บสย.ลุยงาน CSR ปี’63 ช่วยกลุ่มเปราะบาง “คนพิการ-ผู้ก้าวพลาดใกล้พ้นโทษ” แนะช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมอบรมให้อาชีพ
งาน CSR ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตลอดทั้งปี 2563 นับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อยในแง่ของการดำเนินการกิจกรรม ที่สะท้อนตรงกับเป้าหมายความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสังคม อย่างตรงเผง
ด้วยว่าตลอดทั้งปี 2563 บสย. ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ช่วยเหล่าผู้ประกอบการ SMEsให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้เท่านั้น หากแต่ผู้คนในบริบทอื่นของสังคม ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลังอย่าง บสย. ก็ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากแต่จะพาพยุงให้ก้าวผ่านปัญหาไปด้วยกัน
บสย.วางกรอบเป้าหมายหลักของงาน CSR เอาไว้เพื่อเข้าไปช่วย “กลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้ก้าวพลาดที่ใกล้พ้นโทษ” ให้ได้เรียนรู้ “อาชีพ” ที่จะต่อยอดเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ พร้อมกับให้ความรู้ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
6 เรือนจำ-ทัณฑสถาน และอีก 7 จังหวัดอบรมเพื่อคนพิการ เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าบสย. เอาจริงกับงาน CSR ที่ต้องการให้กลุ่มเปราะบางได้มีอาชีพอย่างมั่นคงภายใต้หัวข้อการดำเนินกิจกรรมที่ชื่อว่า บสย. สร้างชีวิตใหม่ SMEs 4.0 “ตัวเบา ไร้แผล มีอนาคต” ซึ่งเราจะมาลงลึกในรายละเอียดโปรเจกค์ CSR ของบสย.ชิ้นนี้ ว่ามีดีอย่างไร และกลุ่มเป้าหมายได้ประโยชน์อะไรกลับไปบ้าง
โปรเจกค์ บสย. สร้างชีวิตใหม่ SMEs 4.0 “ตัวเบา ไร้แผล มีอนาคต” บสย.ให้รายละเอียดว่า เป็นโครงการที่ส่งเสริมคุณภาพผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนความเป็นผู้ประกอบการ และส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย รวมไปถึงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการจัดการ และบริหารเงินทุนอย่างมีระบบด้วยการออม หรือลงทุน
แต่หัวใจหลักของ CSR แน่นอนว่าคือกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้ก้าวพลาดที่ใกล้พ้นโทษ บสย.ต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อย่างมีระบบ ซึ่งเป้าหมายของโปรเจกค์ดังกล่าวคือผลลัพธ์ในข้อนี้ ที่บสย.ต้องการให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด เช่น กลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้ก้าวพลาดที่กำลังพ้นโทษ ได้เรียนรู้อาชีพ และรู้วิธีทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสินเชื่อที่ถูกกฎหมาย
ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรม CSR บสย. สร้างชีวิตใหม่ SMEs 4.0 “ตัวเบา ไร้แผล มีอนาคต” เพื่อผู้ก้าวพลาด ครั้งที่ 1 ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 พื้นที่ที่บสย.ลงไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง บสย.พา นายชวพจน์ ชูหิรัญ เจ้าของโรงงานหมูปิ้งของเฮียนพ ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูปแบรนด์ “หมูนุ่ม”ร่วมแนะนำแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้ก้าวพลาดชายที่กำลังจะได้รับอิสรภาพ เพื่อเป็นช่องทางในการประกอบอาชีพอย่างสุจริต เป็นต้น
หรือการที่บสย.ไปร่วมกับ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, มูลนิธิคนพิการไทย ในโปรเจกค์ บสย. สร้างชีวิตใหม่ SMEs 4.0 “ตัวเบา ไร้แผล มีอนาคต” ที่จัดกิจกรรมที่จ.ราชบุรี โดยมีการแนะนำการเข้าถึงด้านการเงินในระบบสำหรับคนพิการ และจัดกันต่อเนื่องไปอีกถึง 5 ครั้งในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
กิจกรรมของบสย. ถือเป็นการมีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ สังคม และเศรษฐกิจ และช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ทั้งยังส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy) อย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “เติมทุน เติมความรู้ เติมคุณภาพชีวิต” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 8 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน และมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน
สำหรับกิจกรรม บสย. สร้างชีวิตใหม่ SMEs 4.0 “ตัวเบา ไร้แผล มีอนาคต” ที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี 2563 บสย.ได้ดำเนินการในหลายพื้นที่ และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย
กลุ่มผู้ก้าวพลาด
– 18 กันยายน 2563 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (จตุจักร กทม.)
– 28 กันยายน 2563 ทัณฑสถานหญิงกลาง (จตุจักร กทม.)
– 29 กันยายน 2563 เรือนจำพิเศษธนบุรี (บางบอน กทม.)
– 30 กันยายน 2563 ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง (คลองหลวง ปทุมธานี)
– 8 ตุลาคม 2563 ทัณฑสถานหญิงธนบุรี (บางบอน กทม.)
– 27 พฤศจิกายน 2563 เรือนจำกลางระยอง (จ.ระยอง)
กลุ่มคนพิการ
– 17 สิงหาคม 2563 จ.ราชบุรี
– 11 กันยายน 2563 จ.กาญจนบุรี
– 21 กันยายน 2563 สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
– 15 ตุลาคม 2563 จ.อ่างทอง
– 3 พฤศจิกายน 2563 จ.สุพรรบุรี
– 10 พฤศจิกายน 2563 จ.เชียงราย
– 3 ธันวาคม 2563 เทศบาลบางบัวทอง
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
บีโอไอเคาะมาตรการลงทุนปี 64 กระตุ้นโครงการใหญ่-เล็ก หนุน ศก.ฟื้นตัว