จีนถือครองกุญแจสำคัญสู่เป้าหมายพลังงานสีเขียวของเอเชีย ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 90% ของห่วงโซ่อุปทานหลัก ความเป็นผู้นำของประเทศจึงยากที่จะสั่นคลอน
ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางต้นทุเรียนและต้นสน เป็นประกายภายใต้ท้องฟ้าสีฟ้าสดใสในกุลิม สะท้อนให้เห็นถึงคำมั่นสัญญาของมาเลเซียในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานสีเขียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินผ่านแผงโซลาร์เซลล์ที่เรียงเป็นแถว เราจะเห็นโลโก้ประทับอยู่บนอินเวอร์เตอร์กว่า 130 ตัว ซึ่งเป็นเครื่องหมายรูปดอกไม้ของบริษัทเทคโนโลยีจีน Huawei
จีนเป็นซัพพลายเออร์วัสดุและอะไหล่ระบบโซลาร์เซลล์ในอาเซียน
อินเวอร์เตอร์มีความสำคัญในการแปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้ในครัวเรือนและโรงงานต่าง ๆ ได้ และเช่นเดียวกับส่วนประกอบหลักเกือบทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตอินเวอร์เตอร์ถูกครอบงำโดยผู้ผลิตในจีน
ความต้องการพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโต โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการขยายตัวของการผลิตเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ ผู้จัดการท้องถิ่นของโซลาร์เวสท์ (Solarvest) ผู้ให้บริการพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ในกูลิม กล่าวว่าบริษัทของเธอตั้งใจที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ และนั่นหมายความว่าจะต้องซื้อจากจีนมากขึ้น
“เราตั้งเป้าที่จะลงทุนมากขึ้นในอีกสองสามปีข้างหน้า การซื้ออุปกรณ์และส่วนประกอบจากซัพพลายเออร์จีนที่เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานและเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้เรามีโอกาสที่ดีที่สุดในการผลิตพลังงานสีเขียวในราคาที่ต่ำพอที่จะแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้”
ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนดังกล่าวทำให้จีนกลายเป็นแกนหลักของแผนงานด้านพลังงานสีเขียวของหลายประเทศ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก ปักกิ่งยังได้ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เพื่อขยายอิทธิพลของตนเหนือโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญในประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซีย ลาว ไทย ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย
อิทธิพลดังกล่าวไม่ได้เป็นผลดีกับสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวหาจีนว่าอุดหนุนผู้ผลิตอย่างไม่เป็นธรรม และทุ่มสินค้าราคาถูกลงสู่ตลาดโลก
สหรัฐยังคลุมเครือที่จะสร้างกำแพงภาษีกีดกันจีน
วอชิงตันได้กำหนดมาตรการภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ ต่อผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ของจีน แต่คำถามที่ยังไม่มีคำตอบคือ มาตรการดังกล่าวจะยังคงมีต่อไปภายใต้การบริหารของทรัมป์หรือไม่ เนื่องจากประธานาธิบดีคนใหม่ไม่ใช่แฟนตัวยงของพลังงานหมุนเวียน แต่เป็นแฟนตัวยงของการกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรกับจีน
โดยพลังงานแสงอาทิตย์ถูกมองว่าเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดและนำไปใช้ได้รวดเร็วที่สุด โดยดึงดูดการลงทุนได้ 500,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 แซงหน้าแหล่งผลิตพลังงานประเภทอื่นทั้งหมด ตามข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)
พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ง่ายต่อการเข้าถึง
โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งอาจต้องใช้เวลาวางแผนและสร้างนานถึง 8 ปีหรือมากกว่านั้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถติดตั้งได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ผู้บริหารในอุตสาหกรรม กล่าวว่าสิ่งนี้ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่างๆ ที่หวังจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว
แรงกดดันในการใช้พลังงานหมุนเวียนกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจเอเชียที่กำลังเติบโตซึ่งหวังจะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ต่างๆ เช่น Apple, Google และ Microsoft ต่างก็เข้าร่วมโครงการ RE100 ซึ่งมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% แต่หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ไทย และอินเดีย ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอย่างมากทำให้ความหวังในการลงทุนดังกล่าวตกอยู่ในความเสี่ยง
หลายประเทศสูญเสียความเป็นผู้นำตลาดให้กับจีน
จีนไม่ได้เป็นราชาแห่งพลังงานแสงอาทิตย์เสมอไป ในช่วงปี 2000 (พ.ศ.2543) บริษัทญี่ปุ่นและไต้หวัน เช่น Sharp, Motech และ New Solar Power ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ แต่บริษัทเหล่านี้ค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โตของจีนและการอุดหนุนของรัฐบาลทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่สามารถผลิตแผงโซลาร์เซลล์ได้ในราคาถูกกว่า
ในปัจจุบันนี้ จีนมีส่วนแบ่งการตลาด 90% หรือมากกว่าในฐานะซัพพลายเออร์ด้านวัสดุและอะไหล่ในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่โพลีซิลิกอนในช่วงต้นน้ำไปจนถึงโมดูลพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงปลายน้ำ ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน
นอกจากนี้ ประเทศจีนยังเป็นแหล่งรวมผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดของโลก เช่น ลองกี้ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เทคโนโลยี (Longi Green Energy Technology), ถงเหว่ย (Tongwei), GCL, จินโกโซล่าร์ (Jinko Solar) และ TCL จงฮวน เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน (TCL Zhonghuan Renewable Energy Technology) ผู้ผลิตอินเวอร์เตอร์รายใหญ่ทั้งสามราย ได้แก่ Huawei, Sungrow Power และ Ginlong Technologies ล้วนมาจากจีน
พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นพลังงานหลักในปี 2573
ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) คาดว่าจีนจะรักษากำลังการผลิตได้มากกว่า 80% ของกำลังการผลิตทั่วโลกสำหรับกลุ่มการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด แม้ว่าสหรัฐฯ และอินเดียจะพยายามบังคับใช้ข้อกำหนดด้านอุปทานในท้องถิ่นก็ตาม ตามข้อมูลของ IEA หน่วยงานดังกล่าวประมาณการว่าต้นทุนการผลิตโมดูล PV ในสหรัฐฯ และอินเดียในปัจจุบันสูงกว่าในจีนถึง 2 ถึง 3 เท่า “ช่องว่างนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปในอนาคตอันใกล้”
คู่แข่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ตระหนักถึงข้อได้เปรียบอันน่าเกรงขามของจีน
ดอริส ซู ประธานบริษัทผลิตภัณฑ์ซิลิคอนจีน-อเมริกัน ( Sino-American Silicon Products) ผู้ผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ตั้งอยู่ในซินจู กล่าวว่า เป็นความจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลก กำลังการผลิตทั้งหมดของซัพพลายเออร์จีนใน 1 ปีสามารถจัดหาให้ทั่วโลกได้เป็นเวลา 2 ปี อุตสาหกรรมนี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากอุปทานส่วนเกิน
“ขนาดเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่กว้างขวางของจีนมีส่วนทำให้จีนมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ถูกต้องแล้วที่จะบอกว่าหากไม่มีอุปสรรคทางการค้าที่รัฐบาลกำหนด ซัพพลายเออร์จีนก็สามารถเสนอโซลูชันที่คุ้มราคาที่สุดได้”
ซูกล่าวเสริมว่ารัฐบาลบางแห่งเริ่มตระหนักแล้วว่าอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน “นั่นหมายความว่าประเทศต่าง ๆ บางประเทศต้องการทำให้ห่วงโซ่อุปทานอยู่ภายในประเทศ มากกว่าที่จะเลือกซัพพลายเออร์เพียงเพราะต้นทุนต่ำ”
นักวิเคราะห์ กล่าวว่า อุปกรณ์และเครื่องมือไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของจีนมีราคาถูกกว่าอุปกรณ์และเครื่องมือไฟฟ้าจากประเทศอื่นอย่างน้อย 20% ถึง 30%
หยาง เจียห่าว นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานสีเขียวจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน (TIER) เปิดเผยว่า จีนมีเงินทุนเพียงพอที่จะลงทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ล่าสุดเพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนได้มากขึ้นด้วย
“หากคุณไม่ได้รับเงินอุดหนุน ช่องว่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ของคุณกับผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งในจีนก็แทบจะเป็นช่องว่างระหว่างท้องฟ้ากับโลก”
ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามสัญญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับบริษัทในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยแผงโซลาร์เซลล์ของจีนไม่เพียงแต่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในตลาดเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่ากับพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย ซัพพลายเออร์จากไต้หวันรายนี้ ซึ่งเป็นผู้ผลิต iPhone และเซิร์ฟเวอร์ AI ของเอ็นวิเดีย( Nvidia) ใช้ไฟฟ้ามากถึง 10,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และกำลังดำเนินการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาทั้งหมดทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ล่าสุดจากจีน
ราคาพลังงานสีเขียวของจีนเกือบเท่ากับราคาพลังงานฟอสซิล
รอน ฮอร์น (Ron Horng) รองประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อมส่วนกลางของฟ็อกซ์คอนน์ กล่าวว่า เราพบว่าราคาพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนนั้นแทบจะเท่ากับราคาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในจีน
บางคนบอกว่าการแข่งขันด้านราคาจะเอาชนะแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลไบเดนได้กำหนดอุปสรรคทางการค้ากับการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์จากกัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เพื่อปราบปรามการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดที่กำหนดให้กับผลิตภัณฑ์จีน
ไซมอน วู ประธานบริษัท ซานฟู เคมีคอล (San Fu Chemical) ซึ่งเป็นผู้จัดหาสารเคมีอุตสาหกรรมและก๊าซ กล่าวว่าบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนในเวียดนาม “มีการขยายตัวช้าลงบ้าง” หลังจากการประกาศดังกล่าว
“คาดว่าความต้องการของตลาดจะกลับมาเป็นปกติในอนาคตอันใกล้นี้ ข้อเสนอของพวกเขายังคงมีการแข่งขันสูงที่สุด”
หยางแห่ง TIER ก็มีมุมมองที่คล้ายคลึงกัน โดยชี้ให้เห็นไม่เพียงแค่ช่องโหว่ในอุปสรรคการค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดที่ต้องการพลังงานหมุนเวียนโดยไม่มีอุปสรรคดังกล่าวด้วย
“โดยพื้นฐานแล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่ตลาดเดียวที่จะพึ่งพาอุปกรณ์โฟโตวอลตาอิคของจีนเป็นอย่างมาก หากต้องการส่งเสริมการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อย่างคุ้มทุน เพราะพลังงานแสงอาทิตย์คืออนาคต สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นทั่วโลก”