ซีพี ออลล์ จับมือพันธมิตร ติวเข้มเยาวชนสู่ Talent ลุยโปรเจกต์ AI ต่อยอดธุรกิจ

by ESGuniverse, 25 สิงหาคม 2567

ซีพี ออลล์ - เซเว่น อีเลฟเว่น ร่วมกับพันธมิตร ไทย-สิงคโปร์-ไต้หวัน จัดค่าย Creative AI Camp ปีที่ 7 ติวเข้มเยาวชนสู่ Talent ลุยโปรเจกต์ AI ต่อยอดธุรกิจ เพิ่มคนเก่งรับมือยุคแห่งอนาคต คาดทักษะ AI จะกลายเป็น Game Changer สร้างจุดต่างระหว่างคน-องค์กร-ประเทศ

 

 

ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในหลากหลายรูปแบบในหลากธุรกิจ ส่งผลให้ตลาดแรงงานมีความต้องการคนที่มีทักษะด้าน AI จำนวนไม่น้อย

รายงานผลสำรวจเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2567 ของแอมะซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) บริษัทในเครือ Amazon.com ร่วมกับบริษัท Access Partnership โดยสำรวจพนักงานกว่า 1,600 คนและนายจ้าง 500 รายในประเทศไทย พบว่า เมื่อ AI ถูกนำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ บุคลากรไทยที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้าน AI จะมีโอกาสได้ค่าจ้างเพิ่มมากกว่า 41%

โดย 2 หมวดที่มีโอกาสได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น คือด้าน IT (54%) และด้านการดำเนินธุรกิจ (51%) นอกจากนี้บุคลากร 98% ยังคาดว่าการเพิ่มทักษะด้าน AI จะส่งผลให้พวกเขามีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มความมั่นคง ขณะที่ความสนใจในการพัฒนาทักษะ AI เพื่อความก้าวหน้ามีอยู่ในทุกกลุ่มอายุ

จากผลสำรวจดังกล่าว ทำให้ ซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น ผนึกกำลังกว่า 30 พันธมิตรนานาชาติ รวมพลังจัดค่าย Creative AI Camp ปีที่ 7 ยกระดับทักษะเยาวชน ม.ปลาย-ปวช.-ปวส.-อุดมศึกษา เข้มข้น 3 เดือนเต็ม เปลี่ยนเยาวชนสู่ Talent ตัวจริงด้าน Business AI และ Technical AI พร้อมรับมือยุคที่ทุกคนต้องเก่ง AI ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ โดยมอบโจทย์ปัญหาจริงจากภาคธุรกิจและทีม Mentor ร่วมพัฒนาโปรเจกต์จาก 6 กลุ่มเทคโนโลยี AI เช่น Anomaly Detection, Computer Vision ควบคู่ฝึกทักษะแห่งอนาคต 6 ด้าน คาดทักษะ AI สร้างจุดต่างระหว่างคน-องค์กร-ประเทศ ขึ้นแท่น Game Changer

AI เพิ่มประสิทธิภาพผลิตได้มากถึง 5%

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ AI ส่งผลให้ AI ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสร้างแรงกระเพื่อมต่อทุกคน ทุกอาชีพมากขึ้น

บริษัทจึงร่วมมือกับพันธมิตรจากนานาประเทศ เดินหน้าจัดค่าย Creative AI Camp หรือ CAI Camp ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ภายใต้แนวคิด ‘AI for al’ เพื่อร่วมพัฒนาทักษะเยาวชนตั้งแต่ระดับม.ปลาย, ปวช., ปวส. และระดับอุดมศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัย ให้มีทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับโลกในอนาคต มีขีดความสามารถต่อยอด AI ไปใช้กับสายอาชีพ ธุรกิจต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาประเทศในอนาคต

“AI ในขณะนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของวิศวกร และคนทำงานสาย IT ขั้นสูง เพราะการมาถึงของเทคโนโลยี AI ในกลุ่ม Large Language Model เช่น ChatGPT ทำให้ AI เข้าถึงผู้คนในวงกว้างมากขึ้น เข้าไปสัมพันธ์กับทุกคน ทุกอาชีพ AI กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเคยใช้ เคยลอง และมีบทบาทอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม คาดการณ์ว่า AI จะเข้ามาช่วยเพิ่มทั้ง GDP และประสิทธิภาพการผลิตหรือ Productivity ได้ในระดับ 1-5% เราจึงมองว่าค่ายนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่แบ่งปันโอกาส สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งช่วยยกระดับศักยภาพทั้งเยาวชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้กลายเป็น Talent ที่พร้อมรับมือยุค AI for all”

 

 

 

พัฒนาคนเก่งด้าน Business AI
และ Technical AI

นายก่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า บริษัทประเมินว่าทักษะ AI จะกลายเป็นทักษะจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในเร็วๆ นี้ เหมือนที่เมื่อก่อนทักษะการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใหม่ แต่ก็พัฒนาจนกลายเป็นทักษะพื้นฐานของคนในปัจจุบัน ค่าย Creative AI Camp จึงมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Business AI คือกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจธุรกิจและสามารถนำ AI ไปประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาจริงทางธุรกิจได้ และกลุ่ม Technical AI กลุ่มที่มีทักษะเชิงลึกทางเทคโนโลยีในการพัฒนา AI

โดยบริษัทได้คัดเลือกเยาวชน 40 คนจากผู้สมัครหลายร้อยคนทั่วประเทศ เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาระยะเวลารวมกว่า 3 เดือน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การจัดคอร์สติวพิเศษผ่าน Future Skill แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่ทันสมัย เปิดให้ผู้สมัครทุกคนเรียนรู้ก่อนการสอบคัดเลือก การจัดคอร์สเรียนออนไลน์ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งไทยและต่างประเทศระหว่างค่าย การบูรณาการวิธีสร้างสรรค์ AI ผ่านปรัชญาการเล่นหมากล้อม ฝึกให้เยาวชนมองภาพกว้างมากขึ้น และเป็นนักจัดการที่ดี ตลอดจนการมอบโจทย์ปัญหาจริงจากภาคธุรกิจพร้อมทีม Mentor ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในวงการ AI เข้ามาช่วยแนะแนวทางสร้างสรรค์โปรเจกต์ AI เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น และรับฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการ

พัฒนา 6 ทักษะจำเป็นต่อเยาวชน

ด้านนายป๋วย ศศิพงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับโจทย์ปัญหาจริงที่ให้เยาวชนได้พัฒนาและนำเสนอต่อคณะกรรมการในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ จะโฟกัสไปที่การประยุกต์ใช้งาน 6 กลุ่มเทคโนโลยี AI เข้ากับภาคธุรกิจ ได้แก่

1.กลุ่มตรวจจับความผิดปกติ (Anomaly Detection) ลดภาระคนต้องไปตรวจจับเอง อาทิ การตรวจจับการทำบัญชีผิดปกติ การตรวจสอบธุรกรรม (Transaction) ที่ผิดปกติ ตรวจสอบการทำงานระบบ IT ผิดปกติ

2.กลุ่ม Computer Vision นำข้อมูลจากภาพมาแปลผล อาทิ การตรวจสอบคุณภาพ และการตรวจสอบความปลอดภัยด้วยภาพ การดูปริมาณ Traffic

3.กลุ่ม Data Visualization นำข้อมูลมาแสดงผลให้ทั้งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของเห็นประเด็นที่จะนำไปปรับปรุงพัฒนา

4.กลุ่มการพยากรณ์ (Forecasting) ช่วยพยากรณ์เพื่อการเตรียมตัวบริหารจัดการในอนาคตอย่างเหมาะสม อาทิ พยากรณ์ยอดขายร้าน พยากรณ์ผลของโปรโมชั่น พยากรณ์สภาพอากาศ

5.กลุ่มการจัดการความรู้ (Knowledge Management) นำฐานความรู้องค์กรมาจัดเก็บในรูปแบบที่องค์กรให้คำปรึกษาได้ เช่น Chatbot ตอบคำถามกฎระเบียบบริษัท หรือให้ข้อมูลวิธีการใช้เครื่องมือเฉพาะทางในองค์กร

6.กลุ่มเทคโนโลยีอื่นๆ ที่อาจใช้เทคโนโลยี Large Language Model (LLM) เป็นพื้นฐานในการต่อยอด

 

 

 

เบื้องต้น บริษัทเชื่อมั่นว่าค่ายจะช่วยพัฒนา 6 ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตให้แก่เยาวชน ได้แก่ 1.Critical Thinking การคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ 2.Problem Solving ทักษะการแก้ปัญหา 3.AI Ethics สร้างสรรค์ AI อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ 4.Adaptability การปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงแทบทุกวัน 5.Communication Skills ทักษะการสื่อสารในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และ 6.Creativity ความคิดสร้างสรรค์ ช่างคิด ช่างสงสัย เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

“AI เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น และกลายเป็น Game Changer ที่จะสร้างจุดแตกต่างระหว่างคน องค์กร และประเทศ ที่ใช้งานเป็นและไม่เป็น โลกจะต้องการทั้ง AI Engineer เข้ามาช่วยพัฒนา AI มากขึ้น และต้องการ Super User หรือสุดยอดผู้ใช้งาน ที่เข้าใจว่า AI จะเข้าไปทำอะไรได้ เปลี่ยนอะไรได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เปลี่ยนแปลงองค์กร ไปจนถึงสร้างการพัฒนาทางธุรกิจและเศรษฐกิจให้กับประเทศ ผู้ที่ไม่ปรับตัว จะได้รับผลกระทบสูงมาก ซีพี ออลล์และพันธมิตร จึงพัฒนาคนในองค์กร ให้มีศักยภาพการใช้งาน AI มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่องผ่าน Creative AI Camp เพิ่มคนเก่งรับมือยุคแห่งอนาคตต่อไป” นายป๋วย กล่าว

ทั้งนี้ การจัดค่าย Creative AI Camp ปีที่ 7 ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในสายงาน AI มากกว่า 30 ราย แบ่งเป็นทั้งกลุ่มสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง ประเทศไต้หวัน, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต

กลุ่ม Mentor และผู้สนับสนุนเครื่องมือ อาทิ บริษัท โกซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (AWS) บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, The Sun Plex Engineering And Software Co., Ltd., Ambient19 Co., Ltd., บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ฯลฯ โดยมีทีมงาน ตลอดจนผู้บริหารระดับ CEO และผู้ก่อตั้งของแต่ละองค์กรร่วมเป็น Mentor ด้วย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรเทคโนโลยีระดับโลกและมาร่วมเป็นวิทยากรแบ่งปันองค์ความรู้ในนามส่วนตัว และกลุ่มผู้สนับสนุนโจทย์ปัญหา เป็นผู้คัดเลือกโจทย์น่าสนใจที่เผชิญจริงในภาคธุรกิจ

สำหรับค่าย Creative AI Camp จัดขึ้นภายใต้นโยบายสร้างคนผ่านการศึกษา ตามปณิธานองค์กร ‘Giving & Sharing’ มุ่งเน้นให้เหล่าเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้พัฒนาทักษะความสามารถจนเป็น ‘คนพันธุ์ AI หัวใจโกะ’ (CreativeAIness) วิถีความเป็นมนุษย์ AI สร้างสรรค์ สามารถสร้างสรรค์ AI ผสมผสานปรัชญาหมากล้อม เพื่อประโยชน์ของสังคม และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต ซึ่งค่ายจะจัดแบบเข้มข้น 3 เดือนเต็ม เปลี่ยนเยาวชนสู่ Talent ตัวจริงด้าน Business AI และ Technical AI พร้อมรับมือยุคที่ทุกคนต้องเก่ง AI ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์