ฝากทิ้ง “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับ “เอไอเอส” และ “ไปรษณีย์ไทย”

ฝากทิ้ง “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับ “เอไอเอส” และ “ไปรษณีย์ไทย”


ปลอดภัยจากสารพิษ-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน! ฝากทิ้ง “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ได้ กับ “เอไอเอส” และ “ไปรษณีย์ไทย” กำจัดอุปกรณ์ E-Waste อย่างถูกต้องและถูกวิธี

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ถือเป็นอีก 1 ประเด็นที่หลายภาคส่วนต่างออกมารณรงค์ให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการทิ้งอย่างถูกที่ และถูกวิธี เพราะขยะประเภทนี้นอกจากจะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติแล้ว ยังปลดปล่อยสารพิษลงสู่สภาพแวดล้อม

ที่ผ่านมา แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมาตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste แต่ก็อาจจะยังไม่ทั่วถึง รวมถึงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ที่ทำให้ผู้คนต้องอยู่บ้านกันมากขึ้นเพื่อช่วยหยุดเชื้อ แต่บริการรับ/ส่ง จดหมายหรือพัสดุจากไปรษณีย์ไทยไม่เคยหยุด

จึงเป็นที่มาของบริการ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับพี่บุรุษไปรษณีย์ ซึ่งเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง “เอไอเอส” กับ “ไปรษณีย์ไทย” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่มีการบริหารจัดการกำจัดอุปกรณ์ E-Waste อย่างถูกต้องและถูกวิธี

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ระบุว่า ทุกวันนี้ผู้คนตื่นตัวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น แต่ไม่สะดวกที่จะนำไปทิ้ง ณ จุดรับทิ้ง ดังนั้นการเข้าไปรับฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึงที่บ้าน เพื่อนำไปกำจัด และ Recycle อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างดีที่สุด

“ทางไปรษณีย์ไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับเอไอเอส ในการรณรงค์ และเป็นช่องทาง “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 20,000 คนทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้านได้ง่ายๆ และสะดวกมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” นางสายชล กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลรายงานเฝ้าระวังขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกประจำปี 2560 ระบุว่า ประชากรประเทศไทย 1 คน ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 7.4 กิโลกรัมต่อปี ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปี 2559 มีขยะอันตรายจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 393,070 ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าปัจจุบันจะมีซากขยะพิษเหล่านี้ทะลุ 4 แสนตันต่อปี

ส่วนผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม อาทิ “ตะกั่ว” พบมากในแบตเตอร์รี ที่ผสมในฉนวนสายไฟ แผ่นวงจรไฟฟ้า จะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ระบบโลหิต การทำงานของไต การสืบพันธุ์ และมีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ซึ่งสารพิษเหล่านี้ยังสะสมและตกค้างในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อพืช และสัตว์

“แคดเมียม” มักพบในแผ่นวงจรพิมพ์ จอภาพ ซึ่งสารนี้จะสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะที่ไต ทำลายระบบประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการและการมีบุตร หรืออาจมีผลกระทบต่อพันธุกรรม “ปรอท” มักพบในตัวตัดความร้อน สวิตซ์ หลอดไฟ จะส่งผลในการทำลายอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งสมอง ไต และเด็กในครรภ์ได้ และถ้าลงสู่แหล่งน้ำและตกตะกอนยังจะไปสะสมในสิ่งมีชีวิตได้ง่าย

“โครเนียมเฮกซาวาแลนท์” ใช้ในการเคลือบสังกะสี โลหะ ซึ่งผ่านเข้าสู่ผนังเซลล์ได้ง่าย จะส่งผลในการทำลายดีเอ็นเอ และเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์ “บริลเลียม” ใช้ในแผนวงจรหลัก เป็นการก่อมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอด โดยผู้ที่ได้รับสารนี้อย่างต่อเนื่องจากการสูดดมจะมีผลกับปอด

“คลอโรฟลูออโรคาร์บอน” มักพบในสารทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ โฟมฉนวนกันความร้อนในตู้เย็น จะส่งผลต่อระบบหายใจ ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศโลก

“สารหนู” ใช้ในแผงวงจรไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ จอ LCD จอพลาสมา ซึ่งทำลายระบบประสาท ผิวหนังและระบบการย่อยอาหาร หากได้รับปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“สารคดีมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ดึงคนดังเข้าป่าเรียนรู้คุณค่ามรดกโลกทางธรรมชาติ