อีกหนึ่งโครงการที่ปิดทองหลังพระทำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือโครงการทุเรียนคุณภาพ ช่วยชาวสวนรายเล็กส่งออกได้ เกือบ 1,000 ตัน สร้างรายได้หลายสิบล้าน
“ทุเรียน” กลายเป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ที่สำคัญให้กับไทย โดยมีตลาดหลักคือ จีน ซึ่งช่วงโควิด-19 ความต้องการทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นมาก พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นอีกแหล่งผลิตทุเรียนชั้นดีของประเทศ แต่ขาดการสนับสนุน ช่วยเหลือ ดูแลอย่างจริงจัง
แต่ปัจจุบันสามารถส่งออกไปจีนได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้พาไปเยี่ยมชมการผลิตทุเรียนของพี่น้อง จ.ยะลาและนราธิวาส ซึ่งก่อนหน้านี้ปิดทองฯ ได้เข้าไปดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการทุเรียนคุณภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อเนื่องสู่ปีที่ 3 โดยยึดหลักแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ล่าสุดอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ นาย วิรไท สันติประภพได้มีโอกาสไปพูดคุยกับชาวสวนทุเรียนในโครงการ ทุเรียนคุณภาพ ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลังร่วมโครงการ จึงได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ veerathai santiprabhop โดยมีใจความว่า
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสวนทุเรียนขนาดเล็กจำนวนมากที่ไม่เคยได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ชาวบ้านขาดความรู้ ขาดแรงบันดาลใจ ขาดแรงงาน และขาดกลไกด้านการตลาดมาสนับสนุน ใครเข้าไปรับซื้อทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะกดราคาเพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูงทั้งเรื่องคุณภาพทุเรียนและความปลอดภัย
วันนี้แวะไปคุยกับเกษตรกรในโครงการทุเรียนคุณภาพที่บาเจาะ บันนังสตา ยะลา เห็นการเปลี่ยนแปลงของการดูแลสวนทุเรียนและรายได้อย่างชัดเจน
ปี 2563 ทุเรียนหมอนทองที่ดูแลต้นอย่างใกล้ชิดตลอดปีตามหลักวิชาทุเรียนคุณภาพของปิดทองหลังพระ สามารถส่งออกผ่านโครงการได้เกือบ 1,000 ตัน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นหลายสิบล้านบาท หลายคนที่เคยมีรายได้เพียงหลักแสนบาทต้นๆ ต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านบาทจากการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี เกษตรกรหลายคนปลดหนี้ที่เคยมีมานานได้เพียงช่วงเวลาสองปี
ที่น่าดีใจคือมีรุ่นลูกหลานเกษตรกรสูงอายุที่เคยไปทำงานที่มาเลเซียแล้วต้องกลับบ้านเพราะ Covid-19 มาช่วยครอบครัว หลายคนบอกว่าจะไม่กลับไปทำงานนอกพื้นที่อีกแล้วเพราะเห็นโอกาสที่ชัดเจนและจะพัฒนาต่อได้อีกมาก
อาสาสมัครทุเรียนคุณภาพของปิดทองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้มีกว่า 100 คน ที่คอยเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ และเก็บข้อมูลรายแปลงโดยละเอียดผ่านระบบคอมพิวเตอร์และ Monthong application ของปิดทองหลังพระ
อาสาสมัครหลายคนเป็นผู้หญิง เป็นแม่บ้าน ไม่เคยทำงานในสวนทุเรียนมาก่อนด้วยซ้ำไป วันนี้สามารถให้คำแนะนำและเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรรุ่นพ่อได้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย
ปี 2564 นี้มีเกษตรกรขอเข้าร่วมโครงการแล้ว 564 คน และหวังว่าจะขยายผลได้อีกมาก
น้องๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของปิดทองหลังพระเป็นคนรุ่นใหม่ เกือบทั้งหมดอายุน้อย หลายคนมาจากนอกพื้นที่ พูดกับชาวบ้านต้องมีล่ามแปลระหว่างภาษาไทยกับยาวี แต่ก็สามารถร่วมกันทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรสวนทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงใช้การต่อสู้กับความยากจนแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ การแก้ปัญหาความมั่นคงในสมัยนี้ก็ยังต้องใช้การแก้ปัญหาความยากจนเป็นหลักเช่นกัน ศาสตร์การพัฒนาของพระราชาไม่ล้าสมัยครับ
ข่าวที่น่าสนใจ
เปิดตัวโครงการ Koh Tao, Better Together ช่วยชาวเรือเกาะเต่า จากพิษโควิด-19