นิสิต จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล ‘โคโค่แลมป์’ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง

by ESGuniverse, 8 สิงหาคม 2567

นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผุดไอเดียนวัตกรรม ‘โคโค่แลมป์’ อุปกรณ์ครอบหลอดไฟ เบนแสงไฟบริเวณชายหาดที่รบกวนการวางไข่ของเต่าทะเล และช่วยลูกเต่าคลานลงทะเลได้อย่างปลอดภัย เพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และเต่าทะเล

 

 

วิกฤตทะเลเดือด ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สัตว์น้ำสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ หนึ่งในนั้นคือ เต่าทะเล ข้อมูลจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ระบุว่า ทั่วโลกพบเต่าทะเลจำนวน 7 ชนิด ขณะที่ในประเทศไทยพบ 5 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหัวค้อน เต่ามะเฟือง และเต่าหญ้า งานวิจัยที่ผ่านมา ยังระบุว่า เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ถึงปีละ 10,000 รัง ต่างจากปัจจุบันที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เพียงปีละ 500 รัง เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงมาก

สาเหตุที่เต่าขึ้นมาวางไข่ลดลง มาจากหลายประการ เช่น การบริโภคไข่เต่าของคนสมัยก่อน กิจกรรมการประมง เต่าตายจากการบริโภคขยะพลาสติก จำนวนเต่าเพศผู้เพศเมียไม่เท่ากัน ทำให้การผสมพันธุ์น้อยลง

รวมถึงความเจริญของบ้านเมือง ซึ่งหมายถึงแสงไฟจากโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหารบริเวณชายหาดที่เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล แสงไฟเหล่านี้รบกวนการวางไข่ของแม่เต่าทะเล ที่สำคัญคือมีผลทำให้ลูกเต่าที่ฟักออกมาเกิดความสับสน แทนที่จะเดินลงทะเล กลับเดินไปยังพื้นที่ที่มีแสงสว่าง เป็นเหตุให้ลูกเต่าจำนวนไม่น้อยต้องติดอยู่บนชายหาด เสี่ยงต่อการถูกล่า ทำร้าย และขาดน้ำตายในที่สุด

 

 

 

นิสิตจุฬาฯ พัฒนา ‘โคโค่แลมป์’ ปกป้องลูกเต่า

จากปัญหาดังกล่าว เป็นแรงผลักดันให้ทีม Turtle Rangers นิสิตจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนา ‘โคโค่แลมป์’ อุปกรณ์ครอบหลอดไฟที่จะช่วยเบนแสงไฟให้เหมาะสมกับเต่าทะเลตามหลัก Turtle friendly เพื่อให้ลูกเต่าคลานลงทะเลได้อย่างปลอดภัย

นางสาวมนพัทธ์ สีเงิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกทีม Turtle Rangers กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาโคโค่แลมป์ว่า ได้ศึกษาข้อมูลตัวอย่างจากเกาะแอนนามาเรีย รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แสดงให้เห็นว่าการจัดแสงไฟให้เป็นมิตรต่อเต่าทะเลสามารถลดจำนวนลูกเต่าหลงทางได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงคิดค้นนวัตกรรม ‘โคโค่แลมป์’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาแสงไฟที่รบกวนการวางไข่ และการคลานลงทะเลของลูกเต่าทะเล ในขณะเดียวกันยังไม่เปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์

“พวกเราอยากให้คนและเต่าอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

  

 

 

โคโค่แลมป์เป็นมิตรต่อเต่าทะเลและธรรมชาติ

นางสาวมนพัทธ์ เล่าว่า โคโค่แลมป์เป็นนวัตกรรมครอบหลอดไฟเบนแสงสำหรับเต่าทะเล ที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับหลักการจัดแสงที่เป็นมิตรต่อเต่าทะเล ตามข้อเสนอแนะขององค์กรบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าแสงไฟต้องอยู่ในระดับต่ำ ใช้หลอดไฟที่มีคลื่นแสงยาว และมีอุปกรณ์ครอบหลอดไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้แสงไฟส่องไปทางทะเล

นอกจากจะออกแบบอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อเต่าทะเลแล้ว ทีม Turtle Rangers ยังออกแบบโคโค่แลมป์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย

 

 

 

“โคโค่แลมป์ผลิตจากเส้นใยมะพร้าวที่ได้จากชุมชน โดยมียางพาราเป็นตัวเชื่อมประสานและเคลือบด้วยซิลิกาจากแกลบข้าว ซึ่งยางพารามีคุณสมบัติในการเคลือบเส้นใยและยึดติดเส้นใย ทำให้วัสดุแข็งแรง ยืดหยุ่น และทนทานต่อน้ำ ส่วนซิลิกาจากแกลบข้าวช่วยป้องกันน้ำ ฝุ่นละออง และคราบสกปรก โคโค่แลมป์จึงคงทน ติดตั้งง่าย ใช้งานได้ในทุกสภาพแวดล้อม ราคาไม่แพง และที่สำคัญย่อยสลายได้ในธรรมชาติ”

 

 

 

ติดตั้งและใช้งานโคโค่แลมป์อย่างไร

นางสาวมนพัทธ์ กล่าวต่อว่า การติดตั้งและใช้งานโคโค่แลมป์น้้น เพียงนำอุปกรณ์โคโค่แลมป์ไปครอบหลอดไฟบริเวณชายหาด ที่มีการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืนและมีรายงานการพบเต่าทะเลมาวางไข่ โคโค่แลมป์ก็จะช่วยเบนทิศทางของแสงไฟไม่ให้สาดหรือส่องไปทางทะเล

“การติดตั้งโคโค่แลมป์จะช่วยปรับสภาพแวดล้อมบริเวณชายหาดเหมาะสมกับการวางไข่และฟักตัวของเต่าทะเล และยังจะช่วยให้ลูกเต่าที่ฟักออกจากไข่คลานลงทะเลได้อย่างปลอดภัย”

นอกจากอุปกรณ์ครอบหลอดไฟแล้ว โคโค่แลมป์ยังใช้ Line Chatbot เพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลและประเมินผลการใช้งานของอุปกรณ์ภายหลังการติดตั้งและใช้งานจริง

“ผู้ใช้งานสามารถส่งข้อมูลและรายงานผลการติดตั้งและประสิทธิภาพของโคโค่แลมป์ผ่านทาง Line Chatbot ซึ่งจะทำให้มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อวิเคราะห์ผลการใช้งาน นอกจากนี้ Chatbot ยังสามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการติดตั้งและการดูแลรักษาโคโค่แลมป์ด้วย”

 

 

 

ปลุกจิตสำนึกรักษ์เต่าทะเล
หนุนเศรษฐกิจและท่องเที่ยวชุมชน

โคโค่แลมป์ไม่เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ช่วยปรับสภาพแวดล้อมบริเวณชายหาดให้เหมาะสมกับการวางไข่และการฟักตัวของเต่าทะเล แต่ทีม Turtle Rangers ยังหวังให้นวัตกรรมนี้จุดประกายให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในสังคม ได้แก่ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการและคนในท้องถิ่น หันมาร่วมกันอนุรักษ์เต่าทะเลและสิ่งแวดล้อม

“พวกเราเชื่อว่าการติดตั้ง และใช้นวัตกรรมนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์เต่าทะเลที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เกี่ยวข้องกับเต่าทะเล ซึ่งสามารถสร้างรายได้มากกว่าการล่าเต่าเพื่อเป็นอาหารและเครื่องประดับถึง 7 เท่า เป็นการรักษาสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน”

เตรียมพัฒนาสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทีม Turtle Rangers กำลังพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของโคโค่แลมป์ ในห้องทดลอง ก่อนที่จะผลิตอุปกรณ์เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่จริง ที่ได้สำรวจไว้แล้วเพื่อประเมินผลการใช้งาน

“ในอนาคต พวกเรามีแผนที่จะพัฒนาโคโค่แลมป์ให้เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ และตั้งใจว่าจะออกแบบนวัตกรรมอื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นางสาวมนพัทธ์ กล่าวทิ้งท้าย