ซีพีเอฟ สานต่อ “โครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” ช่วยเกษตรกลดต้นทุน เพิ่มแหล่งอาหารปลอดภัย

ซีพีเอฟ สานต่อ “โครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” ช่วยเกษตรกลดต้นทุน เพิ่มแหล่งอาหารปลอดภัย


ซีพีเอฟ เดินหน้าสานต่อ “โครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” กว่า 20 ปี ช่วยดูแลเกษตรกรรอบฟาร์ม ลดต้นทุนการเพาะปลูก สร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำให้กับชุมชน ส่งเสริมการเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สานต่อโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” จากฟาร์มสุกรให้แก่เกษตรกรรอบข้างนำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และช่วงเวลาปกติ

 

ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกษตรกร สามารถลดต้นทุนการเพาะปลูก ภายหลังจากที่ปุ๋ยมีราคาแพง รวมทั้งยังช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี หนุนการเพาะปลูกพืชผัก เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยไร้สารเคมีที่ส่งผลดีต่อผู้บริโภค

สำหรับ “น้ำปุ๋ย” ดังกล่าว น้ำจากฟาร์มสุกรที่ผ่านการบำบัดในระบบแก๊สชีวภาพ สู่บ่อบำบัดน้ำหลังระบบ ต่อไปสู่บ่อพักน้ำ จนได้น้ำสะอาดที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพืชทุกชนิด อาทิ โพแทสเซียม ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนิเซียม โซเดียม

 

โดยผลการตรวจคุณภาพน้ำปุ๋ยในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีโพแทสเซียมสูงถึง 297 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร มีไนโตรเจน 154 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทำให้พืชเติบโตเร็ว ผลผลิตเพิ่ม และมีคุณภาพดีขึ้น

 

นายสัมฤทธิ์ แตงหวาน เกษตรกรใน ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ที่ได้รับน้ำปุ๋ยจาก ฟาร์มสุกรนพรัตน์ ของซีพีเอฟมานานกว่า 19 ปี ถือเป็นเกษตรกรรุ่นแรกที่รับน้ำปุ๋ยมาใช้กับแปลงฟักเขียว ในพื้นที่ 8 ไร่ เล่าว่า ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา เป็นการพึ่งพาอาศัยกันอย่างยั่งยืนของฟาร์มและเกษตรกรรอบฟาร์ม ซึ่งช่วยให้สามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี

 

ด้วยคุณสมบัติของน้ำปุ๋ย มีแร่ธาตุที่ช่วยในการเติบโตของต้นไม้และพืช ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ผลผลิตที่ได้ปลอดสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในส่วนนี้ได้ 100% จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี 12-13 ลูก ต้นทุนเกือบ 20,000บาท ต่อปี

 

ขณะนี้ได้มีการพัฒนาคลองส่งน้ำ เพื่อนำน้ำปุ๋ยจากฟาร์ม ส่งกระจายยังพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเกษตรกรทุกรายจะมีข้อตกลงร่วมกันในการนำน้ำไปใช้

 

ด้านนายอินทัน สิงห์ทะ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรจอมทอง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2559 กล่าวว่า เคยนำน้ำปุ๋ยของฟาร์มฯ มาทดสอบคุณสมบัติเทียบกับน้ำธรรมดา พบว่าน้ำปุ๋ยมีแร่ธาตุที่ส่งผลต่อการเติบโตของพืช จึงใช้กับข้าวโพดหวานที่ปลุูกไว้ ในพื้นที่ 2 ไร่ และผักสวนครัว ทำให้ผลผลิตดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ถึง 50% จากที่เคยใช้ปุ๋ย 4 กระสอบเหลือเพียง 2 กระสอบ โดยจะใช้น้ำปุ๋ยในช่วงที่ต้นข้าวโพดเล็กๆ จนถึงก่อนออกฝักระยะ 50 วันแรก จากนั้นเมื่อเริ่มออกฝักช่วง 40 วันสุดท้าย จะใช้น้ำพลังงานไฟฟ้าของอบต.ข่วงเปา

 

ขณะที่ครูปัญญา นุชรุ่งเรือง” เกษตรกร อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่รับน้ำปุ๋ย จากคอมเพล็กซ์ไก่ไข่พิษณุโลก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่เป็นนาข้าว แต่ประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตไม่ดีนัก เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้จึงตัดสินใจเปลี่ยนเป็นแปลงปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว

 

ขณะนั้นซีพีเอฟมีโครงการทำแปลงทดลองการใช้น้ำปุ๋ยจากระบบไบโอแก๊ส จึงขอรับน้ำปุ๋ยมาทดลองใช้ พบว่าหญ้าในแปลงโตดี ใบใหญ่สมบูรณ์ เพราะในน้ำปุ๋ยมีธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจนที่พืชต้องการ ทุกวันนี้ปลูกหญ้าตามธรรมชาติไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเสริม และไม่เคยขาดน้ำ เพราะได้รับปันน้ำจากฟาร์มอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกร ทั้งค่าปุ๋ย ค่าน้ำ แล้วยังได้ผลผลิตดี และสภาพของดินยังดีขึ้นอีกด้วย