5 วาระร้อนเพื่อโลกอนาคต ขับเคลื่อนจักรวาลยั่งยืนSDGsเพื่อทุกคน ผ่านเวที Summit of the Future

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ , 5 กันยายน 2567

6 ปีที่รอต่อไปไม่ได้ ที่เป้าหมายSDGs ยังเชื่องช้า UN ดึงสมาชิกร่วมให้คำมั่นโลกอนาคต ผ่าน Summit of the Future ประกาศ 5 เรื่องเร่งด่วน ชวนร่วมกันค้นพบเส้นทางเปลี่ยนโลกเร่งรัดบรรลุเป้าหมาย SDGs

เหลือเวลาอีก 6 ปี ที่ประเทศสมาชิกองค์การสประชาชาติ (UN-United Nations) ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) 17 ข้อให้สำเร็จภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) แต่เป็นที่น่าเศร้าใจ เมื่อเปิดรายงานรายงานSDGs ประจำปี ค.ศ.2024 (พ.ศ.2567) อันโตนิโอ กูเตอเรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN-United Nations) ได้กล่าวไว้ในรายงานว่า ผลลัพธ์จากการอ่านรายงาน ทำให้เตือนสติคนทั่วโลก เพราะตัวเลขความคืบหน้าบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีเพียง 17% ที่ดำเนินไปตามแผน และสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง (50%) ที่ยังขับเคลื่อนความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย และสัดส่วน 1 ใน 3 (ราว 30-35%) หยุดชะงักหรือถดถอยลง เนื่องมาจากโลกเผชิญกับวิกฤติความท้าทาย ทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19, ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น, การแปรปรวนของสภาพอากาศเกิดบ่อยขึ้น เป็นตัวฉุดรั้งความก้าวหน้า SDGs

สิ่งที่เห็นชัดเจนคือยังเกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับความท้าทายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเพิ่มขึ้น แต่กลับได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
คำมั่นจากประเทศสมาชิกUN 193 ประเทศ ที่ให้สัญญาประชามติ กอบกู้และผลักดันSDGs UN เสนอให้จัดการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต (Summit of the Future) ซึ่งเป็นโอกาสแรกและโอกาสที่หาได้เพียงครั้งเดียว ในการรวมพลังทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวร่วมประกาศคำมั่นสัญญาเพื่อโลกแห่งอนาคต ก่อนจะสายเกินไป

ขีดเส้นหมุดหมาย Summit of the Future
วาระร้อนหลอมรวมพาคีวางคำมั่นสัญญาอนาคต

พินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ขึ้นพูดในงาน ‘Sustain 2025’ ในหัวข้อ ‘Summit of the Future: การทูตที่จะช่วยสร้างมากกว่าความยั่งยืนให้กับโลกอนาคต’ ว่า ภายหลังจากมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN เกือบ 80 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2488 หรือ ค.ศ.1945) ปัจจุบัน มีสมาชิก 193 ประเทศที่มีความแตกต่างกันท้ังในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ขนาดประเทศ ระบอบการเมือง ระดับการพัฒนา ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น ความร่วมมือในกรอบ UN จึงครอบคลุมในมิติที่หลากหลาย และเกื้อกูลกันทั้งในเรื่อง สันติภาพและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนา สิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จึงทำให้ภารกิจUN ส่งผลกระทบครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่เรื่องราวในชีวิตของผู้คน และสรรพสิ่งต่างๆ จวบจนถึง บนอวกาศส่วนในและส่วนนอกโลก( outer space)

แนวคิดการสร้างคำมั่นวาระร่วมกันทั่วโลก (Summit of the Future) ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน 2567 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นการระดมสมองในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยมีการเชิญชวนผู้นําของสมาชิก UN ทั้ง 193 ประเทศ องค์กรภายใต้สหประชาชาติ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เยาวชน สถาบันวิชาการ มาพบหารือกันในช่วงการประชุมระดับสูง (High Level Week)

“การรวมตัวของสมาชิกUN ที่แตกต่างกันมากทั้งด้านภูมิศาสนตร์ ที่ตั้ง สภาพแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม แต่มีสิ่งร่วมกันคือ เจตนารมณ์ ส่งผลกระทบผ่านความร่วมมือทางด้านสันติภาพ การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน และ ความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 6 ปี กับการต้องบรรลุเป้าหมาย SDGs ให้ทัน แต่เราล่าช้าไปมาก จึงต้องหาวิธีดึงผู้นำจากประเทศต่างๆ ทุกภาคส่วนองค์กรเร่งรัด ให้เกิดการพูดคุยระดมสมองเพื่อให้SDGs นำไปสู่การปฏิบัติ”

การประชุมสุดยอดเพื่ออนาคตเป็นการ ร่วมกันระดมสมอง ค้นหาทางทางแก้ปัญหา ต่าง ๆของโลกที่ประสบร่วมกัน พร้อมกันกับรับมือกับความท้าทายแห่งอนาคต จากปัญหาซับซ้อนของโลก ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถแก้ไขได้เพียงลําพัง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายผ่านกรอบ ความร่วมมือพหุภาคี

“เป็นโอกาสในการมองอนาคตร่วมกันไม่ใช่แค่สมบัติของเรา แต่เป็นของลูกหลานร่วมกันทำให้มีสันติสุข ความเจริญ ความรุ่งเรือง ให้ครอบคลุมทุกด้าน ให้น้ำหนักผลประโยชน์แตกต่างกันแต่ละประเทศ มีทรัพยากร และการบริหารจัดการแตกต่างกัน การประชุมจึงช่วยสร้างความตกลงใจร่วมกันระดับโลก”


5 วาระเร่งด่วนคำมั่นเพื่ออนาคต
เร่งรัดเสริมทัพเป้าหมายSDGs

สำหรับประเด็นหารือที่UN ได้ร่วมกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน ที่จะต้องกำหนดความสำคัญและวางแนวทางสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ออกแถลงการณ์จากผู้นําประเทศต่าง ๆ ใน Summit of the Future เป็นการกำหนดผลลัพธ์ผ่านเอกสาร ‘Pact for the Future’ หรือ ‘คํามั่นเพื่ออนาคต’ ประกอบด้วย

1. การพัฒนาที่ยั่งยืนและการระดมทุนเพื่อการพัฒนา ทุนเป็นปัจจัยสำคัญเร่งรัดให้เกิดความคืบหน้า หากไม่มีเงินทุนเกิดขึ้นได้ล่าช้า
2. สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หลังจากมีหลายสถานการณ์ที่ส่งผลต่อความมั่นคงในโลก อาทิ ตะวันออกกลาง รัสเซีย ยูเครน เพื่อนบ้านไทยอย่างเมียนมาร์ รวมถึง ทะเลจีนใต้
3. วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม
4. เยาวชนและอนุชนคนรุ่นหลัง (future generations)
5. ระบอบธรรมาภิบาลของโลก

หลังจากกำหนด 5 ประเด็นสำคัญ ที่จะเป็นการส่งต่อโลกอนาคตที่ไม่ใช่เพียงให้เพื่อให้กับคนรุ่นปัจจุบัน แต่ยังรวมถึง ปุถุชนคนรุ่นหลัง ให้ร่วมกันขับเคลื่อน SDGs เป้าหมายปี 2030 มองสู่อนาคตร่วมกัน โดยวางเป้าหมายของผลลัพธ์จากการประชุมต้องการนำไปสู่การปฏิบัติโดยมีการกำหนด การดำเนินการ 60ข้อ ที่สมาชิกUN เห็นพ้องในการเร่งรัดการดำเนินงาน ร่วมมือกันสร้างความพยายามในการหาวิธีการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องจำเป็นเร่งด่วน พร้อมกันกับ เรื่องที่ไม่เร่งด่วน แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นถัดไปในอนาคต จึงไม่ใช่เพียงกรอบการบรรลุข้อตกลง SDGs 2030 แต่ยังรวมไปถึง การหาแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาาศ อาชญากรรมทางไซเบอร์ การปรับปรุงกฎระบียบและธรรมาภิบาล

ทั้งนี้กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนและกำหนดประเด็น โดยการร่วมมือกับ สถาบันยุติธรรม กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Children's Fund) หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) จัดเสวนาเพื่อให้เยาวชนมบทบาทในการให้ความเห็นในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในอนาคตในมุมมองของเยาวชน

“ประเด็นที่ไทยให้ได้ความสำคัญคือการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพ สนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไทยโดดเด่นยอมรับบนเวทีโลก และการขจัดความยากจน ที่ได้บรรลุเป้าหมายแล้ว รวมไปถึงการเร่งเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลภายในประเทศ”


ปิดช่องว่างเหลื่อมล้ำดิจิทัล
สู่โอกาสทองประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อตกลง Summit of The Future สิ่งสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรัพยากร การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเจากการปฏิรูปโครงสร้างระบบการการเงินของโลก ลดช่องว่างทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะช่วยลดช่องว่างและสร้างโอกาสในการพัฒนา มีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ อุตสาหกรรม ให้กับประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม แนวทางการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้ จะต้องมีแผนการปฏิบัติ 60 ข้อ ที่เป็นส่วนมาเสริม SDGs 17 ข้อ เพื่อเป็นการเติมเต็มการบรรลุการพัฒนาSDGs ต่อไป เพราะการพัฒนายั่งยืน จะเกิดขึ้นได้หากเริ่มต้นพูดคุยให้ความสำคัญกับการ ลดความขัดแย้ง ลดช่องว่างระหว่างกัน คำนึงถึงคนทุกกลุ่ม ทั้งบทบาทของเยาวชน งสิทธิเยาวชน คนรุ่นหลังที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้น ตลอดจนจะต้องมีการจัดทำกฎระเบียบและธรรมาภิบาลของโลก

“Summitt of the Future ถือเป็นการประชุมพิเศษแตกต่างจากการประชุมทั่วไป เป็นการประชุมครั้งแรก และครั้งเดียวที่มองไปข้างหน้าในระยะยาวนาน คำนึงถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ เยาวชนในปัจจุบัน โดยสืบทอดไปถึงรุ่นลูก หลาน เหลน โหลน หลีกเลี่ยงผลกระทบทั้งคนปัจจุบัน และคนรุ่นต่อไปในอนาคต”

ร่วมจุดประกายกำหนดวิสัยทัศน์โลก
จากความยินยอมของคนในชาติ

เวทีการประชุมจะถือเป็นการเปิดโอกาสที่ไม่มีวันสิ้นสุด ในการสร้างความร่วมมือกันในปัจจุบัน ที่จะส่งผลสะท้อนไปสู่โลกในอนาคต จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ (ฺBreakthrough) ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เพียง 6 ปีจะนำไปสู่การบรรลุSDGs โดยการพยายามเร่งรัดผ่านทางการทูต เพื่อแสวงหาโอกาสทองร่วมกัน ผ่านการหารือระดมสมองพัฒนาเสริมสร้าง ความเชื่อมั่น ในระดับพหุพาคี โดยมีUNเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ

“Summit of the Future เป็นการร่วมกำหนดวิสัยทัศน์โลกร่วมกัน ที่ไม่จะไม่สามารนำไปสู่การปฏิบัติได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศที่เกี่ยวข้องและคนในชาติ ร่วมกันสนับสนุนวิสัยทัศน์ระดับโลก จึงต้องให้ทุกภาคส่วน ร่วมมือกันขับเคลื่อนวาระ SDGs ร่วมกันตกลง 5 ด้านให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทุกคนมีส่วนทำให้โลกมีสันติสุข เจริญรุ่งเรืองเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง กรมฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน จุดประกาย เพื่อช่วยกันสร้างโลกน่าอยู่ต่อไป”