พลวัฒน์โลกฉุดเครื่องยนต์เคลื่อนศก.ไทยอ่อน 3ปีวัดใจใช้ดิจิทัล พลิก 5 มิติฟื้นฟูสู่รายได้สูง

พลวัฒน์โลกฉุดเครื่องยนต์เคลื่อนศก.ไทยอ่อน 3ปีวัดใจใช้ดิจิทัล พลิก 5 มิติฟื้นฟูสู่รายได้สูง


“อุตตม” ชี้ เศรษฐกิจโลก ความผันผวนการเมืองโลก ฉุดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ 5-8 ปีข้างหน้า ผู้นำกุมเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนหน้า จีน แซงสหรัฐ อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกลาง อาเซียน ภูมิภาคดาวรุ่งเศรษฐกิจเติบโต ไทยรั้งบ๊วยประเทศอาเซียน ท่ามกลางทุกประเทศกราฟพุ่งเติบโตสูง จุดพลิกผัน 3 ปี  นำดิจิทัลมาพลิกโฉมประเทศ ใน 5 มิติ ข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลาง

 

 กว่า 40 ปีที่ ตั้งแต่ปี 2519-2559 ไทยยังติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) รายได้ประชากรต่อหัว 5,640 ดอลลาร์สหรัฐ ปล่อยให้หลายประเทศที่เคยอยู่ระดับเดียวกันก้าวขึ้นสู่ประเทศพัฒนาแซงหน้าไทย ซึ่งมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่า 12,235 ดอลลาร์สหรัฐ หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ คือการผลักดันให้ไทยหลุดพ้นรายได้ปานกลาง ภายใน 20 ปี (ปี 2560-2579)

ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในหัวข้อ “พลังพลเมือง สร้างความเปลี่ยนแปลง” หนึ่งในการอบรมสัมมนา “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” รุ่นที่ 13 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพว่า จุดเริ่มต้นในการอบรมเล็กๆ เป็นความหวังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ในนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าในแบบฉบับของไทย โดยไม่ต้องเหมือนกับต่างประเทศ แต่นำรูปแบบความก้าวหน้ามาปรับใช้กับประเทศ สร้างความก้าวหน้า และความหวังในการพัฒนา ประเทศให้เกิดประโยชน์กับคนไทยทุกคน แล้วนำรูปแบบการพัฒนาไปขยายเครือข่ายไปสู่วงกว้าง เมื่อลงมือทำอย่างต่อเนื่อง

BCG หรือ เศรษฐกิจทางชีวภาพ-หมุนเวียน และ สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศที่สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม เริ่มจากจุดแข็งของประเทศไทย ที่สร้างประโยชน์สู่คนฐานราก และสร้างมูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสิ่งสำคัญของประเทศ คือ การเพิ่มผลผลิตจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นฐานคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงต้องมีการสนับสนุน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดได้จริง นั้นคือโจทย์ใหญ่ ที่จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างผู้นำ ในชุมชน จากหลากหลายกลุ่มเกิดการพัฒนาในทุกพื้นที่ แล้วเกิดการรวมพลังในการพัฒนาในทุกมิติ

ประเทศไทยอยู่ในจุดพลิกผัน ที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั่วโลก ทั้งเศรษฐกิจโลก ภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยากในการขับเคลื่อนประเทศ มีทั้งปัจจัยที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง เพราะไทยมีที่ตั้งจุดภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ไทยจึงต้องมีภูมคุ้มกันความเสี่ยง และแสวงหาโอกาสมากมาย

“ประเทศไทยอยู่ในจุดพลิกผัน เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเดินหน้าอย่างไร ในสภาพแวดล้อมที่เราเผชิญ มีทั้งโอกาส และความเสี่ยง โจทย์ใหญ่ของคนไทย ทำอย่างไร ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ให้นำมาซึ่งที่ดีให้กับประเทศได้หรือไม่อยู่ที่ การร่วมมือขับเคลื่อนภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคการเมือง”

ปี65-67 ภาวะเศรษฐกิจโลกโตต่ำ

สถานะไทยท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ทั่วโลก โดยรายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย ขยายตัวต่ำ ในปี 2565 เติบโต 3.4% ปี 2566 ลดลงมา 2.8% และในปี2567 คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3% และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ล้วนขยายตัวต่ำ ทั้งสหรัฐ ยุโรป มีเพียงแถบเอเชียเท่านั้นที่ขยายตัวสูง โดยประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เติบโตโดดเด่นใน 5 ปีข้างหน้า คือ จีน อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอาเซียน และอีก 8 ปีข้างหน้า จีน จะมีเศรษฐกิจใหญ่แซงหน้าสหรัฐ และอินโดนีเซีย กับฟิลิปปินส์ จะเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีจีดีพีสูงที่สุดในโลก

แต่เมื่อเราพิจารณาเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน กลับพบว่าไทยกำลังตกอยู่ในภาวะย่ำแย่อย่างเห็นได้ชัด ในปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตจีดีพี ของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน สูงที่สุด คือ มาเลเซีย 8.7% เวียดนาม 8 %ฟิลิปปินส์ 7.6% อินโดนีเซีย 5.3% ส่วนไทยไทยเติบโตเพียง 2.6% เหนือกว่าประเทศเดียวคือพม่า นั่นเพราะเครื่องยนต์หลัก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย อ่อนล้า ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก และสินค้าและบริการมูลค่าสูงยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนสู่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้ในปีนี้ ทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน หรือ กกร. คาดว่า ในปี 2566 ส่งออกไทยจะติดลบ 2.5% ส่วนจีดีพี ก็ขยายตัวเพียง 2.5-3%

“ท่ามกลางการแข่งขันดึงดูดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคตเข้าสู่ประเทศ แม้ทุกประเทศจะเจอโควิด เหมือนไทย แต่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ส่วนไทยฟื้นตีวช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และที่สำคัญบริษัท Vinfast ธุรกิจในเวียดนามเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์แรกในอาเซียน ที่สามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหุ้น Nasdaq สหรัฐ มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท เท่ากับมูลค่าของบริษัทขนาดใหญ่ ของไทยปตท., ซีพีออล์ และการท่าอากาศยาน รวมถึง อินโดนีเซีย นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่าเพื่อนบ้านเราไปไกลระดับโลก”

3 ปี พิสูจน์พลิกโฉมไทย
ใช้ดิจิทัลเคลื่อน 5 มิติ

เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิมอ่อน จึงต้องพลิกผันไปสู่การขับเคลื่อนใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยี “เศรษฐกิจดิจิทัล” มาตอบโจทย์ทำให้การพัฒนาไม่กระจุกตัว ช่วยลดความเหลื่อมของทางสังคม นำไปแทรกซึมให้ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยด้วยการยกระดับใน 5 มิติ สำคัญ ประกอบด้วย

1.เศรษฐกิจฐานราก ยกระดับฐานราก ชุมชนต้องเข้มแข็ง สินค้าเกษตร ท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ในชุมชน ให้เชื่อมโยงไปด้วยกันจึงจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน

2.อุตสาหกรรม ต้องยกเครื่องสู่ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว, Bio-Circular-Geen Economy) ผลักดันให้เข้าไปแทรกซึมไปทุกที่ ทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

3.โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงสร้างด้านดิจิทัล และคมนาคมขนส่ง พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริม จุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค

4.ปฏิรูปให้คนไทยมีทักษะ บ่มเพราะสร้างคนให้มีองค์ความรู้ ด้านดิจิทัล และพัฒนาระบบการศึกษา เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในหน้าพลเมือง มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ เพราะประเทศที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ เกิดจากการสร้างการตระหนักรู้ในความเป็นพลเมือง ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ชุมขนมาก่อน

5.ปฏิรูปกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็นของประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 1,094 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ จะช่วยให้ประหยัดงบประมาณถึง 133,819 ล้านบาทต่อปี จะนำไปสู่การเพิ่มอัตราการเติบโตจีดีพี 0.8%

สิ่งเหล่านี้หากเกิดการพัฒนาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทางโครงสร้างของประเทศ ที่คนรวยสัดส่วนเพียง 10% แต่ถือครองทรัพย์สินถึง70% ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าพื้นฐานหลักของประเทศ คือ กลุ่มภาคการเกษตร ชีวภาพ และพลังงาน ทำให้ไทยมีปัญหามายาวนาน BCG จึงถือเป็นเป็นแนวทางที่ทำให้ประเทศไทยสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่จะสำเร็จได้จะต้องเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน ทั้งเรื่ององค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสถาบันการศึกษาต้องเข้ามามีส่วนร่วม

ที่สำคัญคือภาคประชาชน ภาคพลเมือง พลังสำคัญในการนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ พร้อมกันกับขยายวงไปยังต่างประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาต่อยอดจากทรัพยากรของไทย

“รัฐบาลต้องลงมือปฏิบัติสนับสนุนอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประกาศให้ BCG เป็นพันธกิจที่จะขับเคลื่อนในเวที APEC เรามาถูกทางแล้ว แต่ต้องทำให้ได้จริง จึงจะสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีพลังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”