Climate Change ไม่ใช่แค่ความเสี่ยง แต่ขัดขวางโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต

Climate Change ไม่ใช่แค่ความเสี่ยง แต่ขัดขวางโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต

ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ซึ่งรวมถึงผลกระทบทางการเงิน การสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน การถูกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และความเสียหายต่อชื่อเสียงที่อาจขัดขวางการเติบโตในระยะยาว

 

 

ในยุคปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศผันแปรอย่างรวดเร็ว อาจนำมาสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของสิ่งมีชีวิต ทุกภาคส่วนจึงต้องตื่นตัว รวมถึงภาคธุรกิจ หากตระหนักและใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญและช่วยให้ธุรกิจยั่งยืนได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของรายใหญ่ ควรทำความเข้าใจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร ให้ธุรกิจสามารถจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถูกต้องตรงจุด และเสริมภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งให้กับองค์กร

 

 

การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

โลกได้เผชิญกับการสูญพันธุ์มาแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปะทุของภูเขาไฟที่เป็นไปโดยธรรมชาติ และอีก 1 ครั้งจากการชนโลกของอุกกาบาตขนาดใหญ่ และในครั้งนี้ที่โลกกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ซึ่งจะมีอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 100-1,000 เท่า และมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ของสภาพแวดล้อมเร็วกว่าการทำนายโดยสถิติที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วด้วยอัตราความเร่งที่สูงกว่าอดีต ซึ่งสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าและการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ปัญหานี้ไม่ได้กระทบเฉพาะธรรมชาติ แต่ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน ธุรกิจจึงต้องเริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงและกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต 

 

 

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป 

เมื่อความยั่งยืนของโลกคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

อีกหนึ่งปัจจัยที่ธุรกิจต้องให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืนในธุรกิจมากขึ้น ผลสำรวจจาก Nielsen ในปี 2023 พบว่า 73% ของผู้บริโภคทั่วโลกยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสนับสนุนแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่มองว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่ “ตัวเลือก” แต่เป็น “มาตรฐาน” เช่น การตัดสินใจซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ลดการใช้พลาสติก หรือมีการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มนี้ อาจเสี่ยงเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งที่นำเสนอมูลค่าด้านความยั่งยืนได้ดีกว่า

 

 

ความสมดุลระหว่าง ต้นทุน กำไร และความเสี่ยง 

คือหัวใจความยั่งยืนของธุรกิจ

การผสมผสานเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่ได้แค่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค แต่ยังช่วยลดต้นทุนระยะยาว และรักษาสมดุลของต้นทุน กำไร และความเสี่ยง เช่น การใช้พลังงานทดแทนหรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม กลายเป็นความยั่งยืนทั้งของโลกและของธุรกิจ

 

 

 

 

ผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลาง

สำหรับธุรกิจขนาดกลาง ความเสี่ยงจากสภาพอากาศจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและความเสี่ยงเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลางอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศต่างๆ เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความท้าทายด้านความสะดวกสบายและประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและการดำเนินการอื่นๆ และความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็มีความสำคัญเช่นกัน

 

 

ผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก

ธุรกิจขนาดเล็กถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจเพราะเป็นแหล่งสนับสนุนการจ้างงานในชุมชนท้องถิ่น และมีส่วนสนับสนุนเอกลักษณ์ของสถานที่ที่เรารัก เมื่อธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุมชนโดยรวมจะได้รับผลกระทบไปด้วย

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง  เหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายอาจสร้างความเสียหายอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น สิ่งนี้เพิ่มแรงกดดันให้กับธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจอาจเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่นภัยแล้งไฟป่าและ  น้ำ  ท่วมผลกระทบเหล่านี้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของธุรกิจ อุตสาหกรรม และความเสี่ยงของธุรกิจ

ธุรกิจในภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมงมีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง การดำเนินธุรกิจเหล่านี้ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนอื่นๆ เช่น การค้าปลีก การท่องเที่ยว และการผลิต ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน โดยธุรกิจทุกประเภทมีความเสี่ยงต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

 

ก๊าซเรือนกระจก 7 ชนิด ที่ธุรกิจต้องลดให้ได้

ก๊าซเรือนกระจกที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มอุณหภูมิโลก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็น 74% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง มีเทน เกิดจากภาคเกษตรกรรมและการทิ้งขยะ ไนตรัสออกไซด์ มาจากปุ๋ยเคมีและการผลิตอุตสาหกรรม กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออไรคาร์บอน เกิดจากกระบวนการถลุงอะลูมิเนียม และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ อยู่ในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ นำมาใช้เป็นฉนวนไฟฟ้าจากอุปกรณ์สวิตช์ไฟฟ้าแรงสูง หากธุรกิจสามารถวิเคราะห์และลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล ก็จะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในระยะยาวได้

 

 

ก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตขององค์กร

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรสามารถแบ่งเป็น 3 Scope ที่สำคัญ ธุรกิจต้องทำความเข้าใจในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละ Scope จึงจะดูแลได้อย่างตรงจุด

  • Scope 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากกิจกรรมของธุรกิจเอง เห็นได้ง่าย ๆ คือ มีควันออกมาจากปล่อง มีการรั่วออกมาโดยตรง
  • Scope 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ถูกซื้อมา การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ที่องค์กรของเราซื้อหรือนำเข้ามาโดยที่องค์กรไม่ได้ผลิตเอง มีทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ไฟฟ้า ไอน้ำ ความร้อน ความเย็น และ อากาศอัด
  • Scope 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ เช่น จากซัพพลายเชนของธุรกิจ 

 

 

 

 

คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร สิ่งที่ทุกธุรกิจต้องใส่ใจ

การจัดการคาร์บอนองค์กร เช่น การตั้งเป้า Net Zero หรือการพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ ไม่เพียงสร้างความยั่งยืนในสายตาของผู้บริโภค แต่ยังเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักลงทุนที่มองหาองค์กรที่มีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน บริษัทใหญ่หลาย ๆ บริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นให้เป็นศูนย์ภายในปีที่กำหนด ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งของธุรกิจในตลาดโลก ธุรกิจที่ตื่นตัวและเร่งใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงสร้างความเชื่อมั่นในระยะสั้นให้ผู้บริโภค แต่ยังช่วยปูทางสู่ความสำเร็จในอนาคตที่ยั่งยืนและเติบโตได้อย่างมั่นคง

 

 

ขั้นตอนสู่การจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดขอบเขตองค์กร แบบควบคุมทางการเงินและควบคุมการดำเนินงาน หรือ แบบปันส่วนตามกรรมสิทธิ์ และการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานตาม 3 Scope

ขั้นตอนที่ 2 การระบุกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในขอบเขตและ Value Chain ขององค์กร

ขั้นตอนที่ 3 การจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและแหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจก

ขั้นตอนที่ 4 การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ขั้นตอนที่ 5 วิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมและค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้อมูล การจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมตามความเกี่ยวข้องและนัยยะสำคัญขององค์กร

ขั้นตอนที่ 6 รายงานและทวนสอบ จัดทำรายงานเพื่อแสดงแหล่งที่มาและกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 

ขั้นตอนที่ 7 ขึ้นทะเบียน ผู้ตรวจสอบจะออกรายงานการทวนสอบ และถ้อยแถลงส่งมาที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะพิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์และออก Certificate เพื่อรับรองว่าองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ในแต่ละ Scope

 

การจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เพื่อให้องค์กรรู้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง และจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ถูกต้องตรงจุด อันจะส่งผลระยะยาวกับความยั่งยืนของโลกและธุรกิจ ทั้งนี้ปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืนที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อสร้างความยั่งยืนของโลกและให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ที่มา: finbiz by ttb

https://www.climatechange.environment.nsw.gov.au/effects-business