ถอดรหัสเหตุการณ์ที่รามคำแหง เมื่อม็อบสองฝ่ายมาเจอกัน ความหวาดหวั่นที่คนไทยบางส่วนกลัว “ม็อบชนม็อบ” อาจจะเกิดขึ้น
จากเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในเย็นย่ำวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังสองกลุ่มประชาชนที่เห็นไม่ตรงกันในแง่ความคิดเห็นทางการเมือง ก็เข้าปะทะกันให้คนไทยได้เห็นกันบ้างแล้ว
ใครจะผิดจะถูก ใครจะเริ่มก่อนกัน ระหว่างกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่ในนามทั้งคณะราษฎร 2563 และกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ไม่เอารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับข้อเสนอหลักที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบัน กับกลุ่มที่ขอจงรักภักดีกับสถาบัน และเชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศอย่างพล.อ.ประยุทธ์ อย่างกลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจุดเริ่มต้นจะเป็นอย่างไร แต่ภาพที่ปรากฏคือการเข้าปะทะกันด้วย “แรงกาย” กันแล้ว มากกว่าแรงคิดที่จะใช้ตอบโต้กัน
ภาพที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนจากความกังวลของหมู่คนไทยบางกลุ่มให้กลายเป็นความจริง จากความกลัวที่ว่า “ม็อบจะชนม็อบ” มันได้เกิดขึ้นจริงแล้ว และแม้ว่ามันจะเป็นกลิ่นบางๆ จางๆ ที่ยังไม่รุนแรงหรือเข้มข้น แต่มันก็เป็นการจุดชนวนที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างทั้งสองกลุ่มได้ในอนาคต
จากเดิมที่ม็อบของคนรุ่นใหม่ที่แสดงออกทางการเมืองครั้งใหญ่ในชั่วโมงนี้ จะต้องต่อสู้และเผชิญกับทางเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล ที่จะใช้วิธีทั้งไม้แข็ง และไม้อ่อนเป็นแน่เพื่อกำราบพวกเขาให้ได้ แต่จากนี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุม อาจจะต้องเจอกับกลุ่มที่เห็นต่างจากกลุ่มตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
น่าสนใจที่ว่า แต่ละกลุ่มที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง อย่างกลุ่มที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป บางกลุ่มเริ่มที่จะเลือกพื้นที่แสดงออกทางการเมืองตามจุดและพิกัดที่ใกล้เคียงกับกลุ่มคณะราษฎร 2563 หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ มันจึงสุ่มเสี่ยงพอควรที่จะทำให้ทั้งสองม็อบต้องเผชิญหน้ากัน และมันก็เกิดขึ้นแล้วกลางลานพ่อขุน ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เหตุการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่ายิ่งทำให้ตำรวจที่เป็นหน่วยหลักในการดูแลทั้งความปลอดภัย การจราจร อีกจิปาถะมากมายให้มีการเพิ่มงานเพิ่มหน้าที่ เพื่อกันม็อบทั้งสองไม่ให้เข้าเผชิญหน้ากัน เฉกเช่นกับเหตุการณ์ที่ม.รามคำแหง ที่คนไทยทั้งประเทศได้เห็นภาพความชุลมุนวุ่นวายทั้งสองกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่ต่างขับไล่ ผลักดัน ตะโกนด่าทอกัน และกระทบกระทั่งกัน ท่ามกลางการเข้าระงับเหตุการณ์ของตำรวจจำนวนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่อาจได้ผลที่ดีนัก แม้เหตุการณ์จะหยุดลงไปแต่หากเป็นกลุ่มมวลชนสองฝั่งความคิดที่จำนวนเยอะกว่านี้ ภาพความวุ่นวายและรุนแรงคงจะหนักหนากว่าเหตุการณ์ในม.รามคำแหงนัดล่าสุด
โจทย์ต่อมาคือมันอาจจะเป็นโมเดล ที่จะเป็นรูปแบบการชุมนุมของทั้งสองม็อบ เพราะยิ่งเวลาเดินหน้า ความเข้มข้นในข้อเรียกร้องก็ต้องมากตาม ซึ่งมันจะมาพร้อมกับความรุนแรงด้วยหรือไม่ แน่นอนว่าคนที่แก้ไขเป็นหลักคือรัฐบาลที่ต้องวางแผนไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสองกลุ่มการเมืองที่จะนำมวลชนให้ได้
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งหน้าที่ คือ มวลชนเอง ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่จะหักห้ามความรู้สึกการอยากปะทะกันเอาไว้ด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าคนที่อยู่ตรงหน้าแม้ความคิดเห็นต่างแต่ก็คือเพื่อนร่วมชาติเหมือนกัน
เครดิตภาพ : จากเพจ เยาวชนปลดแอก – free youth
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ซูเปอร์โพลสะท้อน 94%คนไทยชี้เสรีภาพมีได้ แต่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ