ททท.-เคทีซี-OR หนุนเที่ยววิถีชุมชนต่อเนื่อง ชูเด่นเรื่องเมืองรอง ชวนคนไทยเที่ยวต่างถิ่น

by ESGuniverse, 8 กันยายน 2567

ททท. ผนึกกำลังบัตรเครดิต เคทีซี และ OR เดินหน้าแคมเปญการท่องเที่ยว คืนความสุขให้นักเดินทาง วันเดย์ทริปบ้านริมคลองโฮมสเตย์ พักผ่อนหย่อนใจในจังหวัดสมุทรสาคร ชิมของอร่อย ส่งต่อองค์ความรู้วิถีชีวิต ให้ยังคงสืบสานและช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนเมืองรอง

 

 

ทั้งนี้ตามนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ‘ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์’ ผู้ว่าททท. ระบุว่า ททท.มีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไปสู่ความยั่งยืนในหลายมิติ ทั้งเรื่องการดูแลผู้ประกอบการ คนในท้องถิ่น การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จึงทำให้ททท.จับมือกับบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี) ร่วมด้วย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ออกแคมเปญ 'ขับรถเที่ยวเมืองรอง’ กับบัตรเครดิตเคทีซี รับเครดิตเงินคืน 4% เมื่อเติมน้ำมันที่สถานีบริการ พี่ที่ที่สเตชั่น และได้รับเครดิตเงินคืนกับสถานีบริการน้ำมันอีกหลายราย รวมถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ

ปักหมุดหมายบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ตำบลบ้านปรง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม อันเป็นแหล่งส่งเสริมเศรษฐกิจรากฐานภายในชุมชน เปิดฐานกิจกรรมให้เข้าร่วมสัมผัสวิถีชีวิตและชิมผลผลิตจากมะพร้าวที่หลากหลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับ รางวัล thailand tourism awards 2021

 



นำร่องเที่ยววันเดย์ทริปอย่างยั่งยืนสู่จังหวัดสมุทรสงคราม

นายสุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต เคทีซี เปิดเผย ว่าครั้งนี้ต่อยอดโครงการท่องเที่ยว ในครั้งนี้เล็งเห็นว่าจังหวัดสมุทรสงครามมีทรัพยกรหลายอย่าง วิถีชีวิต และวัตถุดิบท้องถิ่นที่สามารถนำมารังสรรค์เป็นอาหารถิ่นที่น่าลิ้มลอง ต่อยอดและพัฒนาสู่การท่องเที่ยวสไตล์ gastronomy

“บัตรเคทีซีเป็นบัตรของคนไทย ทำเพื่อคนไทย จึงอยากชวนคนไทยไปเที่ยวเมืองรอง ซึ่งเป็นเหมือนการกระจายรายได้ อีกทั้งแคมเปญดังกล่าวถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับสมาชิกบัตรเครดิต”

 


เสน่ห์วิถีแห่งสายน้ำ

ขณะที่นางดวงใจ คุ้ม สะอาด รองผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสมุทรสงคราม กล่าวว่า เนื่องจากสมุทรสงคราม มีแม่น้ำแม่กลองที่ไหลผ่าน มีลำคลองหลายร้อย เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม เป็นเมืองสายน้ำสามเวลา ทั้งยามเช้า ยามสาย ยามเย็น สามารถทำกิจกรรมได้ทั้งวัน ตอนเช้าเป็นตลาดน้ำท่าคา ซึ่งก็มีวิถีชีวิตดั้งเดิมของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติเป็นอัตลักษณ์ให้เห็น มีแม่ค้าขายผลิตภัณฑ์ ผลิตผลทางการเกษตรที่โด่งดัง ตอนสายมีบรรยากาศสบายที่ตลาดน้ำบางน้อย มีกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ ตอนเย็นมีตลาดน้ำที่โด่งดังคือ ตลาดน้ำอัมพวา มีกิจกรรมนั่งเรือชมหิ่งห้อยในตอนกลางคืนช่วง 1 ถึง 3 ทุ่ม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม อีกทั้งยังมีอาหารที่ขึ้นชื่อหลากรายการ


สมุทรสงครามความอุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม

เป็นแหล่งรวมของแร่ธาตุมากองปากอ่าวสมุทรสงคราม ทำให้การปลูกพืช ปลูกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รสชาติอร่อย สภาพสินค้าดี สดใหม่ และด้วยกรรมวิธีเทคนิค ภูมิปัญญาต่างจากที่อื่น ทำให้ผลิตผลผ่านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ปลาทูนึ่งแม่กลอง พริกมันบางช้าง เกลือสมุทรแม่กลอง และเร็ว ๆ นี้กำลังขอทะเบียน น้ำตาลมะพร้าว ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าว ปลูกส้มโอ ปลูกลิ่นจี่ แต่เรื่องของมะพร้าวถือว่ามีชื่อเสียงและมีเป็นจำนวนมาก

 

 

ชิมมะพร้าวน้ำหอม ปลอกสดเย็นฉ่ำ
ชมหัตถการจักรสาน ปั่นจักรยานชนสวน

ชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์เปิดพื้นที่ให้เข้าชมวิถีชีวิตและเข้าร่วมกิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ จักรสานจากก้านมะพร้าว, ทำอาหารและขนมที่มีส่วนของมะพร้าว, ผ้ามัดย้อมจากสีเปลือกมะพร้าว, ลูกกวาดน้ำตาลลวดลายปลาทูแม่กรอง และอื่น ๆ อีกหลายรายการ ในส่วนของผลิตผลที่เก็บได้ ชุมชนมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ น้ำตาลมะพร้าวแท้, น้ำหวานดอกมะพร้าว, น้ำส้มสายชูหมักไซเดอร์, น้ำตาลมะพร้าวผง ที่ได้รับความนิยมจากทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่เสมอมา

 

 

 

ด้านแม่เล็ก ถิรดา เอกแก้วนำชัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ทุกวันนี้ได้แรงสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ แม้พยายามด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง แต่การที่ได้รับแรงสนับสนุนนั้นทำให้ผู้คนรู้จักชุมชนมากขึ้น ไม่เฉพาะคนในประเทศแต่รวมถึงคนต่างประเทศด้วย สิ่งนี้ทำให้ภาคภูมิใจและไม่หยุดที่จะพัฒนาให้เติบโตมากขึ้น เมื่อเกิดการพัฒนา คนรุ่นใหม่ก็จะได้เข้ามาเห็นถึงศักยภาพว่าการท่องเที่ยวสามารถช่วยให้มีรายได้ จนตอนนีน้องรุ่นใหม่ได้เข้ามาช่วย ต่อยอดจากเรา ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ประกอบไปด้วยสมาชิก 15-30 คน

 

 

“เราดูแลรักษาวิถีชุมชนของเรา สิ่งแวดล้อมของเราเรื่องราวของชุมชน เพื่อให้ลูกหลานของเราได้สัมผัสเรียนรู้ว่าการที่อยู่ในชุมชนพอเพียงก็สามารถมีรายได้และอยู่ได้อย่างยั่งยืน”