4 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สะท้อนมุมมอง ความหลากหลาย ที่ไม่แตกต่างในสังคม ผ่านเวที SX TALK SERIES

by ESGuniverse, 12 กรกฎาคม 2567

เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง ความหลากหลาย ที่ไม่แตกต่างในสังคม ผ่าน 4 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มุ่งสู่เป้าหมายโลกที่สะท้อนความยุติธรรมสากลสู่ความเสมอภาคด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน บนความหลากหลายทางเพศ ปี 2030

 

การเปิดเผยตัวตนเรื่องรสนิยมทางเพศเป็นเรื่องที่เปิดกว้างและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น นำไปสู่ความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพศหญิง และเพศชาย SX TALK SERIES ครั้งที่ 4 กับหัวข้อ HEALTHY PRIDE ‘หลากหลายอย่างมีสุข’ โดย 4 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้อธิบายเกี่ยวกับทัศนคติ ของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (LGBTQ+) กับการเปิดรับของสังคมและความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างน่าสนใจ

  

 

รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้ให้บริการสุขภาพทางเพศอย่างเท่าเทียม กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดว่าภายในปี 2030 ผู้คนทั่วโลกกำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมายโลกที่สะท้อนความยุติธรรมสากลสู่ความเสมอภาคด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน บนความหลากหลายทางเพศ โดยจะไม่มีใครต้องเผชิญกับภาวะสุขกายและจิตอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป

สำหรับ คลินิกสุขภาพเพศ หรือ Gender Health Clinic ของ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มุ่งเน้นการยกระดับการบริการสุขภาพทางเพศครบวงจรอย่างเท่าเทียม โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 เพื่อภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทีมแพทย์สหสาขา ซึ่งเป็นไปตาม The World Professional Association for Transgender Health (WPATH)

 

 

 

‘ความหลากหลาย ไม่ใช่ความผิดปกติ’

อ.นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า รสนิยมทางเพศ ความรู้สึกนึกคิด เพศสภาพที่อาจจะสอดคล้องกับจิตใจหรือไม่สอดคล้อง อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ถือเป็นความหลากหลายไม่ใช่ความผิดปกติ

จากข้อมูลในอดีต พบว่าการบำบัดแก้เพศวิถี หรือ Conversion Therapy การเปลี่ยนรสนิยมหรืออัตลักษณ์บุคคลให้ตรงกับร่างกายไม่ประสบความสำเร็จ ทำไปแล้วยิ่งสร้างความเครียด ปัจจุบันจึงมีแนวคิด Gender affirming care คือเปลี่ยนร่างกายให้ตรงกับจิตใจ และพบว่าหลังจากทำมาระยะหนึ่ง กลุ่มคนเพศหลากหลายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น แต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนเพื่อเป็นคนข้ามเพศที่สมบูรณ์ ทุกคนครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว กระบวนการจากแพทย์คือการทำให้ ‘เราได้เป็นเราในเวอร์ชั่นที่เราพอใจ’ และเหมาะสม การเปลี่ยนแปลง มีหลายวิธี ทั้งทางภายนอก และภายใน ต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อไม่เกิดผลเสียกับร่างกาย จึงต้องปรึกษากับแพทย์

เปลี่ยนความคิด กินยาคุม (≠) ฮอร์โมน

ผศ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า หลายคนอาจไปซื้อยาคุมกำเนิดตามร้านขายยามาใช้ เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยปรับฮอร์โมนเรื่องเพศ ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรใช้ในการข้ามเพศ เพราะมีความเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดอุดตันถึง 20 เท่า ควรใช้ฮอร์โมน natural estrogen คือฮอร์โมนที่เกิดจากธรรมชาติดีที่สุด

สิ่งสำคัญก่อนการใช้ฮอร์โมน แนะนำว่าควรเก็บเซลล์สืบพันธุ์ไว้ก่อนทุกกรณี เพราะถ้าใช้ฮอร์โมนแล้วจะส่งผลเสียต่อเซลล์สืบพันธุ์ และถ้าเป็นในกลุ่มเด็กจะไม่ใช้ฮอร์โมนแต่ใช้การดูแลและความเข้าใจจากครอบครัว โรงเรียน ถ้าในกลุ่มวัยรุ่นจะเริ่มใช้ยาฉีดเพื่อไปกดการพัฒนาของหน้าอก และอัณฑะ และสำหรับวัยผู้ใหญ่ ต้องดูว่าร่างกายมีข้อห้ามหรือไม่ เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งบางอย่าง จะไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้ ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมน หรือผ่าตัด ทุกคนสามารถเป็น Transgender ได้ สามารถเข้าไปปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง

 

 

 

เข้าใจ เตรียมพร้อม ข้ามเพศอย่างปลอดภัย

ผศ.พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การผ่าตัด เมื่อก่อนจะเรียกว่าผ่าตัดแปลงเพศ แต่ในปัจจุบันเรียกว่าการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ จริง ๆ แล้วไม่มีผิดหรือถูก แต่เป็นการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพื่อความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น การผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2518

สำหรับการเตรียมตัวผ่าตัดในส่วนอวัยวะเพศ ต้องได้รับฮอร์โมนอย่างน้อย 6 เดือน และต้องใช้ชีวิตแบบที่ต้องการจะเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนติดต่อกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าหากผ่าตัดแล้วจะไม่รู้สึกเปลี่ยนใจ เสียใจ ในภายหลัง เพราะไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาได้ การดูแลก่อนผ่าตัด ต้องหยุดการใช้ฮอร์โมน เพราะการผ่าตัดใช้เวลานาน อาจมีภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ หยุดสูบบุหรี่ การจะผ่าตัดยืนยันเพศสภาพต้องมีความพร้อม เพราะเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอวัยวะเพศที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับได้ การผ่าตัดนี้พบว่าคนไข้มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเข้าใจโรค การผ่าตัด การดูแลตนเอง เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่ดี ทำให้สามารถผ่านการยืนยันเพศสภาพและการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย