บีคอน วีซี by Kbank ร่วมกับ สถาบันเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก ส่งเสริมสตาร์ทอัพและนวัตกรรม Climate Tech ในประเทศไทย เตรียมความพร้อมด้านระดุมทุน ขยายธุรกิจ และการจัดหาเงินทุนอนาคต ส่อง 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่โลกจับตามอง
อุณหภูมิเฉลี่ยโลกนับวันยิ่งสูงขึ้นมีแนวโน้มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และคาดการณ์ว่าอีกไม่นานอาจแตะถึง 2 องศาเซลเซียส หากเป็นเช่นนั้นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกจะต้องเผชิญกับความรุนแรงหลายด้าน ทั้งทางธรรมชาติ และภูมิรัฐศาสตร์ กระทบความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่บางแห่งบนแผนที่โลกจะพบกับภัยแล้ง ในขณะที่บางแห่งอาจเผชิญน้ำท่วมหนัก ผู้คนลี้ภัยจะเพิ่มมากขึ้นหลายสิบล้านคน ความขัดแย้งระหว่างคนในสังคม และในระดับประเทศก็จะรุนแรงขึ้น
Climate Tech เทคโนโลยีควบคุมการเปลี่ยนเปลงสภาพอากาศ ลดปล่อยมลพิษ
จากสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวโน้มความน่าจะเป็นในอนาคต จึงเป็นเหตุที่ทุกประเทศมีความพยายามที่จะลดอุณหภูมิโลกลง ด้วยการหาแนวทางลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำ ‘เทคโนโลยี’ เข้ามาช่วยในทุกกิจกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคน และเศรษฐกิจประเทศ และส่งผลกระทบเชิงลบต่อโลกให้น้อยที่สุด
อาทิ การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech มาใช้ เพื่อช่วยลดการปล่อยมลพิษ และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้
ทั้งนี้ตามรายงานของ PwC และ McKinsey ประเมินว่า Climate Tech มีส่วนช่วยในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าหากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ก็จะสามารถช่วยลดการปล่อยมลพิษได้ประมาณ 60% เพื่อรักษาเสถียรภาพของสภาพอากาศภายในปี 2593 และเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพอย่างมากในการดึงดูดการลงทุน โดยมีแนวโน้มว่าภายในปี 2568 การลงทุนอาจสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 70.4 ล้านล้านบาทต่อปี
โดย 5 Climate Tech ที่น่าสนใจ ได้แก่
1.พลังงานไฟฟ้า (Electrification)
2. ความก้าวหน้าด้านเกษตรกรรมสีเขียว (Green Revolution)
3. สร้างโครงข่ายไฟฟ้า (Power grid)
4. การใช้ไฮโดรเจน (Hydrogen)
5. การดักจับคาร์บอน (Carbon capture)
บีคอน วีซี by Kbank หนุนสตาร์ทอัพ Climate Tech
จากประโยชน์ของเทคโนโลยีด้านภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการต่างสร้างบริษัทที่ให้ความสำคัญต่อสภาพอากาศ
สำหรับประเทศไทย ล่าสุด บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) บริษัทเงินร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทย และสถาบันเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก ประจำประเทศไทย (GGGI) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ และสนับสนุนการเติบโตของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมด้าน Climate Tech และเตรียมความพร้อมให้สตาร์ทอัพในการระดมทุน การขยายธุรกิจ รวมถึงการจัดหาเงินทุนในอนาคต
โดยการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างบีคอน วีซี และ GGGI ที่อยู่ระหว่างจัดทำบันทึกขอจัดตั้ง Climate Tech Equity Trust เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech ของไทย
ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) เปิดเผยว่า บีคอน วีซี มีนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) จึงได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน และมีการจัดตั้ง Beacon Impact Fund ในปี 2563 ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน Climate Tech เพิ่มเติม นับเป็นอีกกำลังสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 หรือเทียบเท่าปี ค.ศ. 2065
ด้าน ดร.แฟรงค์ ไรซ์เบอร์แมน (Dr. Frank Rijsberman) ผู้อำนวยการใหญ่ของสถาบันเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก ประจำประเทศไทย (GGGI) กล่าวว่า GGGI ดำเนินการสนับสนุนระบบนิเวศสำหรับวงการสตาร์ทอัพด้าน Climate Tech ในประเทศไทย โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง GGGI กับบีคอน วีซี ครั้งนี้เป็นหนึ่งในย่างก้าวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเงินเพื่อความยั่งยืนและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสีเขียวในประเทศไทย เพิ่มเติมจากความร่วมมือในการจัดตั้ง Climate Tech Equity Fund
ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทั้งสององค์กรจะร่วมกันพัฒนาและริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมด้าน Climate Tech ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร การรณรงค์และเสริมสร้างความตระหนักรับรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สตาร์ทอัพด้าน Climate Tech ในการระดมทุน การขยายธุรกิจ รวมถึงการจัดหาเงินทุนในอนาคตต่อไป
ส่อง 5 เทรนด์ด้าน Climate Tech ที่โลกจับตามอง
สำหรับ 5 เทรนด์สำคัญด้าน Climate Tech ที่โลกจับตามอง ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจและเพื่อเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ดังนี้
1.การเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification)
การเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคส่วนต่าง ๆ คือหัวใจสำคัญของการลดการปล่อยคาร์บอนที่ครอบคลุมตั้งแต่การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) และการประยุกต์ใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบพลังงานในอาคาร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 5 กิกะตันต่อปี ภายในปี 2593 ซึ่งพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่
-พัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ต้องพัฒนาแบตเตอรี่ EV ที่ดีกว่าเดิม และลดต้นทุนแบตเตอรี่ให้ได้ครึ่งหนึ่งของยานยนต์ EV หรือจะต้องต่ำกว่าราคาแบตเตอรี่ในปัจจุบัน โดยการปรับปรุงส่วนประกอบภายในเพื่อที่จะเพิ่มความหนาแน่นพลังงานและลดต้นทุน
-ซอฟต์แวร์ควบคุมแบตเตอรี่ โปรแกรมควบคุมการใช้งานแบตเตอรี่จะช่วยชดเชยพลังงานที่ขาดแคลน รวมไปถึงย่นระยะเวลาการชาร์จให้สั้นลง
-ระบบการจัดการพลังงานในอาคารที่มีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานในอาคารมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกประมาณ 7% เพราะฉะนั้น การนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในอาคารจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้
-การใช้พลังงานไฟฟ้าในอุตสาหกรรม หากราคาพลังงานหมุนเวียนและอุปกรณ์ไฟฟ้าลดลง การประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จะสามารถลดต้นทุนและลดปริมาณการปล่อยมลพิษได้โดยใช้พลังงานไฟฟ้าในการดำเนินงานเป็นหลัก
2.ความก้าวหน้าด้านเกษตรกรรมสีเขียว (Green Revolution)
กิจกรรมจากภาคเกษตรกรรมถือเป็น 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซมีเทน จึงทำให้เกิดการหาวิธีเปลี่ยนแปลงการทำฟาร์ม การจัดการวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ ในรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-Based Meat) เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่มีสาเหตุมาจากการปศุสัตว์ รวมถึงการประยุกต์ใช้วิศวกรรมชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดการปล่อยมลพิษ
3.การสร้างระบบสำรองไฟฟ้าเพื่อผลิตพลังงานสะอาด (Power grid)
การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน และจัดเก็บพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกลายเป็นความจำเป็นในยุคปัจจุบันที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณมาก เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีจัดเก็บพลังงานระยะยาวช่วยรักษาความต่อเนื่องและความเสถียรของระบบไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือ Vehicle-to-Grid (V2G) ก็ถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
4.การหันมาใช้ก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen)
ไฮโดรเจนนั้นมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวกลางลำเลียงพลังงานสะอาดด้วยคุณสมบัติที่มีความหนาแน่นของพลังงานสูง และมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงเป็นศูนย์ ทำให้ไฮโดรเจนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 30% ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การบินและการขนส่ง ฯลฯ
5.เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture – CCUS)
เทคโนโลยีนี้มีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ไม่ว่าจะเป็น
-เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนก่อนและหลังการเผาไหม้ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยดักจับคาร์บอนจากแหล่งกำเนิดพลังงานได้ในราคาที่ไม่สูงนัก ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนหลังเผาไหม้ อาทิ สูตรตัวทำละลาย ตัวดูดสับ และเมมเบรน จะช่วยลดต้นทุนในการดักจับคาร์บอนได้
-การดูดอากาศโดยตรง (Direct air capture: DAC) เป็นเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศโดยตรง ด้วยวิธี DAC จะเป็นการปล่อยคาร์บอนติดลบเพื่อไปทำปฏิกิริยาในอากาศ เพื่อระงับไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส
-พลังงานชีวภาพที่มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (BECCS) นวัตกรรมดักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศแล้วนำไปฝังลึกลงดิน ผ่านการขับเคลื่อนโดยเชื้อเพลิงชีวมวลที่แปลงมาจากพืช การเพิ่มนวัตกรรม BECCS ในโรงงานพลังงานชีวภาพ จะทำให้สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ โดยสารชีวมวลจะดักจับคาร์บอน และเมื่อเชื้อเพลิงชีวมวลถูกเผาไหม้ เทคโนโลยี CCS จะป้องกันไม่ให้คาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
-ถ่านไบโอชาร์ ที่เป็นวัสดุคล้ายถ่าน เกิดจากการแปรรูปชีวมวลของเสีย เช่น เศษซากพืชต่าง ๆ โดยการเพิ่มถ่านไบโอชาร์ลงในดินจะช่วยปรับปรุงคุณภาพดินและผลผลิตการเกษตร รวมไปถึงกักเก็บคาร์บอนไดออกไซต์เกือบ 2 กิกะตันต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2050
-คอนกรีตกักเก็บคาร์บอน ส่วนประกอบของถนนคอนกรีต ที่ประกอบด้วย ซีเมนต์ และทรายหรือหินบด มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนประกอบในซีเมนต์เพื่อที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และทำให้ซีเมนต์มีความแข็งแกร่งขึ้น กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้จะดักจับคาร์บอนที่มาจากของเสียที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ เช่น ขี้เถ้า ตะกรันเหล็ก และซีเมนต์ที่ผ่านการผลิตมาแล้ว เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : 5 เทรนด์ Ckimate Tech จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)