“สัณหพจน์” น้อมนำพระราชดำริสร้างท่องเที่ยวลุ่มน้ำปากพนัง “เมือง 4 น้ำ 3 รส” อย่างยั่งยืน

“สัณหพจน์” น้อมนำพระราชดำริสร้างท่องเที่ยวลุ่มน้ำปากพนัง “เมือง 4 น้ำ 3 รส” อย่างยั่งยืน


“สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.พลังประชารัฐ นครศรีธรรมราช น้อมนำพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ตามหลักการเมือง 4 น้ำ 3 รส สร้างท่องเที่ยวชุมชน ชูจุดเด่นเกษตร-วัฒนธรรมวิถีชีวิตคน “ลุ่มน้ำปากพนัง” ขับเคลื่อนสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมกับ นายสมชาย เสมมณี ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬา จ.นครศรีธรรมราช ตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้นำชุมชนในพื้นที่อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวด และอ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ร่วมหารือ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวลุ่มน้ำปากพนังอย่างเป็นรูปธรรมในชื่อ “เมือง 4 น้ำ 3 รส” เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว

 

 

นายสัณหพจน์ กล่าวว่า การหารือในวันนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งประกอบไปด้วย อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร และอ.ชะอวด ภายใต้ชื่อ “เมือง 4 น้ำ 3 รส” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในลักษณะเชื่อมโยงของกลุ่มอำเภอ ทำให้พี่น้องให้พื้นที่สามารถมีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ความหมายของ “เมือง 4 น้ำ 3 รส” เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ในหลักการ “4 น้ำ 3 รส” ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อ.ปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ชะอวด

 

 

โดยตามระบบนิเวศสามารถแบ่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็น 4 น้ำ คือ น้ำจืด บริเวณลุุ่มน้ำตอนบน น้ำเปรี้ยว ในบริเวณป่าพรุควนเคร็ง น้ำกร่อย ในพื้นที่กลางลุ่มน้ำ คือ อ.เชียรใหญ่ อ.ปากพนัง น้ำเค็ม บริเวณปากอ่าวปากพนัง และอ.หัวไทร ส่วน3 รส คือ รสของน้ำ ได้แก่ รสจืด รสเปรี้ยว และรสเค็ม

สำหรับแนวคิดการท่องเที่ยวเมือง 4 น้ำ 3 รส ได้น้อมนำพระราชดำริดังกล่าว มาเพื่อพัฒนาเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยยึดหลักความต้องการของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นหลัก เพื่อเชื่อมต่อให้เป็นกลุ่มอำเภอท่องเที่ยวหลักของ จ.นครศรีธรรมราช ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

โดยมีเกษตรกรรม และวัฒนธรรมวิถีชีวิตท้องถิ่น เป็นลักษณะเด่นของคนในพื้นที่ แต่ละชุมชนประกอบขึ้นเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวในหลากหลายรูปแบบ สร้างจุดขายให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวหลังจากวิกฤตโควิด-19 ได้ผ่านไป

 

 

ด้านจุดขายการท่องเที่ยวลุ่มน้ำปากพนังที่ผ่านมา ประกอบด้วย ตึกรังนกนางแอ่น ขนมลาปากพนังส่งออกทั่วประเทศ ส้มโอทับทิมสยาม ปลากระบอกร้า พริกรูดส่งออกประเทศมาเลเซีย และขนมจีนทำน้ำพริก ทุเรียนเทศหรือทุเรียนน้ำ สรรพคุณทางยา โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือที่เรียกว่า “บ้านของพ่อ” กลุ่มทำน้ำตาลจากจากไร่จันทรังษี ล่องเรือชมท่อโรงสีไฟสมัยโบราณ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ก็ได้มีการรวบรวมจุดเด่นจุดขายเพิ่มเติม

“ที่ผ่านมาทางคณะได้ลงพื้นที่สำรวจการท่องเที่ยวลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นรูปธรรม โดยมีตัวแทนจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เช่น ศรีปราชญ์ฟาร์ม ไร่สวัสสุข ส้มโอทับทิมสยาม กลุ่มชุมชนอารยะเบี้ยสัตย์ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 คลองน้อย สวนผู้ใหญ่ใน เป็นต้น โดยสอบถามถึงความต้องการของแต่ละชุมชน” นายสัณหพจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปจากที่หารือดังกล่าว ตนได้นำเสนอผ่านสำนักงานการท่องเที่ยว และ ททท. เพื่อจัดทำเป็นแผนการท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องของการทำการตลาด จุดอ่อน-จุดแข็ง ในแต่ละพื้นที่ เน้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และวัฒนธรรมการกินอยู่แบบคนลุ่มน้ำปากพนัง โดยผ่านกระบวนการของวิสาหกิจชุมชน การขึ้นทะเบียนมัคคุเทศก์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลไปถึงการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องในชุมชน

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ