KFC นำร่องหลักสูตรการเรียนที่ยืดหยุ่น แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

by ESGuniverse, 7 มิถุนายน 2567

KFC จับมือกองทุนเพื่อความเสมอภาคฯ เดินหน้าโครงการ KFC Bucket Search ปีที่ 2 ค้นหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่ก้าวพลาด จัดหลักสูตรการเรียนที่ยืดหยุ่น พร้อมเปิดห้องเรียนเคเอฟซี พัฒนาทักษะอาชีพ

 

 

ปัญหา ‘เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา’ เป็นวิกฤตที่เรื้อรังมานาน แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาทางแก้ไขแล้ว แต่ก็ใช่ว่าปัญหานี้จะหมดไปทันที เพราะการตามหาเด็กแต่ละคนที่หล่นหายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 สูงสุดถึง 1.02 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี

เปิดสาเหตุเด็กนอกระบบการศึกษา
ส่วนใหญ่มาจากความยากจน

ข้อมูลจาก กสศ.รายงานอีกว่า จากการวิเคราะห์จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา จำแนกตามสาเหตุพบว่า อันดับแรกสาเหตุมาจากความยากจนราว 46.70% ตามด้วยมีปัญหาครอบครัว 16.14% ออกกลางคัน/ ถูกผลักออก 12.03% ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา 8.88% ปัญหาสุขภาพ 5.91% อยู่ในกระบวนการยุติธรรม 4.93% และได้รับความรุนแรง 3.63% ซึ่งในแต่ละสาเหตุ ยังมีอีกหลายปัจจัยแยกย่อย ถ้าหากไม่แก้ไข ก็จะกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ

รัฐตั้งเป้า Zero Dropout ภายในปี 2570

การทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหานี้ ได้มีการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อติดตามนำเด็กที่ต้องเลิกเรียนกลางคันกลับเข้าสู่การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตยุคปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Zero Dropout ภายในปี 2570 โดยให้ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐเอกชน ท้องถิ่น ติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา บูรณาการทำงานร่วมกัน

 

 

 

KFC Bucket Search
เปิดห้องเรียนหลักสูตรนอกกรอบ

ในส่วนของภาคเอกชน เคเอฟซี ประเทศไทย เป็นหนึ่งแบรนด์ที่ลุกขึ้นมาร่วมแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา ผ่านการพัฒนาทักษะ และศักยภาพให้กับเยาวชนที่ขาดโอกาส โดยเฉพาะเยาวชนที่ก้าวพลาด และต้องการโอกาสที่สอง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีความยากและท้าทายที่สุด จึงได้ร่วมมือกับ กสศ. และศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ เดินหน้าโครงการ KFC Bucket Search เป็นปีที่ 2 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยมอบโอกาสให้เด็กได้เลือกการเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง ‘แบบยืดหยุ่น’ ทั้งด้านเวลาและวิชาเรียน ผ่านทางเลือก Work & Study หรือหลักสูตรวิชาชีพที่ตอบสนองความต้องการของแต่ละคน ช่วยให้พวกเขาสำเร็จการศึกษา และพึ่งพาตนเองได้

พร้อมเปิดตัว ‘ห้องเรียนเคเอฟซี’ และสร้างหลักสูตรนอกกรอบ หรือ ‘หลักสูตรทักษะอาชีพ และการเป็นผู้ประกอบการ’ เพื่อปลดล็อกกำแพงต้นทุนชีวิตให้กับเด็กไทย โดยเป็นการนำร่องการศึกษายืดหยุ่นที่เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านการทำงาน และเรียนไปพร้อมกัน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงานกับเคเอฟซี

รวมถึงได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ ตั้งแต่งานหลังร้านไปจนถึงงานบริการ ตัวอย่างวิชาเรียน เช่น

- ด้วยใจรักนักบริการ ที่จะเรียนรู้เรื่องของงานบริการในร้านอาหาร รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ

- วิชาจักรวาลภาษาในโลกธุรกิจ เพื่อให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเบื้องต้นในการทำงาน

- พิเศษอีกวิชาของเคเอฟซีคือ ตัวตึงวงการอาหาร และปรมาจารย์ด้านการครัว ที่จะทำให้เข้าใจมาตรฐานการทำสินค้าให้อร่อยถูกสุขลักษณะในทุกคำ

เคเฟซี เอกชนแบรนด์แรกนำร่องการศึกษายืดหยุ่น

นายเศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า เคเอฟซีริเริ่มหลักสูตร KFC ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ โดยเป็นเอกชนแบรนด์แรกในการนำร่องการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และมีเด็กเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อมอบโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจและความเหมาะสมของตัวเด็กเอง

โครงการ KFC Bucket Search จะสร้างประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะจำเป็นเหมาะสมกับการทำงานในตลาดงานยุคปัจจุบันและอนาคต ด้วยหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริง พร้อมทั้งได้รับความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในปัจจุบันและอนาคต โครงการนี้สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบให้ภาคเอกชนอื่น ๆ ที่มีวิสัยทัศน์คล้ายคลึงกันสามารถเข้ามาร่วมแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาด้วยกันได้

การศึกษาไม่ได้มีทางเลือกเดียว

นางสาวภัทรา ภัทรสุวรรณ ผู้อำนวยการตลาด บริหารแบรนด์ เคเอฟซี บริษัท ยัม เรสเทรองส์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเสริมว่า ในโลกปัจจุบันการศึกษาไม่ได้มีทางเลือก หรือทางเดินเพียงทางเดียว เราสามารถให้โอกาสการศึกษากับเด็กและเยาวชนในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ เพื่อให้เขาได้แสดงศักยภาพที่เขามีอยู่ออกมา

“โครงการ KFC Bucket Search เราได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ผู้พันแซนเดอส์’ ที่เป็นเด็กนอกระบบเหมือนกัน ผู้พันไม่ได้จบการศึกษาใด ๆ ไม่เคยได้รับโอกาสมากมาย ซึ่งมันเกิดจากความเชื่อมาตั้งแต่แบรนด์ของเรา ถ้าหากเราให้โอกาสคน ได้พัฒนาศักยภาพคน เราจะทำให้เขาต่อยอดไปสู่ความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าในชีวิตได้”

การให้โอกาสเด็กที่ยั่งยืนไม่ใช่ให้ทุนการศึกษา
แต่ต้องให้ทักษะใช้ชีวิต

นางสาวภัทรา กล่าวต่อว่า KFC Bucket Search เป็นการค้นหาเด็ก ซึ่งเราก็เลือกกลุ่มที่ยากที่สุดคือกลุ่มที่ต้องการโอกาสที่สอง เพราะเรามองว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเลือกเด็กที่มีศักยภาพพร้อมอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนเกิดมาแล้วจะมีความพร้อม พอเราเจอเด็กคนนึงแล้วสามารถดึงศักยภาพที่เขามี ในแบบของเขาโดยไม่จำเป็นต้องเป็นแพทเทิร์น เราแค่สร้างความมั่นใจให้เขาออกมา ในสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น เราอยากให้เขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง

“การสร้างเด็กหนึ่ง ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่แค่การลงทุนในเรื่องของเงินหรือให้ทุนการศึกษา แต่มันคือการสร้างทักษะชีวิตด้วย ซึ่งเราต้องใช้พลังมากกว่าเงินทุนเพื่อให้ได้ผลที่ยาวขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่เรามองอาจจะไม่ใช่จำนวนตัวเลขเด็กที่เราจะค้นหาและให้โอกาส เคเอฟซีได้วางเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการเพื่อมอบโอกาสให้เด็กที่หลุดออกจากระบบในพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วไทย

โดยใช้กลไกเคเอฟซีที่มีกว่า 1000 สาขาทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยให้เด็กๆ ได้นำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดอาชีพการงาน สร้างรายได้เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย

โดยหลัก ๆ เด็ก ๆ ที่เข้ามาอาจจะได้เรียนรู้กับเคเอฟซี แต่เราก็เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ในวิชาชีพอื่น ๆ ที่เขาอยากเป็น เช่น อยากเป็นช่วงตัดผม หรือเปิดร้านกาแฟ เราก็ต้องฝึกทักษะให้เขา เพื่อให้เขาไปต่อยอดได้”

ทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง

สำหรับโครงการ KFC Bucket Search ในช่วงเริ่มต้น ปี 2566 มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 130 คนที่ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่สังคมโดยมีทางเลือกที่เริ่มจากตัวเยาวชน ซึ่งช่วยให้เยาวชนสามารถเข้าเรียนตามเงื่อนไขชีวิต และที่สำคัญสามารถเรียนตามความสนใจและถนัดของตนเองได้

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และเคเอฟซี ได้ตั้งเป้ายกระดับชีวิตของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวน 300 คน ภายในปี 2567 ผ่านการจุดประกายความหวังด้านการศึกษา และเปิดประตูสู่อาชีพที่ดีในอนาคต ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘ทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง’

เด็กหลุดนอกระบบ โจทย์ใหญ่รัฐบาล

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาควบคู่กับการทำงานให้แก่เด็กนอกระบบ เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของ Thailand Zero Dropout เนื่องจากภาคเอกชนมีความสามารถที่เข้มแข็งกว่าภาครัฐในการเชื่อมโยงระหว่างโลกของการศึกษากับโลกของการทำงาน

จากการวิจัยสำรวจของกสศ. ในกลุ่มเด็กนอกระบบ 35,003 คน ทั่วประเทศ พบว่า เด็กประมาณร้อยละ 50 มีความต้องการได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพและสนับสนุนการประกอบอาชีพที่โดดเด่นขึ้นมา แสดงถึงแรงจูงใจภายในที่เห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพมากกว่ามุ่งเป้าหมายไปที่การได้รับการศึกษาแต่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต

ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาใหม่ที่ KFC ได้ร่วมพัฒนาขึ้น จึงถือเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต รวมถึงเป็นรูปธรรมสำหรับครูในโลกยุคใหม่ ทำให้ทุกคนที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ สามารถเป็นครู เป็นผู้สร้างการเรียนรู้ และช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้

“กสศ.ก็ได้รับโจทย์จากรัฐบาลให้ช่วยให้ไทยไปสู่เป้าหมาย Zero Dropout เราต้องลดจำนวนเด็กที่หลุดออกไปให้ลดลงให้ได้ แต่ละประเทศเขาจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกัน เด็กที่อยู่นอกระบบจะมีความซับซ้อน และยาก เราต้องลงพื้นที่ การค้นหาเด็กแต่ละคนว่าอยู่ที่ไหน ยากมาก และต้องหาแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วยกัน เพราะตอนนี้ ถ้าดูแนวโน้มประชากรของไทยจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่า “คนจะแก่ก่อนรวย” ซึ่งน่ากังวลไม่น้อย กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เราต้องร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา ทั้งคนที่อยู่ในตลาดแรงงาน และภาคการศึกษาต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น”

สกร.มองกำหนดเป้าหมายชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนในฝั่งภาคการศึกษา นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กล่าวว่า ณ วันนี้การศึกษามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในส่วนของ สกร.ได้ปรับตัวจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเฉพาะ แต่ตอนนี้ขอบเขตการทำงานของเรากว้างขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนรู้คนทุกช่วงวัย การศึกษายืดหยุ่น มองว่า การที่เราจะพัฒนาหลักสูตรเพื่อเสริมทักษะให้เด็กและเยาวชน ด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องมองเรื่องการ ‘กำหนดเป้าหมายชีวิต’ ด้วยการที่เราจะให้การศึกษายืดหยุ่น เด็กต้องมีเป้าหมายชีวิต เพื่อที่เราจะให้โอกาสเขาได้ถูกทาง อีกทั้งยังต้องทำความเข้าใจในตัวของเด็ก ระบบการศึกษาก็ต้องไปดีไซน์ หลักสูตร รายวิชาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้เขาสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เมื่อมีประสบการณ์ก็ไปต่อยอดวิชาชีพได้

จับมือกันทำงาน ไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง

ด้าน นางจารุวรรณ บุญโต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ กล่าวว่า กว่าที่เราจะเลี้ยงดูผลักดันให้เด็กคนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ต้องไม่ลืมว่าเขาจะต้องเผชิญความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัยในสังคม หรือมีเส้นทางที่หักเหมากมาย ฉะนั้นการปล่อยให้โรงเรียนหรือหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่มีหน้าที่จัดการศึกษาจึงไม่เพียงพอ เราจึงต้องจับมือ ร่วมมือกันสร้างรูปแบบการศึกษาที่จะไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลัง และไม่ยอมให้โอกาสของการพัฒนาบุคลากรคุณภาพลดน้อยลงไปอีก

“การร่วมมือกันวันนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทุกภาคส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะได้มาแลกเปลี่ยนต้นทุนทรัพยากร นำเสนอการทำงาน เพื่อแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพให้ไปถึงเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราต่างทราบดีว่าเยาวชนกลุ่มนี้มีเงื่อนไขและความจำเป็นบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ในการศึกษารูปแบบปกติได้ การจัดการศึกษาจึงต้องมองให้พ้นจากการไปโรงเรียน หรือเป็นการจัดการศึกษาเชิงรุกที่ตั้งต้นด้วยความชอบความสนใจและความถนัดเฉพาะทาง

ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จะนำหลักสูตรต่าง ๆ ที่ออกแบบขึ้น มาพัฒนาต่อยอดในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางโอกาสสำหรับเด็กเยาวชนทุกคนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในจังหวัด และขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ”