อีกแค่ 2 สัปดาห์ ก็จะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่แล้ว ระหว่างนี้ทุกพรรคการเมืองต่างลงพื้นที่หวังได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนกันเต็มที่ แต่หากจับสังเกตจะพบว่า ระยะหลังมานี้พรรคการเมืองไม่มีนโบบายใหม่ๆเพิ่มเติมจากที่ประกาศออกไปแล้ว
ไม่ใช่ว่าจะหมดมุก แต่ด้วยกฎหมายการเลือกตั้งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องชี้แจงรายละเอียดนโยบายหาเสียงที่มีการใช้จ่ายเงิน จึงทำให้พรรคการเมืองต่างต้องหันกลับมาดูว่าสิ่งที่ประกาศไปนั้นใช้เงินปีละเท่าไหร่ หลายพรรคถึงกับสะดุ้ง เนื่องจากรวมๆ เงินที่จะต้องใช้ในทุกนโบบายที่ประกาศไปนั้นมหาศาล หากประกาศนโยบายเพิ่มอีกอาจถูกมองว่า “ขายผัน” ทำไม่ได้ กลายเป็นเสียมากกว่าได้
เมื่อมามองนโยบายที่ใช้เงินของแต่ละพรรค เอาเฉพาะเงินก้อนใหญ่ๆ เริ่มจากพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศแจกเงินดิจิทัลให้กับประชาชนทุกคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป นโบบายนี้ต้องใช้เงิน 5.4 แสนล้านบาท ชี้แจงเหตุผลที่ต้องแจกว่า เป็นการแจกครั้งเดียวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว
พรรคพลังประชารัฐ เพิ่งออกนโยบายแจกเงินตรงครั้งเดียวให้กับเกษตรกรราว 8 ล้านครัวเรือน ใช้เงินราว 2.4 แสนล้านบาท บอกเหตุผลเพื่อยกระดับภาคเกษตรให้เป็นประเทศไทยเป็นผู้นำในเกษตรมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังมีนโยบายเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากเดือนละ 300 เป็น 700 บาท รวมระยะเวลา 4 ปี ใช้เงินราว 4.9 แสนล้านบาท หรือปีละ 1.2 แสนล้านบาท
พรรครวมไทยสร้างชาติ ใช้เงินกับนโยบายเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากเดือนละ 300 บาท เป็น 1,000 บาท รวมระยะเวลา 4 ปี ใช้เงินราว 7 แสนล้านบาท หรือปีละ 1.75 แสนล้านบาท
พรรคก้าวไกลมีนโยบายเด่นคือ เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท (ภายในปี 2570) รวมระยะเวลา 4 ปีใช้งบประมาณ 1.72 ล้านล้านบาท หรือปีละ 4.32 แสนล้านบาท
พรรคไทยสร้างไทยมีนโบบายเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท และทำทันทีหากเป็นรัฐบาล ซึ่งเท่ากับว่าจะใช้เงินปีละ 4.32 แสนล้านบาท รวม 4 ปีใช้งบประมาณราว 1.72 ล้านล้านบาท
นโบบายใช้เงินข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่เห็นชัดว่าจะต้องมีการตั้งงบประมาณประจำใช้จ่ายเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมา ขณะที่ยังมีนโยบายอื่นๆที่อาจไม่ชัดว่าจะต้องตั้งงบประมาณประจำเท่าไหร่ เช่น การอุดหนุนราคาพืชเกษตร การพรรคหนี้เกษตรกร การอุดหนุนค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ซึ่งรวมแล้วแต่ละปีเป็นเงินมหาศาลเช่นกัน
กลับมาที่คำถามตัวโตๆ ว่า เมื่อพรรคการเมืองมีนโยบายที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน แล้วจะหาเงินมาจากไหน ซึ่งทุกพรรคการเมืองบอกตรงกันว่าจะต้องรื้อการจัดสรรงบประมาณ โดยตัดงบประมาณที่เห็นว่าไม่ตอบโจทย์กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ งบประมาณที่ไม่ได้ดูแลทุกข์สุขประชาชน แน่นอนว่างบฯด้านความมั่นคงคือก้อนแรกที่จะต้องหั่นลง นอกจากนี้ทุกพรรคยังคาดหวังว่าหลังจากนี้เศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้น จีดีพีเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 4-5 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากรายจ่ายประมาณในปี 2565 ประมาณ 3.1 ล้านล้าน ขณะที่มีรายรับทั้งหมดราว 2.4 ล้านล้าน เท่ากับว่าเป็นการจัดสรรงบขาดดุล 7 แสนล้าน โดยความจริงประเทศไทยจัดสรรงบประมาณขาดดุลมาตลอด 20 ปี ขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 10 ล้านล้านบาท ก็เป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ในการเพิ่มเติมการใช้จ่ายงบประมาณประเทศ
ส่วนความหวังที่ประเทศไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากที่ฝันว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น คงไม่ง่ายนัก เนื่องจากวันนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ การส่งออกของไทยชะลอตัวต่อเนื่องมา 4-5 เดือน ด้านการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับโดดเด่น ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศไทยเองยังไม่เข้มแข็ง ความเหลื่อมล้ำขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การบริโภคไม่ขยายตัว
ดังนั้นคำถามเรื่องการจัดหารายได้ภาครัฐ เพื่อนำมาใช้จ่ายในนโยบายต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมือง จึงยังเป็นสิ่งที่ประชาชนคาใจ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งชี้ชะตา พรรคการเมืองที่รักจะเป็นสายเปย์ทั้งหลาย ก็ควรออกมาตอบคำถามนี้ให้ชัดเจน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ที่จะปล่อยผ่านไป เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยพร้อมที่จะลงโทษพรรคการเมืองขี้โม้ครับ