ถอดรหัส! ทำไมรัฐบาลต้องการ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” จากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติที่มาหากินในเมืองไทย “เงินเข้าแผ่นดิน” แต่ภาระจะอยู่ที่คนไทย หรือเปล่า?
มีประเด็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ไฟเขียวในวงประชุมเมื่อ 9 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ว่า “รัฐบาลไทย” เตรียมจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกว่า “อี-เซอร์วิส” หรือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าหากทุกอย่างโอเค กระทรวงการคลังจะมีโอกาสเก็บเงินภาษีเข้าสู่แผ่นดินได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท/ปี
ขยายความลงไปว่า “แพลตฟอร์มดิจิทัล” จากต่างประเทศมันคืออะไร ถึงทำให้ทิศทางของข่าวออนไลน์เข้ามาจับตากับเรื่องนี้ และพันเกี่ยวอย่างไร คำตอบนั้นอยู่ใกล้กับสายตาของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศอย่างมาก เพราะคือกลุ่มแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ความบันเทิงกับผู้คน ทั้ง Netflix หรือช่องบันเทิง Disney+ ฟังเพลงผ่านระบบ Sportify และแม้แต่ดูหนังเรื่องดังจากช่อง HBO GO
ทั้งหมดความบันเทิงเป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ที่ทำให้เห็นภาพว่า กลุ่มบริษัทที่ดูแลแพลตฟอร์มเหล่านี้ พวกเขามีฐานบัญชาการที่ต่างประเทศโดยเฉพาะฐานหลักคือสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเอเชีย อาเซียน ทั้งญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ แต่ทั้งหมดไม่ได้มีบริษัทลูกในประเทศไทย และเป็นกลยุทธ์ในการเดินธุรกิจของทุนต่างชาติเหล่านี้ ที่จะหลบปัญหาการรีดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในหลายประเทศที่กลุ่มนี้เข้าไปให้บริการ และไทยยังยึดเอาแผนการจัดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมาจากต่างประเทศ ที่ทำเหมือนกัน อาทิเช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
แต่การจัดเก็บภาษี “อี-เซอร์วิส” ของรัฐบาลไทย มันจะมีผลกระทบมายังผู้บริโภคชาวไทยในทางตรงทันที แม้หลายคนอาจมองว่าไม่เกี่ยวข้อง เพราะรัฐบาลเลือกเป้าเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทต่างชาติเหล่านี้ในการให้ความบันเทิงออนไลน์กับคนไทย
เพราะหากมองภาพตาม “ภาษี” ที่รัฐบาลไทยจะเก็บจากบริษัทต่างชาติ ก็คือ “เงิน” และเงินส่วนนี้จะมาจากไหนให้ได้เก็บกัน ก็ต้องมาจากการ “เพิ่มราคา” ในการเป็นสมาชิก การใช้บริการจากคนไทยนั่นเอง หรือเท่ากับว่าจะเป็นการเก็บเอาภาษีเงินได้เข้ามาแทน
นี่จึงเป็นคำตอบที่หลายคนกำลังกังวล โดยเฉพาะขณะนี้ที่คนไทยเกือบทั้งประเทศเข้าถึงได้ในทุกแพลตฟอร์มดิจิทัล และใช้กันจนคุ้นชินในชีวิตประจำวัน เรื่องความบันเทิงต่างๆ ที่เคย “เสพ” เพื่อความสุขกาย สุขใจในราคาเดิมที่เคยจ่ายกันจนชิน กลับจะต้องจ่ายในราคาใหม่ที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งหากกฎหมายนี้ออกมาจริง ๆ ก็น่าจะเป็นไปตามนี้ เพราะเชื่อว่ากลุ่มทุนต้องประเมินเช่นกันในการคำนวณเกี่ยวกับผลประกอบการ กำไร-ขาดทุน
อย่างไรก็ตาม ในแพลตฟอร์มบล็อกดิต มียูสเซอร์ชื่อว่า “นักยุทธศาสตร์” ให้ความรู้ว่า หากคนสงสัยว่าเหตุใด รัฐบาล หรือกระทรวงการคลัง ไม่เลือกเก็บเป็น “ภาษีเงินได้” กับผู้บริการที่เป็นบริษัทต่างชาติ เพราะเมื่อบริษัทข้ามชาติก็มีโอกาสตัดสินใจขึ้นค่าบริการอยู่ดี
คำอธิบายคือ ตามหลักแล้ว รัฐบาลไม่สามารเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทต่างประเทศ หรือบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาหากินในไทย โดยที่ไม่มีบริษัทลูก หรือสถานประกอบการถาวรตั้งอยู่เป็นหลักแหล่งในไทย ดังนั้น หาบริษัทอย่าง Netflix เข้ามาเปิดให้บริการในไทย แต่ไม่ได้มาตั้งออฟฟิศในไทย (เพราะมีออฟฟิศที่สิงคโปร์) ทางการไทยก็ไม่สามารถไปเก็บภาษีเงินได้จาก Netflix ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับอีกหลายประเทศที่ต้องเจอ
ท้ายสุด สิ่งที่เรียกว่า “อี-เซอร์วิส” หรือแวตจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ยังคงเป็นแนวคิดที่ออกมาจาก ครม.เท่านั้น ขั้นตอนจากนี้นับว่ายังอีกไกลหากจะคลอดออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้กัน เพราะขั้นตอนจะต้องถูกนำเข้าสู่ประชุมของรัฐสภา และผ่านการเห็นชอบจนออกมาเป็นกฎหมาย หรือถูกตีตกไปก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. “อี-เซอร์วิส” ไล่เช็กบิลแพลตฟอร์มดาวน์โหลด หนัง เพลง เกม
กองทุนพัฒนาสื่อฯ จับมือ ทูแฮนส์ ปั้น Multi-platform content รูปแบบใหม่ พัฒนาเยาวชน