จับตา ปม “บ้านพักทหาร” ปฏิบัติการคว่ำ “ประยุทธ์” หรือดิสเครดิต องค์กรอิสระ

จับตา ปม “บ้านพักทหาร” ปฏิบัติการคว่ำ “ประยุทธ์” หรือดิสเครดิต องค์กรอิสระ


ThaiQuote Team.

จับตาวันที่ 2 ธ.ค.63 นี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีที่พรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการอยู่บ้านพักทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นั้น เป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 1 (3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ อันจะส่งผลให้ขาดคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรี และต้องพ้นสภาพไปหรือไม่

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ เดือน ก.พ.63 ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในที่ประชุมสภาฯ และพล.อ.ประยุทธ์ เองได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นนี้ว่า

“ในเรื่องบ้านพักของผม ผมคิดว่าผมไม่ตอบนะคำถามนี้ ผมก็ทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต ถึงกฎระเบียบจะว่าอย่างไรก็ตาม แต่วันนี้ผมก็ยังทำงานอยู่ ปัญหาของผมก็คือ ผมเป็นนายกรัฐมนตรี และก็มีปัญหาเรื่องการ รปภ. (รักษาความปลอดภัย) เพราะฉะนั้น มันก็ต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมของการ รปภ. ในฐานะผู้นำประเทศ ผมก็เตรียมการไปอยู่บ้านผมอยู่แล้ว”

เท่ากับเป็นคำยืนยันว่า การพักอาศัยอยู่ในบ้านพักสวัสดิการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร 1 รอ.) ของพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ถือเป็นสิ่งที่ทำได้ เนื่องด้วยเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัยของผู้นำประเทศ

 

สำหรับบ้านพักสวัสดิการดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้พักอาศัยอยู่ตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในช่วงระหว่าง เดือน ต.ค.53-ต.ค.57 โดยดำรงตำแหน่งต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการการะทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นเป็นผบ.ทบ.

ขณะที่ระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพัก ของข้าราชการ และลูกจ้างประจําในสังกัดกองทัพบก พ.ศ.2553 ซึ่งลงนามในประกาศโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผบ.ทบ.ในขณะนั้น) ไม่ได้ระบุถึงกรณี การอาศัยอยู่ในบ้านพัก เพื่อการรักษาความปลอดภัยของผู้นำประเทศแต่อย่างใด

โดยหากพิจารณาจาก หมวด 2 (การเข้าพักอาศัย) ข้อ 11 ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของทางราชการ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

11.1 เป็นข้าราชการประจําการ หรือ ลูกจ้างประจํา สังกัดกองทัพบก ซึ่งมีคำสั่งให้รับราชการอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล

11.2 เป็นผู้ที่ไม่มีบ้านพักอาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือของคู่สมรส อยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล

11.3 เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการสงเคราะห์จากทางราชการให้มีอาคาร บ้านพักที่เป็นอยู่ของตนเองหรือของคู่สมรส อยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล

11.4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยระเบียบค่าเช่าบ้านข้าราชการ

ข้อ 12 ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของทางราชการต้องเป็นข้าราชการประจำและลูกจ้างประจำในหน่วยนั้น ๆ รับราชการอยูในเขตกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล

แต่ในหมวด 5 (เบ็ดเตล็ด) ข้อ 20 ของระเบียบดังกล่าว ได้ระบุให้ กรมสวัสดิการทหารบกและผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่พักอาศัยของทางราชการ มีอํานาจออกระเบียบปลีกย่อยที่ไม่ขัดแย้งกับระเบียบนี้ได้ตามความจำเป็น จึงเป็นน่าสังเกตว่า การอาศัยอยู่ในบ้านพักสวัสดิการทหาร ของ นายกฯ อาจมีการออกระเบียบปลีกย่อยรองรับ

 

โดยอาจสอดคล้องกับการที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไป ได้เคยกล่าวถึง การอาศัยอยู่ในบ้านพักของนายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว ให้กรมสวัสดิการทหารบก พิจารณากรณีนายทหารที่เกษียณราชการแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี ให้ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกติ

มุมมองที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการที่ นายกฯ สามารถอาศัยอยู่ในบ้านพักทหารได้ ซึ่ง “นายวันวิชิต บุญโปร่ง” อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.รังสิต ได้กล่าวกับ ThaiQuote ถึงกรณีนี้ ใน 3 ประเด็นด้วยคือ

1.ในช่วงเวลาหลัง ต.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในฐานะ “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” ซึ่งรัฐบาล คสช.มีอำนาจเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” เหนือรัฐธรรมนูญ

2. ระยะเวลาหลังการเปลี่ยนผ่าน รัฐบาล คสช. สู่ การเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีช่องเว้นว่างประมาณ 2-3 เดือน นั้น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในฐานะของ “รักษาการนายกฯ” และเมื่อประกาศผลการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาดำรงตำแหน่ง นายกฯ ตามเดิม พร้อมกับควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเหล่าทัพ

3. อำนาจการอนุญาตให้เข้าพักในบ้านพักทหารนั้น อยู่ที่ ผบ.ทบ.จะใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ “อดีตผู้บังคับบัญชา” อยู่ต่อหรือไม่ เช่นเดียวกับในสมัย พล.อ.อภิรัชต์ อดีตผบ.ทบ. ซึ่งได้เคยวางแนวทางดังกล่าวไว้

เช่นเดียวกัน กรณี ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรี และเคยใช้ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” เป็นที่พำนัก จนกระทั่งสิ้นลมหายใจ

อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “ไม่ผิด” นั้น อาจเป็นแรงกระเพื่อมทางการเมือง ในลักษณะ “การลดทอนความชอบธรรม” ขององค์กรอิสระ ตอกย้ำแนวคิดที่ว่า “ฝ่ายฉันผิดตลอด อีกฝ่ายไม่เคยผิด”

“ขณะที่อีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งหาก ศาลวินิจฉัยว่า “ไม่ผิด” กระบวนการต่อจากนี้ ก็ยังจะมีการยื้อเวลาออกไปอีกเช่นเดียวกัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถนั่งในตำแหน่ง “รักษาการณ์นายกฯ” ได้อยู่ตราบเท่าที่ ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ยังไม่เสร็จสิ้น ก่อนจะมีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่” วันวิชิต กล่าวในตอนท้าย

สุดท้ายคำตอบที่ได้ในท้ายที่สุดอาจไม่สมอารมณ์หมายของฝ่ายประชาธิปไตย ที่เรียกร้องให้ นายกฯลาออก และยุบสภา เปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ พร้อมกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเวลาอันรวดเร็ว แต่แน่นอนว่ากระบวนการนี้ ฝ่ายการเมืองกลับได้ประโยชน์จากการดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย