คะแนนเสียงกับความกล้าหาญของนโยบาบหาเสียง PM2.5

คะแนนเสียงกับความกล้าหาญของนโยบาบหาเสียง PM2.5


“ความกล้าหาญ” อาจจะกลายเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการหาเสียงของบรรดาพรรคการเมือง ที่มีกำหนดชี้ชะตากันในวันที่ 14 พ.ค. ที่จะถึงนี้

 

สิ่งแรกที่เชื่อว่าความกล้าหาญจะทำให้พรรคการเมืองได้คะแนนเสียง คือ หากสำรวจนโยบบายที่แต่ละพรรคการเมืองประกาศออกมา เน้นหนักไปที่การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งไม่แปลกเพราะวันนี้ปัญหาปากท้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้พรรคการเมืองไม่กล้าพอที่จะฉีกออกมาพูดเน้นนโยบายด้านอื่นๆ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้คะแนนมากนัก เสียเวลาเปล่า เช่นเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่านโยบายเศรษฐกิจปากท้อง

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “นโยบายสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติที่ควรมีในสนามเลือกตั้งปี 2566” โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิดา) ร่วมกับภาคีวิจัยโลกอนาคตแห่งประเทศไทย โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่น้อย 9 พรรค แต่ส่วนใหญ่ส่งตัวแทนเบอร์รอง มีไม่กี่พรรคที่ส่งแกนนำตัวเด่นๆเข้าร่วม

ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ เปิดหัวสัมมนาว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยภิบัติทางธรรมชาติทั้งน้ำท่วมใหญ่และภัยแล้งรุนแรง วนเวียนซ้ำซาก ได้รับความสูญเสียในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่ทุก ๆ รัฐบาลก็ไม่มีแผนรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นแบบยั่งยืน การเสวนาครั้งนี้จึงต้องการให้พรรคการเมืองเห็นความสำคัญกับนโบบายด้านสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดการแก้ไขและมีการปฏิบัติที่เห็นผลเป็นรูปธรรม

เวทีนี้มีลักษณะเป็นเสวนา ไม่ใช่การดีเบตที่ให้นักการเมืองเกทับบลัฟกันไปมาว่านโยบายใครแจกมากกว่ากัน แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เรียกว่าเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ทั้งเรื่องมลพิษจากน้ำมือมนุษย์ การรับมือกับภัยภิบัติต่างๆที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งก็มีสาเหตุจากน้ำมือมนุษย์อีกเช่นกัน รวมไปถึงแนวทางในการรับมือมาตรการที่เกิดจากความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีโลกที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในเวลาอันใกล้นี้

ทั้งนี้ในเวทีเสวนาเป็นการตั้งคำถามจากนักวิชาการและภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนานจึงเห็นปัญหาในเชิงลึก เข่น ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีกฎหมายหลายฉบับที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม แต่ทำไมสถานการณ์สิ่งแวดล้อมจึงกลับเลวร้ายลง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งเคยถูกยกย่องว่าเป็นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก แต่ดูเหมือนวันนี้กลายเป็นแค่เสือกระดาษ

โดยเฉพาะประเด็นปัญหา PM 2.5 ที่คนไทยกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน และเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ซึ่งในเวทีได้เสนอแนวทางแก้ไขกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยและรับปากว่าหากเข้าไปเป็นรัฐบาลจะผลักดันกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ ทั้งๆที่ผ่านมาร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดที่ถูกเสนอในรัฐบาลที่แล้วถึง 5 ร่าง แต่ถูกตีตกไป 3 ร่าง ที่เหลือค้างเติ่งจนปิดสภา โดยไม่เห็นความพยายามของฝ่ายการเมืองมากนักที่จะจริงจังในการผลักดัน

อย่างไรก็ตามสรุปรวบยอดคำตอบของบรรดานักการเมืองที่เข้าร่วมเสวนา ต่างก็ยอมรับว่า ที่ผ่านมากฎหมายมีช่องโหว่ช่องว่างที่ไม่ครอบคลุมการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การบังคับใช้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ และพร้อมจะเข้าไปดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาให้ดีขึ้นในทันทีที่เข้าไปเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ที่เด็ดสุดคือไม่แคล้วมีการเหน็บแนมในเชิงว่า ตนเองหรือพรรคของตนเองพยายามเสนอแนะแก้ปัญหาแล้วแต่ผู้ที่รับผิดชอบจริงๆไม่ใส่ใจ ปัญหาเลยเกิดขึ้นอย่างที่เห็น

ไม่มีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนไหน ที่ก้าวออกมายืดอกขอโทษกับประชาชน ในฐานะนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่อาสาเข้าไปทำงานให้ประชาชน โดยยอมรับความผิดพลาดที่ละเลยในสิ่งที่ควรจะลงมือกระทำก่อนที่ปัญหา PM 2.5 จะรุนแรงในวันนี้

การกล่าวคำขอโทษยอมรับความผิดพลาดทั้งที่เกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เป็นพื้นฐานการแสดงความจริงใจในการทำงานเพื่อประชาชน ดังนั้นหากพรรคการเมืองใดกล้าหาญพอที่จะขอโทษ เชื่อว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยจะเห็นใจและลงคะแนนเสียงให้โอกาสทำงานต่ออีกครั้ง ทางกลับกันการโยนความผิดกันไปมา เอาดีเข้าตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ก็จะถูกลงโทษจากประชาชนเช่นกัน