Service Provider) เยอะมาก จำเป็นต้องเข้าใจและต้องรู้ว่า ถ้าจะไปจ้างเขาแล้ว การจ่ายเงินไปต้องดูว่าคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน การลงทุนเทคโนโลยี ต้องเข้าใจจุดค้มทุนในการซื้อเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งนี้กรมฯ ไม่ได้ทำคนเดียวอยู่แล้ว ก็พยายามจะเชื่อมแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น คูโบต้า สถาบันการศึกษา หรือภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เป็นคนสร้างความรู้ และกรมฯ จะเป็นคนสร้างสะพาน สร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้น้อง ๆ เชื่อมต่อ เชื่อมความรู้ไปต่อเนื่อง
ภาคเกษตรคือความมั่นคงทางอาหาร
ทำอย่างไรให้เพียงพอหมื่นล้านคนวันข้างหน้า
ด้านนางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ถ้านึกถึงภาคเกษตรจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร ในปีที่ผ่านมามีการเปิดเผยว่า ประชากรโลกแตะ 8,000 ล้านคนแล้ว และอีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้าตัวเลขจาก 8,000 ล้านคน จะขยับไปเป็นหนึ่งหมื่นล้านคน โจทย์ท้าทายคือทำอย่างไรจึงจะมีอาหารพอเพียงให้คนหนึ่งหมื่นล้านคน เพราะความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว
นอกจากนี้ก็ยังเผชิญเรื่องของสภาพภูมิอากาศ เมื่ออุณหภูมิไม่คงที่ก็ทำให้ผลผลิตการเกษตรทั่วโลกมีการขึ้นลงตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างปีที่ผ่านมาไทยประสบภัยแล้ง ผลผลิตลดลง ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) หายไปประมาณ 2 แสนล้านบาท
ตอนนี้ทั่วโลกต่างเข้าใจความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอย่างดี ทำให้ทุกคนตระหนักว่าเทคโนโลยี นวัตกรรมเท่านั้นที่จะช่วยต่อยอดแก้ไขปัญหาที่จะเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ในภาคการเกษตรได้ ยกตัวอย่างทุกวันนี้ หากใช้เครื่องจักรในการเพาะปลูก เช่นปลูกข้าว 1 ไร่ สมมติเคยสร้างรายได้ประมาณ 600 กก.ต่อไร่ หากต่อยอดเอาข้อมูล เอาเทคโนโลยีมาใช้ก็พบว่าสามารถเพิ่มรายได้เป็น 900 กิโลกรัมต่อไร่ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่คลุกคลีเกษตรกรที่ผ่านมา
46 ปีสยามคูโบต้าหนุนเกษตรกรไทยเข้าใกล้เทคโนโลยี
นางวราภรณ์ กล่าวต่อว่า สยามคูโบโต้อยู่ในไทยเป็นปีที่ 46 แล้ว ได้พัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร ที่สามารถช่วยเรื่องผลผลิตเกษตรกร ไม่เท่านั้น มีการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อทำให้การเกษตรมีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งก็ได้ทดลองหลาย ๆ ครั้ง จนพบว่า สิ่งที่จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ และทำให้คนเข้าใจจะต้องเป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่มี่ความรู้ความเข้าใจ และถนัดในเรื่องของเทคโนโลยี อีกทั้งการใช้เทคโนโลยี ต้องตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมด้วย ช่วยในการลดใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ ปุ๋ย หรือการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่จะทำให้ต้นทุนดีขึ้น ดังนั้นเชื่อมั่นว่า การทำเกษตรแบบนี้เป็นการทำเกษตรยั่งยืน ดึงดูดให้เกษตรกรรุ่นใหม่สนใจ นอกจากมีรายได้ที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยโลกของเราได้ด้วย
คูโบต้า ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องของการทำเกษตร และพบโจทย์ปัญหาที่ท้าทายจากเกษตรกร จึงนำเอาโจทย์เหล่านั้นมารวมกับการใช้เครื่องจักรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย ซึ่งได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นมา (Kubota Agri Solution) ซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะทางคูโบต้า ในการใช้เครื่องจักรก็จะช่วยดูแลในเรื่องการเพาะปลูก ตั้งแต่เรื่องการเตรียมดิน วัดค่าปุ๋ย การดูแลพืช จนถึงการเก็บเกี่ยว และเก็บวัสดุเกลือใช้ในภาคการเกษตร จากนั้นพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น KAS ให้เกษตรกรใช้ โดยเกษตรกรสามารถใช้แอปฯ เพื่อวางแผนการเพาะปลูกของตนเอง
“ปัจจุบันเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farming มีบทบาทสำคัญในภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ซึ่งนวัตกรรมการเกษตรถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมโลกที่มีการเติบโตมากที่สุด เนื่องจากเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านการทำเกษตรไปสู่การเกษตรยุคใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและโซลูชันเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการสิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเกษตรทั่วโลก เน้นลดการใช้ทรัพยากร รักษาสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความยั่งยืนภาคการเกษตร ตลอดจนมุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาให้เกิดการทำเกษตรอัจฉริยะ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม คูโบต้า จำกัด ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดโครงการสร้าง Smart Farmer หน้าใหม่ให้กับวงการเกษตร ในโครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” โดยในปีที่ผ่านมาโครงการนี้สามารถสร้าง Smart Farmer หน้าใหม่ให้กับวงการเกษตรเพิ่มขึ้น และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนได้ด้านลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ ด้วยนวัตกรรม KAS เกษตรครบวงจร ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับรางวัลจากปีที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จจากการใช้เทคนิคการเพาะปลูกผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร
โดยผู้ชนะของโครงการคูโบต้า กล้า ท้า ปลูก ปีที่ 1 คือ อิทธิพัทธ์ เอี่ยมสมาน เกษตรกรจากจังหวัดสิงห์บุรี สามารถลดต้นทุนได้ 18 % ผลผลิตเพิ่มขึ้น 35 % และมีกำไรได้ถึง 35 % และเพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่ผ่านมา
ในปีนี้สยามคูโบต้าจึงได้จัดโครงการ คูโบต้า กล้า ท้า ปลูก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “นารักษ์โลก” เฟ้นหานักพัฒนาแปลงเพาะปลูกข้าว ชิงถ้วยพระราชทานฯ และเงินรางวัลรวม 1 ล้านบาท โดยใช้บันทึกปฏิทินการเพาะปลูก หรือ KAS Crop Calendar On LINE ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้แบบ Real Time แม่นยำและมีแบบแผนตลอดการเพาะปลูก ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว
รวมถึงส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยก๊าซมีเทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ