ระดมหน่วยงานพลิกฟื้น “ชาวแพสะแกกรัง” หลังเผชิญแล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี

ระดมหน่วยงานพลิกฟื้น “ชาวแพสะแกกรัง” หลังเผชิญแล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี


16 หน่วยงานร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวแพสะแกกรัง 127 ครัวเรือน หลังรับผลกระทบวิกฤติน้ำแล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี

ตามที่ชุมชนชาวแพที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี 127 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง เนื่องจากแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณลดน้อยลง ทำให้เรือนแพที่ปลูกอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังเกยตื้น ลูกบวบแพที่ใช้พยุงแพได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาต่าง ๆ ติดตามมา เช่น มีผักตบชวาอยู่ในแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้การสัญจรทางเรือลำบาก การเลี้ยงปลาในกระชังได้รับความเสียหาย เนื่องจากน้ำเริ่มเน่าเสีย การทำมาหากินลำบาก ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และผู้ด้อยโอกาส

สำหรับชุมชนชาวแพลุ่มน้ำสะแกกรัง ถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศ ภายหลังวิถีชีวิตของคนริมน้ำเปลี่ยนไป ด้วยความเจริญที่เพิ่มมากขึ้น ระบบขนส่งสัญจรที่เปลี่ยนจากแม่น้ำไปเป็นถนน จึงทำให้ชุมชนชาวแพสะแกกรัง ถือเป็นแหล่ง่อทเงี่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.อุทัยธานี ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่บนแพ

เทศบาลเมืองอุทัยธานี ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวแพสะแกกรังและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี โดยมีนายณรงค์ รักษ์ร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีเป็นประธาน มีนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ 16 หน่วยงาน ชาวแพสะแกกรังและผู้แทนชุมชนต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากกระทรวง พม. คือ พอช. และ พมจ.อุทัยธานีร่วมกับชุมชนชาวแพ ได้จัดกระบวนการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน โดยพบปัญหาและความต้องการของชุมชนชาวแพทั้งหมด 127 ครัวเรือน รวม 8 ด้าน เช่น ปัญหาน้ำแล้ง สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การจัดการท่องเที่ยวชุมชน คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส อาชีพ–รายได้ ด้านวัฒนธรรม และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

“สมชาติ ภาระสุวรรณ” ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า ตามแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนเรือนแพจะเริ่มได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเริ่มซ่อมแซมเรือนแพซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากก่อสร้างมานาน ประกอบกับลูกบวบที่ใช้พยุงแพซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่ชำรุดแตกหัก เนื่องจากน้ำในแม่น้ำสะแกกรังและเจ้าพระยามีปริมาณน้อย ทำให้เรือนแพเกยตื้น ลูกบวบจึงได้รับความเสียหาย

โดย พอช.จะสนับสนุนงบพัฒนาสาธารณูปโภค กายภาพ อุดหนุนการซ่อมแพ การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน เฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท รวมงบประมาณทั้งหมด 7,420,000 บาท และคาดว่าการซ่อมแพและพัฒนาที่อยู่อาศัยจะแล้วเสร็จบางส่วนในช่วงเดือนตุลาคมนี้

ส่วนการพัฒนาชุมชนเรือนแพสะแกกรังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปนั้น ตามแผนงานจะมีการส่งเสริมด้านต่างๆ เช่น 1.กลุ่มสืบสานวัฒนธรรม อบรมให้เกิดวิทยากรชุมชน มัคคุเทศชาวชุมชนเรือนแพ 2.กลุ่มสืบทอดการทำเรือนแพ ถ่ายทอดความรู้ไม่ให้สูญหายไป 3.กลุ่มความเข้มแข็งของชุมชน พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ดำรงวิถีชีวิตชาวแพ 4.การส่งเสริมอนุรักษ์ปลาพื้นถิ่น เช่น ปลาแรด 5.การแปรรูปปลา สร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้ชุมชน 6.เปลี่ยนผักตบชวาให้เป็นของใช้ ทำเป็นภาชนะใส่อาหารต่าง ๆ ฯลฯ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ก.อุตฯ จับมือเอกชน ผู้ประกอบการ ร่วมกิจกรรมจิตอาสา ฟื้นฟูคลองแสนแสบ

โควิดระลอก 3 เริ่มระบาดในฮ่องกง เชื่อระบาดเป็นกลุ่มคลัสเตอร์