ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรแจ้งทันตแพทย์ที่ให้การรักษารับทราบ ก่อนการวางแผนการรักษา และทำหัตถการต่อไป

ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรแจ้งทันตแพทย์ที่ให้การรักษารับทราบ ก่อนการวางแผนการรักษา และทำหัตถการต่อไป

กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรมแนะนำ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต หอบหืด หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ควรแจ้งทันตแพทย์ที่ให้การรักษารับทราบ ก่อนการวางแผนการรักษา และทำหัตถการต่อไป

 

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต หอบหืด ลมชัก โรคกระดูกพรุน เป็นต้น ซึ่งในผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางทันตกรรม จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษาเป็นอย่างดี เพราะสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแล และเป็นประตูนำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดีอีกด้วย

ด้าน ทันตแพทย์หญิง ดร.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมแนะนำให้แจ้งให้ทันตแพทย์ที่ให้การรักษารับทราบถึงสภาวะโรคประจำตัวปัจจุบันของตนเอง ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต รวมถึงประวัติการใช้ยาประจำตัว ที่ต้องรับประทานหรือใช้ฉีด พ่น มาด้วย เนื่องจากผู้ป่วย บางรายมักจะมียาที่แพทย์สั่งให้รับประทานเป็นประจำทุกวัน ซึ่งยาบางชนิดที่ผู้ป่วยได้รับอาจส่งผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง น้ำลายน้อย ทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย หรือการรักษาในบางครั้งทันตแพทย์อาจจ่ายยาบางชนิด ซึ่งหากไม่มีข้อมูลว่าผู้ป่วยได้รับยาใดบ้าง ยาที่จ่ายให้อาจไปส่งเสริมหรือลดประสิทธิภาพของยาที่ผู้ป่วยรับประทาน ทำให้มีผลกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยได้ การให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จะทำให้ทันตแพทย์สามารถวางแผนการรักษาและทำหัตถการได้อย่างปลอดภัย

ทันตแพทย์หญิงสายทิพย์ ลีวรกานต์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กล่าวถึงการเตรียมตัวสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ดังนี้
– ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง: หากมียาที่แพทย์สั่งให้รับประทานในช่วงเช้า ควรรับประทานอาหารและยามาให้เรียบร้อยก่อนทำหัตถการ เพื่อช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เนื่องจากการทำหัตถการทางทันตกรรม ผู้ป่วยอาจเกิดความกังวลและความดันโลหิตอาจสูงขึ้น อาจมีผลทำให้หัตถการที่มีเลือดออกบางชนิด มีการไหลของเลือดมากขึ้นและควบคุมการหยุดของเลือดได้ยากขึ้น
– ผู้ป่วยเบาหวาน: ในช่วงเช้าควรรับประทานอาหารและยามาก่อนทำหัตถการ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในกระแสโลหิตต่ำ
– ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องล้างไต: ควรแจ้งวันที่ล้างไตให้ทันตแพทย์ทราบ เพื่อวางแผนการนัดหมาย ในการเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมได้อย่างเหมาะสม
– ผู้ป่วยที่รับประทานยาที่มีผลต่อเกล็ดเลือด หรือการแข็งตัวของเลือด: ต้องแจ้งทันตแพทย์ให้รับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหัตถการที่ทำให้มีภาวะเลือดออก เช่น การถอนฟัน การฝังรากฟันเทียมหรือการผ่าตัดอื่น ๆ เป็นต้น เนื่องจากทันตแพทย์จะได้ส่งปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อเตรียมผู้ป่วย หรือเตรียมวัสดุที่ใช้ในการห้ามเลือดไว้ล่วงหน้าต่อไป
– ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน: อาจจะมียารับประทานหรือได้รับเป็นยาฉีด ควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบ เนื่องจากยาที่ได้รับอาจส่งผลต่อการเกิดภาวะกระดูกตายในบางกรณีได้

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม ผู้ป่วยควรให้ข้อมูลโรคประจำตัวและยาต่างๆ ที่ได้รับอย่างละเอียดกับทันตแพทย์

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ใส่ใจหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเอง ลดเสี่ยงภัยมะเร็งเต้านม
https://www.thaiquote.org/content/250505

นิ่วทอนซิลสาเหตุเกิดจากการดูแลความสะอาดช่องปากไม่เพียงพอ
https://www.thaiquote.org/content/250498

วิ่ง ออกกำลังกายแล้ว “วูบ” ระวังภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
https://www.thaiquote.org/content/250469