ศึกษา “หญ้าทะเล” ภาคตะวันออก แหล่ง Blue Carbon ลดก๊าซเรือนกระจก

ศึกษา “หญ้าทะเล” ภาคตะวันออก แหล่ง Blue Carbon ลดก๊าซเรือนกระจก


บางจาก หนุนคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเลเพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในแนวปะการังบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จ.ตราด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยมี Blue Carbon เป็น 1 ในเครื่องมือสำคัญ

 

“กลอยตา ณ ถลาง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจาก ได้สนับสนุนโครงการศึกษาความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon ซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูง

 

 

โดยตั้งเป้าการทำงานในบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จ.ตราด โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการศึกษาแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังของภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

 

เพื่อจัดเก็บข้อมูลศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอนในทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ เกาะหมากยังถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในฐานะพื้นที่ต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และชุมชนเข้มแข็งแห่งหมู่เกาะภาคตะวันออกของไทยสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่พื้นที่ตัวอย่างของแหล่งท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมายการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ในปี 2050 การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียวมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้ใช้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านนี้เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจคาร์บอนต่ำ

 

นอกจากนี้โครงการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยสนับสนุนดูแลฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินการภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจากคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โยมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมจากการมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ ตลอดจนการร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้าน ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษา กล่าวว่า การวิเคราะห์ผลด้าน Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการัง จะประสานงานกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและประชาชนในท้องถิ่น และใช้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ

 

คาดว่าผลจากการดำเนินโครงการศึกษาการใช้คาร์บอนเครดิตจากแหล่งหญ้าทะเลในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลตั้งต้นชิ้นสำคัญสำหรับประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศด้วยการกักเก็บ Blue Carbon ในระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในอนาคต