หาคำตอบ “รัฐบาลและคนไทย” ได้อะไรจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”

หาคำตอบ “รัฐบาลและคนไทย” ได้อะไรจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”


ปรากฏการณ์ “เราไม่ทิ้งกัน” โดนสารพัดเสียงก่นด่า จนหลายคนมองว่าเป็นความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาล คนเดือดร้อนจริงไม่ได้ประโยชน์ แท้จริงแล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ หรือว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้น มันจะส่งผลดีในระยะยาว

โดย….กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ปัญหาที่ได้รับการตำหนิอย่างรุนแรงคงหนีไม่พ้นการนำระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติ จนกระทั่งปรากฏว่า คนที่ได้รับการตรวจสอบพบว่าตนเองไม่อยู่ในสถานะความเป็นตรงตามปัจจุบัน หลายคนไม่เคยเป็นเกษตรกร หลายคนมีอาชีพค้าขาย แต่กลายเป็นนักศึกษา ขณะที่บางคนเดือดร้อนจริงกลับมีคุณสมบัติไม่ผ่าน แต่บางคนมีฐานะดีอยู่แล้วกลับได้รับเงินเยียวยา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

การทำงานของระบบ AI ใช้การประมวลผลจาก Data Base ระบบฐานข้อมูลกลาง เช่น ทะเบียนราษฎร ข้อมูลข้าราชการ ข้อมูลเกษตรกร นักศึกษา ประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในระบบของแต่ละหน่วยงาน

ที่ผ่านมาเรามักจะคุ้นเคยกับการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลแบบลงพื้นที่ โดยการส่งนักศึกษา อาสาสมัคร หรือเจ้าหน้าที่รัฐ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ทำหน้าที่ ส่งแบบสอบถามให้ชาวบ้านประชาชนกรอกข้อมูล ซึ่งมักจะตัดความรำคาญเพราะไม่ว่างต้องทำมาหากิน เราจึงได้ข้อมูลมาแบบขอไปที ทั้งที่ทุ่มงบประมาณไปไม่น้อย โดยไม่มีการชี้แจงให้ทราบว่านี่คือฐานข้อมูลสำคัญ ด้วยข้อมูลสะเปะสะปะเหล่านี้ มันจึงทำให้วันนี้เราได้เห็นความสับสนของข้อมูล บนตะแกรงร่อนที่เรียกว่า ระบบ AI

เราไม่อาจปฏิเสธได้ถึงคำตำหนิติเตียนเรื่องความล่าช้าของการให้ความช่วยเหลือ แต่เนื่องจากระบบที่ต้องมีเวลาคัดกรองข้อมูล จึงส่งผลเช่นนั้น

5 ปีที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลมีหรือที่จะไม่รู้เรื่องดังกล่าว หากยังจำกันได้ มีความพยายามที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาเชื่อมโยงกันเพื่อจัดทำเป็นข้อมูลกลาง เป็น Big Data แต่ก็ยังติดขัดการประสานข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งเราไม่อาจทราบได้ว่า ข้อมูลเหล่านี้สำรวจตั้งแต่เมื่อไหร่ มีความเป็นปัจจุบัน หรือ ตรงตามความเป็นจริงขนาดไหน นี่คือ จุดบอด

เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงเห็นการขยับของโครงการใหญ่ที่หลายคนเรียกว่า “ประชานิยม” 14.5 ล้านคน คือข้อมูลที่ได้จาก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2559 14.3 ล้านคน คือข้อมูลจาก “ชิมช้อปใช้” ที่ปิดโครงการไปเมื่อ ก.พ.63 ที่ผ่านมา 15 ล้านคน (ข้อมูล ณ 18 พ.ค.63) คือตัวเลขผู้ได้รับเงินเยียวยาผ่าน “เราไม่ทิ้งกัน” กลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน เกษตรกรประมาณ 10 ล้านครัวเรือน

รัฐบาลได้อะไรจากตัวเลขเหล่านี้ นี่คือข้อมูลจริงจากประชาชน ซึ่งมีที่อยู่ปัจจุบัน อาชีพ รายได้ ที่จะต้องมีการคัดกรองอีกครั้งเพื่อแยกเป็นกลุ่มต่างๆ ซึ่งรัฐสามารถใช้ตัวเลขนี้ในการวางนโยบายให้ความช่วยเหลือ หรือนโยบายที่ต้องการสร้างคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนแต่ละกลุ่ม ทั้งที่อยู่ปัจจุบัน อาชีพ รายได้

นี่คือสิ่งที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” กุนซือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้วางวิธีการอันแยบยล เพื่อมาต่อยอดข้อมูลจริง ซึ่งได้มาจากการให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ นำไปสู่แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต้องคิดแบบต่อเนื่องได้ในทันที

 

ข่าวที่น่าสนใจ

บิ๊กตู่นำทีมแผนฟื้นฟูการบินไทย อุตตมคาดหากจบ “เอาเข้าครม.ได้เลย”

ซีคอนสแควร์นำร่อง New Normal ใช้ลิฟต์ “เท้าเหยียบ” ลดเสี่ยงโควิด-19