“กลุ่มคนตัว D” พัฒนาศักยภาพเยาวชนเป็นนักสื่อเสียงสุขภาวะให้คนในวัยเดียวกัน

“กลุ่มคนตัว D” พัฒนาศักยภาพเยาวชนเป็นนักสื่อเสียงสุขภาวะให้คนในวัยเดียวกัน


ทีมสื่อ “กลุ่มคนตัว D” จัดทำกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะ ผลิตเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะ เพื่อเป็นกระบอกเสียงของตนเองและสื่อสารกับคนในวัยเดียวกัน

เยาวชนกับบทบาทของการเป็นสื่อ อาจเป็นภาพที่ไม่คุ้นชินนักในสังคมไทย เพราะส่วนใหญ่สื่อทั่วไปมักจะเป็นผู้ใหญ่พูดแทนเด็กว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร ด้วยเหตุนี้ “กลุ่มคนตัวD” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของทีมสื่อที่ทำงานเกี่ยวกับการผลิตสื่อเสียง จึงได้จัดทำ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายนักสื่อเสียงสุขภาวะ สร้างคนไทยหัวใจฟู เพื่อความรอบรู้สุขภาพ เพื่อผลิตเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะมาเป็นกระบอกเสียงของตนเองและสื่อสารกับคนในวัยเดียวกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะ เกิดขึ้นเพราะเรามองว่าปัจจุบันสื่อเสียงที่เด็กเป็นผู้ผลิตเองมีจำนวนน้อย ซึ่งปัจจุบันสื่อเสียงได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงได้สำหรับคนทุกช่วงวัย เราคาดหวังว่าเด็กจะเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความสนใจและความต้องการของตนเองรวมถึงสามารถพัฒนาเนื้อหาสื่อเสียงที่มีการส่งเสริมสุขภาวะเพื่อสื่อสารสำหรับคนในวัยเดียวกันได้

เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีทักษะพื้นฐานเรื่องการผลิตสื่อในสไตล์ตัวเองอยู่แล้ว เราจึงคิดสิ่งที่ควรเสริมเข้าไปในในการเรียนรู้คือ ประเด็น ส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน และสุขภาวะครอบครัว เพื่อให้น้องๆ นำไปปรับใช้ในการผลิตสื่อในมุมของเขาเอง ถ้าเด็กๆ สามารถทำได้จะเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเด็กจะลุกออกมาอยู่ในพื้นที่สื่อมากขึ้น” จันทิมา ตรีเลิศ ผู้รับผิดชอบโครงการเครือข่ายนักสื่อเสียงสุขภาวะ สร้างคนไทยหัวใจฟู เพื่อความรอบรู้สุขภาพ กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้

พร้อมกันนี้ เธอได้บอกเล่าถึงการทำงานของโครงการว่ามี 3 ส่วน คือ ส่วนเครือข่ายวิทยุชุมชน ส่วนงานเยาวชน และการสื่อสารสังคมผ่านช่องทางวิทยุคลื่น FM 105 MHz สถานีวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัว ทั้งสามส่วนนี้ คือ เน้นสร้างนักสื่อสารสุขภาวะ ผ่านช่องทางที่เป็นสื่อเสียง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ

โครงการเครือข่ายนักสื่อเสียงสุขภาวะสร้างคนไทยหัวใจฟู เพื่อความรอบรู้สุขภาพ ปีนี้ดำเนินการเป็นปีที่ 2 เพื่อสร้างเครือข่ายสถานีวิทยุชุมชนที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ให้ลุกขึ้นมาเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ สื่อสารเรื่องการทำงานจิตอาสาในชุมชน การสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ให้ข้อมูลด้านสุขภาพผ่านรายกาวิทยุ ทั้งนี้ ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาในปีนี้ คือ การสร้างเยาวชนนักสื่อเสียง เพื่อผลิตเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจและความต้องการของเด็กในวัยเดียวกัน เปิดรับสมัครโดยให้เด็กส่งคลิปเสียงของตัวเองเข้ามาโดยไม่กำหนดหัวข้อ และคัดเลือกจากสื่อเสียงและความสนใจ ซึ่งมีผู้ร่วมโครงการทั้งหมด 28 คน อายุ 12 -16 ปี

มีการจัดอบรมให้น้องๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยกระบวนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนนักสื่อเสียง แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ

1. เรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ทำกิจกรรมสัมพันธ์ แนะนำเรื่องสื่อเสียงและการใช้เสียง ทักษะการผลิตสื่อเสียง

2. ช่วงทดลองผลิตสื่อเสียงและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ โดยมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มเป็นที่ปรึกษา

3. เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมพลเยาวชนนักสื่อเสียง เติมเต็มความรู้และทักษะการผลิตสื่อเสียง หลังจากเริ่มอบรมไปไม่นานก็ได้เห็นน้องๆ ผลิตผลงานสื่อเสียงมา ในจำนวนเด็กทั้งหมด มีน้องชั้น ป. 6 อายุ 11 ปีเข้ามา 1 คน

อย่างไรก็ตาม ช่วงอายุไม่มีผล เพราะเด็กแต่ละคนมีพื้นที่เป็นนักกิจกรรมอยู่แล้ว เป็นดีเจชุมชน ทำรายการในยูทูบ มีความสามารถในการผลิตสื่อเสียง แต่สิ่งที่เราคาดหวังคือ เขาจะพูดได้มากกว่าประเด็นที่เคยพูด เราจะเติมมุมมอง เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะเพื่อให้ไปปรับใช้ในมุมของเขาเอง เช่น บางคนอยากทำเรื่องพูดคุยกับพ่อแม่อย่างไรให้เข้าใจถ้าเขาต้องการเล่นเกม ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสุขภาวะเหมือนกัน เป็นการสื่อสารกันในครอบครัวในมุมน่ารักๆ

จันทิมา กล่าวอีกว่า ทีมงานได้เปิดมุมมองให้น้องๆ ได้เห็นอีกช่องทางหนึ่งของงานสื่อเสียงว่าไม่ใช่แค่การจัดรายการวิทยุ หรือทำ Podcast เท่านั้นแต่ควรเน้นไปที่ความน่าสนใจของการนำเสนอ การเล่าเรื่อง โดยในการผลิตสื่อจะพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ

“เราเชื่อว่าเด็กหลายคนที่อยู่ในนั้น จะต้องเห็นมุมมองอะไรบางอย่างสมมุติรู้ว่าเพื่อนเขาเล่นเกม เขาก็จะไปสื่อสารเรื่องเล่นเกมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจเหมือนกันแต่เพิ่มเรื่องสุขภาวะเข้าไปได้ เช่น ควรใช้เวลาเล่นกี่ชั่วโมง ในกระบวนการเรียนรู้นี้ เราจะเติมประเด็นเกี่ยวกับสุขภาวะ และให้เด็กได้ทดลองผลิตสื่อเสียงในสไตล์ตัวเอง และท้ายที่สุดแล้วอยากให้เขาพัฒนาตัวเองไปใช้สื่อเสียงด้านอื่นเช่นการเป็นพิธีกรรายการ การทำรายการใน YouTube การรีวิวต่างๆ ตอนนี้น้องๆ มีประสบการณ์แต่ยังเหลือแค่ว่าต้องหาความแตกต่างระหว่างสื่อเสียงกับสื่อทั่วไปว่าเป็นอย่างไร” ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าว

ด้วยความที่เยาวชนแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน การใช้พี่เลี้ยงจึงมีความสำคัญในการช่วยค้นหาสไตล์หรือช่วยน้องๆ ค้นหาตัวเอง เพื่อจะได้เติมเต็มด้านทักษะเฉพาะให้กับเด็กเหล่านั้น ชลธิศ กรดี นักจัดรายการ และ โปรดิวเซอร์ ผู้รับหน้าที่เมนเทอร์ หรือ ที่ปรึกษาของน้องๆ ในเรื่องสื่อเสียงและการใช้เสียง เผยว่า สิ่งแรกที่จะเติมให้เด็กๆ ในโครงการนี้ คือ ความเข้าใจในสิ่งที่จะนำเสนอก่อนว่าสิ่งนั้นคืออะไร อาจยกตัวอย่างงานที่ดีๆ มาถอดรหัสให้น้องๆ เห็นภาพว่าทำไมงานชิ้นนั้นถึงเป็นที่น่าสนใจ จะได้ย้อนกลับมาเข้าใจงานของตัวเองมากขึ้น

“ผมมองว่าการสื่อสารสุขภาวะเป็นการสื่อสารในเชิงบวก ในเมื่อเราเป็นผู้ส่งสารเองแล้วก็ควรที่จะเลือกเป็นว่าจะสื่อสารออกไปแบบไหนที่จะทำให้เกิดผลดีต่อสังคม ต่อสุขภาพ ต่อผู้คนรอบข้าง มากกว่าที่จะสื่อสารตามกระแส นี่คือความหมายของคำว่านักสื่อสารสุขภาวะ ถ้าเราได้เรียนรู้เข้าใจว่าสิ่งที่จะนำเสนอ และมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร สิ่งนี้จะเป็นอาวุธประจำตัวหรือภูมิคุ้มกันให้เขาไม่ไหลไปตามกระแสที่ผ่านไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องดีที่เราได้เห็นเด็กพวกนี้ได้ลองใช้เครื่องมือใหม่ๆและวิธีการใหม่ๆ ในการสื่อความคิดของเขาออกมา เราแค่ทำหน้าที่ปรับซ้ายขวาให้เขา ผมบอกได้เลยว่างานแทบทุกชิ้นของน้องๆ สามารถทำให้เราอึ้งและทึ่งมาก ไม่ใช่ว่าเลิศ ดี เก่ง แต่เขาแสดงความเป็นตัวตนออกมาได้ดี” เมนเทอร์ ชลธิศ กล่าว

ติดตามผลงานของเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะในสไตล์ของแต่ละคน ที่จะทำให้ผู้ฟังลืมคำว่างานของเด็กมีแต่เรื่องบันเทิงแค่นั้น ไปเลย ได้ทาง เพจคนไทยหัวใจฟู และ Youtube homeradio 1

ข่าวที่น่าสนใจ