ประเทศไทยเข้าใกล้ความยั่งยืนอีกขั้น ด้วยสวัสดิการคู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม

by ESGuniverse, 13 กรกฎาคม 2567

ส่องนโยบาย ‘เคทีซี’ ดูแลสวัสดิภาพคู่ชีวิตของพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ และคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน ลดความเหลื่อมล้ำ หนุนประเทศไทยเข้าใกล้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อ 5 ที่ว่าด้วย ความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ

 

 

เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานสำหรับ Pride Month ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs โดยไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายและเปิดกว้างทางเพศอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่า การต่อสู้ ฟาดฟัน เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น กำลังจะเกิดขึ้นจริงในไทย หลังร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา 3 วาระ รอเพียงบังคับใช้เป็นกฎหมาย อีกราว 120 วัน

ในส่วนของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นชุดเป้าหมาย 17 ข้อที่รับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจคือเป้าหมายข้อที่ 5 ‘ความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ

สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน
รากฐานของอนาตตที่ยั่งยืน

ความเท่าเทียมทางเพศ ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นรากฐานที่จําเป็นสําหรับอนาคตที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภายในบริษัท โดยรับรองโอกาสที่เท่าเทียมกัน การจ่ายเงิน และการเป็นตัวแทนสําหรับพนักงานทุกคน โดยไม่คํานึงถึงเพศ ดําเนินนโยบายและแนวปฏิบัติที่สนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตการทํางานและการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรทั้งชายและหญิง ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมสถานที่ทํางานที่หลากหลายและครอบคลุม ซึ่งให้ความสําคัญกับความแตกต่างด้วยการส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ

กล่าวคือ ทุกบริษัทสามารถมีส่วนร่วมใน SDG ข้อ 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) สร้างสังคมที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันมากขึ้น ด้วยการดูแลพนักงานภายในบริษัทอย่างไม่มีแบ่งแยกเพศสภาพ

 

 

 

สวัสดิการคู่สมรส
สวัสดิการดีๆที่คนไทยยังไม่เลือกใช้

นอกเหนือจากสวัสดิการ สิทธิประกันสังคม ‘สวัสดิการคู่สมรส’ ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นานาบริษัทในประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญนัก ทั้งที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต เคทีซี หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคทีซีให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) โดยเฉพาะการให้ ‘โอกาส’ และ ‘ความเท่าเทียมในสังคม’

เสริมสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมบนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ทั้งในเรื่องการจ้างงานเพื่อลดช่องว่างในตลาดแรงงาน การปฏิบัติต่อบุคลากรในองค์กรทุกเพศ ทุกคนอย่างเท่าเทียม และคำนึงถึงทุกแง่มุมในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน สุขภาพ ครอบครัว และความก้าวหน้าในอาชีพ

“ทุกกลุ่มจะได้รับสิทธิเหมือนคู่สมรสทุกประการ อาทิ สวัสดิการประกันสุขภาพทุกระดับตำแหน่ง เงินสวัสดิการช่วยเหลือกรณีแต่งงานและกรณีครอบครัวเสียชีวิต การปฏิบัติที่เท่าเทียมต่อความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดยืนของเคทีซี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างยั่งยืน”

LQBTQIAN+ กับสวัสดิการคู่สมรส

จากการสอบถามพนักงานเคทีซี ถึงสวัสดิการคู่สมรสว่าเป็นสิ่งที่พนักงานทุกบริษัท ทั่วประเทศควรได้รับหรือไม่ กัณตพัษญ์ พาลี Assistant Manager - Airlines & KTC World Travel Service Marketing เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความคิดเห็นว่า ควรมีสวัสดิการคู่สมรส เนื่องจากในปัจจุบัน มีจำนวนกลุ่ม LGBTQIAN+ จำนวนมาก ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นคนที่มีศักยภาพ มีความสามารถ บางท่านยังสามารถเป็นแบบอย่างในการช่วยเหลือสังคมได้ในด้านที่แตกต่างกันไป

“แต่ละคนไม่ได้อยู่เพียงลำพัง พวกเขาอาจจะมีใครสักคนที่อยู่เคียงข้าง ที่ดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างที่ทุกคนร้องขอ หรือต้องการอยากจะให้เป็นจริงๆ สวัสดิการคู่สมรสก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่เกินไปที่แต่ละองค์กรจะเริ่ม เพื่อให้เกิดคำว่าเท่าเทียมอย่างแท้จริง”

กัณตพัษญ์ มองว่า เรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดของคู่รัก หากวันนึงที่ต้องมีการตัดสินใจอย่างยากลำบากในการรักษา คนที่อยู่ด้วยกัน คนที่เป็นคู่ชีวิตควรเป็นคนตัดสินใจมากกว่าคนอื่น ญาติอาจจะไม่รู้จักพวกเขาเหล่านั้นดีด้วยซ้ำ

 

 

 

โดยรพีพรรณ วังค์พงษ์กุล Assistant Manager KTC World Travel Service กล่าวเสริมว่า อยากให้ทุกบริษัทได้ให้สวัสดิการของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจที่บริษัทได้เล็งเห็นถึงความเท่าเทียมของบุคคลรกรได้ดี สำหรับสมรสเท่าเทียมสะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมได้เป็นอย่างดี จากความคิดก่อนหน้านี้ ยังรู้สึกว่าเข้าถึงสิทธิ์บางอย่างทางกฎหมายไม่ได้ เช่น การกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และ ยานพาหนะ ที่ไม่สามารถทำร่วมกันได้

ด้าน สันทัศน์ วังค์พงษ์กุล Senior OfficeKTC World Travel Service เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความคิดเห็นถึงกฏหมายสมรสเท่าเทียมที่กำลังจะบังคับใช้ว่ารู้สึกดีใจอย่างมาก คนที่รักกันแต่สมรสไม่ได้ หรือ ชายหญิงข้ามเพศก็จะได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญในเรื่องทรัพย์สิน ที่บางอย่างร่วมสร้างกันมา หากในอนาดตจำเป็นต้องแยกกันอย่างน้อยจะได้ไม่มีปัญหาเวลาแยกกัน

 

 

 

กฏหมายสมรสเท่าเทียมในไทย
ใบเบิกฟ้าแห่งความยั่งยืน

ในส่วนของกฏหมายสมรสเท่าเทียม คาดว่าจะบังคับใช้ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 ข้อมูลจาก iLaw ได้ชี้แจงประเด็นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า สาระสำคัญคือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรสในหลายมาตรา เพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวจากเดิมที่จำกัดไว้เฉพาะชาย-หญิง เป็นบุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิจดทะเบียนสมรสกันได้ โดยแก้ไขรายละเอียดปลีกย่อยหลายประเด็น อาทิ

  • การหมั้น : บุคคลสองคนสามารถทำการหมั้นได้ แต่ปรับอายุขั้นต่ำสำหรับ บุคลลที่จะทำการหมั้นได้จาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ กรณีที่ยังเป็นผู้เยาว์มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หากจะทำการหมั่นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง

ซึ่งจะมีการแก้ไขคำว่า ชาย-หญิง-สามี-ภริยา เป็นคำว่า บุคคล-ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น และคู่สมรส, การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินให้แก่ผู้รับหมั้น, หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ให้มีสิทธิเรียกค่าทดแทน, ห้ามการสมรส ในกรณีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือสืบสายโลหิตเดียวกัน และ หากผู้รับหมั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้คืนของหมั้น

  • การสมรส : บุคคลสองคนสามารถสมรสกันได้ โดยปรับอายุขั้นต่ำที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้จาก 17 ปีเป็น 18 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นจะมีเหตุอันสมควร เช่น มีครรภ์ก่อนอายุ 18 ศาลอาจอนุญาตให้สมรสก่อนนั้นได้ ทั้งนี้กรณีที่ยังเป็นผู้เยาว์ มีอายุตำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หากจะทำการหมันต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง

สิทธิประโยชน์ในสถานะ "คู่สมรส" ได้แก่ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส, ฟ้องหย่า แบ่งทรัพย์สินเรียกค่าเลี้ยงดูได้, ฟ้องชู้เรียกค่าเสียหายได้, คู่สมรสต่างชาติขอสัญชาติไทยได้ และ มีสิทธิ์จัดงานศพของอีกฝ่ายได้