มีคนกล่าวเอาไว้ว่า “กระแสเงินสด คือสายเลือดหลักของบริษัท และธุรกิจ”
แต่แน่นอนว่าในยามที่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโลกจากพิษไวรัส รวมไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมา คงเป็นเรื่องยากที่จะคงเอาไว้ซึ่งสถานะเงินสดของบริษัท คำถามที่ตามมาหลังจากเกิดวิกฤต เชื่อว่าหลายองค์กรธุรกิจคงหนีไม่พ้นคำถามทำนองว่า
เราจะเดินหน้าธุรกิจเหมือนเดิมดีหรือเปล่า?
เรารอจังหวะให้ดีขึ้นกว่านี้ แล้วค่อยไปจ้างงานอีกที ดีมั้ย?
แล้วการลงทุนในช่วงนี้ มันจะเสี่ยงไปหรือเปล่า?
ตัวอย่างคำถามข้างบน สะท้อนให้เห็นภาพอีกประการคือการเดินธุรกิจแบบ “เดิม ๆ ” ที่แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไป แต่เพราะความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ทำให้ผู้นำบริษัท เจ้าของกิจการ ยังไม่กล้าเดินหน้า แต่คำถามต่างๆ ก็ยังคงเต็มไปหมด
แต่หลายคนที่เลือกใช้ “วิกฤต” และเปลี่ยนมันเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจให้เติบโตตามแผนที่วางไว้ และรองรับกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น วาเรนต์ บัฟฟ์เฟต เศรษฐีนักลุงทุนระดับโลกชาวสหรัฐฯ หากจำกันได้ในวิกฤตเศรษฐกิจของคนอเมริกันเมื่อ 12 ปีก่อน บัฟฟ์เฟต ใช้โอกาสนี้ลงทุนนับพันล้านดอลล่าห์ฯ กับบริษัทที่เข้าเชื่อถือ และยังเป็นการช่วยเหลือเขาอีกทาง ผลที่ได้รับกลับมาคือกำไรมหาศาลกว่า 1 หมื่นล้านดอลล่าห์ฯ ที่เข้ากระเป๋านักลงทุน และบริษัทองค์กรเอง
ยุทธศาสตร์นี้ ฝรั่งมองว่า “ใช้ได้ทุกขนาดขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้วยเลขเท่าใดก็ตาม”
มาถึงบรรทัดนี้ คำถามที่น่าสนใจคงไม่ใช่ตามข้อสงสัยในข้างต้น หากแต่ว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโลกจากโควิด-19 การลงทุนในช่วงนี้เพื่อธุรกิจ มันจะมีผลดีมากแค่ไหน? เพื่อต่อยอดให้องค์กรเดินหน้าให้ได้เป็นอย่างน้อยในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า
Minutes Magazine นิตยสารวงการธุรกิจระดับโลก มองคำถามนี้ และวางธงคำตอบเอาไว้ 4 ด้าน ที่ระบุว่า “ช่วงเวลานี้ คือโอกาสที่น่าลงทุน” ซึ่ง ThaiQuote ขอหยิบยกเอามาให้กับนักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ ได้อ่านเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเดินหน้าธุรกิจของตัวเอง ภายใต้โจทย์ปัญหาเดียวกันที่ทุกองค์กรทั่วโลกกำลังเจอ
1.ปัญหาคือตัวเร่งความคิด “เชิงลึก” ขององค์กร
ศักยภาพของผู้นำองค์กรจะถูกรีดออกมาเมื่อเจอสถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไปจากเดิม การคิดในเชิงคอนเซอเวย์ทีฟ หรือคิดแบบโบราณในการเดินธุรกิจจำต้องเปลี่ยนไป
ตัวอย่างที่หลายองค์กรคือการที่พนักงานจะต้องปฏิบัติตามผู้นำ ผู้บริหาร เพื่อให้งาน ผลิตภัณฑ์ และสินค้า ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การฟังเสียงของพนักงานอาจจะจำเป็นมากยิ่งขึ้น และต้องปรับมุมมองการกำหนดแผนงานใหม่เพื่อรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นสำหรับองค์กรด้วย เพราะอย่างน้อยในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แผนอนาคตสำหรับบริษัทจะต้องร่างให้เห็นภาพว่าอย่างน้อยที่สุดจะเดินหน้าไปได้อีกสัก 5 ปี
2.เมื่อธุรกิจถูกบังคับให้เปลี่ยน พนักงานจะบอกผู้นำเองว่าต้องการสิ่งใดเพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
ในภาวะปกติ เรื่องการสะท้อนถึงปัญหาสำหรับการทำงานมักจะไม่ถูกหยิบมาพูดถึง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของทุกองค์กรอยู่แล้ว แต่สำหรับวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผลกระทบมันไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะเจ้าของกิจการ หรือผู้นำองค์กรเท่านั้น แต่ทุกคนในองค์กรต่างๆ ที่เจอผลกระทบ
และแน่นอนว่ามันจะมีผลต่อความหวังต่อการทำงาน เพราะพันเกี่ยวกับอนาคตของพนักงานในองค์กรนั่นเอง คำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคาดหวังต่อองค์กรจึงเกิดขึ้น ซึ่งมันจะเป็นการสื่อสารที่เป็นลักษณะ “จากล่างขึ้นบน” แตกต่างจากเดิมที่เป็น “จากบนลงล่าง” และเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย หากผู้นำองค์กรจะรับฟังเพื่อคิดค้นหาทางแก้ไขต่อไป
3.จังหวะทองคำ หากจะหาแหล่งเงินทุน-สินเชื่อ ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้
พึงจำเอาไว้ว่า ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตทางการเงิน ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
การลดอัตราดอกเบี้ยลง หมายถึงโอกาสการที่องค์กรธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อ และการก่อหนี้เพื่อธุรกิจ ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป นั่นเพราะการกู้เงินโดยได้ดอกเบี้ยราคาต่ำ หรือแม้แต่ 0% เองก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องที่หาได้ในทุก ๆ วัน
ยกตัวอย่างว่าหากการก้าวเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ แต่เป็นสิ่งที่ดีเมื่อมองถึงอนาคตขององค์กร บริษัท และธุรกิจ รวมไปถึงการกู้สินเชื่ออาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีที่ทำให้เห็นทิศทางสำหรับอนาคตของธุรกิจได้
4.หากอยากเปลี่ยนแปลง ช่วงวิกฤต คือโอกาสที่ดีที่สุด
วลีฝรั่งกล่าวเอาไว้ว่า “Put yourself in the shoes of your target customer” หรือการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความต้องการของลูกค้า หรือเป้าหมาย ถือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในขณะนี้สำหรับการเดินหน้าธุรกิจในยามวิกฤต
การรู้จัก “ความต้องการ” ของเป้าหมายลูกค้า อาจจะไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เคยทำให้กับลูกค้ามาโดยตลอด แต่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือการเผชิญปัญหาที่รายรอบ การปรับเปลี่ยนการบริการกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หรือการช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าเดินหน้าได้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของโอกาสที่จะช่วยพลิกองค์กรของตัวเองจากวิกฤตที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน
รวมไปถึงการหาเป้าหมายใหม่ หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จากเดิมที่เคยมีอยู่ ก็เป็นอีกทางเลือกของความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ตลาด และโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนๆ กันคือ “วัฏจักร” หรือการมีขึ้นและลง และมีช่วงเวลาที่ดีและแย่ปะปะนกันไป แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการก้าวไปข้างหน้า เพื่อชิงความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ท้ายสุดจากคำแนะนำทั้ง 4 ข้อ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับมือกับทุกสถานการณ์อย่างมีแผนงาน และมีความรอบคอบ ที่สำคัญคือเมื่อเดินหน้าไปแล้ว “อย่าถอยกลับมา”
เพราะปัจจัยที่สร้างปัญหาต่างๆ ทั้งโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา องค์ประกอบเหล่านี้จะไม่มีทางกลับสู่รูปแบบเดิมอย่างแน่นอน
ดังนั้น ก็เป็นหน้าที่ของธุรกิจ องค์กร ที่ต้องเดินหน้าตามไปให้ได้
ข่าวที่น่าสนใจ