ซีพีเอฟ ยุติการบุกรุกและการทำลายป่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

ซีพีเอฟ ยุติการบุกรุกและการทำลายป่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ


ซีพีเอฟ เดินหน้าร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ยุติการบุกรุกและการทำลายป่า เพื่อร่วมสนับสนุนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก

 

ในปี 2565 ภายใต้แนวคิด Building a shared future for all life สร้างอนาคตร่วมกันเพื่อทุกชีวิต บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ยุติการบุกรุกและการทำลายป่า เพื่อร่วมสนับสนุนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งความมั่นคงด้านอาหารของโลก

นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร เดินหน้าจับมือกับคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกร ยกระดับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบและสินค้าคุณภาพ ปลอดภัยจากกระบวนการผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยกระบวนการจัดซื้ออย่างรับผิดชอบและมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตอบรับเทรนด์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคที่ยั่งยืน ซีพีเอฟกำหนดเป้าหมายการจัดหาวัตถุดิบเกษตรหลักที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม กากถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ร้อยละ 100 จากทั่วโลกต้องปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่า ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า เพื่อร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบในการผลิตอาหาร สร้างศักยภาพทางการแข่งขันคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน

“เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรมีส่วนร่วมในปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้ตั้งแต่ต้นทาง คู่ค้าธุรกิจซีพีเอฟดำเนินตามนโยบายการจัดหาที่ยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อให้คู่ค้าธุรกิจส่งมอบวัตถุดิบและสินค้าคุณภาพสูง ปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)” นางสาวธิดารัตน์กล่าว

บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าธุรกิจรวมถึงคู่ค้า SMEs ให้มีความตระหนักและร่วมกันจัดหาวัตถุดิบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งผลิต รวมทั้งพัฒนาการดำเนินงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเชื่อมโยงแนวทาง ESG เข้ามาในกระบวนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน สอดคล้องตามนโยบาย “CPF 2030 Sustainability in Action” เพื่อให้คู่ค้าธุรกิจสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลง บริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ร่วมสร้างการเติบโตไปด้วยกัน

ซีพีเอฟยังดำเนินการตรวจประเมินและทบทวนความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของคู่ค้าธุรกิจครอบคลุมทุกกลุ่มวัตถุดิบทั้งในกิจการประเทศไทย เวียดนามและจีนแล้วครบร้อยละ 100 เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า และปีนี้มีแผนขยายการประเมินความเสี่ยงไปยังคู่ค้าธุรกิจในกิจการต่างประเทศต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (FIT) ในการจัดหาข้าวโพดตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกสำหรับกิจการผลิตในประเทศไทยทั้งหมด ผ่านระบบ Corn Traceability System ว่าเป็นข้าวโพดพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งดำเนิน โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เพื่อช่วยเกษตรกรมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีความเข้าใจการปลูกช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ควบคู่กันด้วย

ปัจจุบันทางบริษัทฯ ยังได้ขยายการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดไปยังกิจการต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย และเวียดนาม รวมทั้งกิจการของเครือซีพี เช่น เมียนมา เป็นต้น พร้อมทั้งต่อยอดนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) ช่วยยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับของวัตถุดิบข้าวโพดทำได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น สำหรับวัตถุดิบหลักอื่นๆ อาทิ กากถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม ปลาป่น ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งเพาะปลูกและผลิต อาทิ มาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) เป็นต้น

 

 

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ยังได้ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” มาตั้งแต่ปี 2559 โดยผลสำเร็จจากการดำเนินการระยะที่ 1 (ปี 2559 -2563) ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า รวม 5,971 ไร่ ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการระยะที่ 2 (ปี 2564 -2568) เพิ่มเติมอีก 1,000 ไร่ รวมเป็น 6,971 ไร่.