โควิด-19 พ่นพิษใหญ่ “อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินโลก” รับแรงสั่นสะเทือน

โควิด-19 พ่นพิษใหญ่ “อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินโลก” รับแรงสั่นสะเทือน


ผลพวงของโควิด-19 ที่หยุดการเดินทางของคนทั่วโลก กระทบอย่างหนักต่อสายการบิน และ “อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน” ที่ล่าสุดโบอิ้ง – แอร์บัส ก็สุดจะต้านทานได้แล้ว

รายงานข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่าปัจจุบันมีสายการบิน 290 สายการบิน หรือคิดเป็น 82% ของการจราจรทางอากาศทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีเครื่องบินโดยสารเกือบ 2 ใน 3 ของเครื่องบินราว 26,000 ลำทั่วโลกต้องยุติการบิน ส่งผลให้พนักงานสายการบินทั่วโลกประมาณ 25 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสายการบินที่มีตลาดเชื่อมโยงกับจีน

หลายสายการบินลดเที่ยวบิน เช่น Qantas ลดเที่ยวบินระหว่างประเทศลง 90% และเที่ยวบินในประเทศลง 60% สายการบิน China Airline ลดเที่ยวบินลงเกือบ 3,000 เที่ยวบินในเดือนมีนาคมและ 2,100 เที่ยวในเดือนเมษายน และสายการบิน Vietnam Airline มีการจอดเครื่องบินประมาณ 50%

สำนักเจรจาการค้าบริการและการลงทุน วิเคราะห์ว่าธุรกิจสายการบินในไทยต้องเผชิญกับโควิดเช่นเดียวกัน โดยการบินไทยได้ทยอยยกเลิกเที่ยวบินไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2563 ไปกว่า 30% และลดเที่ยวบินไปแล้วกว่า 50% โดยมีการประเมินว่ารายได้ของบริษัทอาจจะลดลงถึง 50% จากปี 2562 ซึ่งมีรายได้ 180,000-200,000 ล้านบาท จะส่งผลกระทบทั้งต่อการดำเนินการภายในและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องมีการลดค่าใช้จ่าย ลดชั่วโมงทำงาน และจำนวนพนักงานตามมา และเมื่อพิจารณาแล้วภาพรวมรายได้จากการจำหน่ายตั๋วลดลงรวมประมาณ 314,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการล้มละลายภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้

ด้วยเหตุนี้สายการบินทั่วโลกต่างขอร้องให้รัฐบาลช่วย พร้อมทั้งวางแผนการปรับโครงสร้างลดค่าใช้จ่าย เพื่อรักษากระแสเงินสดพยุงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสายการบินอันดับ 2 ของออสเตรเลียอย่าง เวอร์จิน ออสเตรเลีย ที่ยื่นขอล้มละลายหลังจากรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนเงินกู้

สายการบินบริติชแอร์เวย์ขาดทุนสูง 535 ล้านยูโร ในไตรมาสแรกปี 2563 จนต้องปรับลดพนักงาน 12,000 คน และพักงาน 30,000 คน โดยรับเงินเดือน 80% แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะอุดหนุนค่าจ้างป้องกันการเลิกจ้างรายละไม่เกิน 2,500 ปอนด์/เดือน ขณะที่สายการบินยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีอย่างลุฟท์ฮันซ่า ก็เตรียมใช้มาตรการลดชั่วโมงการทำงานของพนักงาน 2 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมดเช่นกัน

นอกจากนี้ สายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ซิสเต็ม ปรับลดพนักงาน 5,000 คน สายการบินไรอันแอร์ ของไอร์แลนด์ปรับลดพนักงาน 3,000 คน และนอร์วีเจียน แอร์ ชัตเทิล ประเทศนอร์เวย์ ก็เตรียมเลิกจ้าง 4,700 คน

ผลกระทบนี้ลุกลามไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินโลก โดยโบอิ้งผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐ ขาดทุน 641 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 1 จึงได้ปรับลดกำลังการผลิตเครื่องบินและประกาศเตรียมปรับลดพนักงานลงราว 10% หรือประมาณ 16,000 คน คาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ อีกด้านหนึ่งผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของยุโรปอย่างแอร์บัสก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการเครื่องบินที่ลดลง ทำให้ผลกำไรไตรมาสแรกแอร์บัสลดลงถึง 49% เหลืออยู่ที่ 281 ล้านยูโร แต่จะพิจารณานโยบายปรับลดพนักงานอีกครั้งในกลางเดือน มิถุนายนนี้

สมาคมสายการบินแห่งสหรัฐอเมริกา เผยตัวเลขการสูญเสียรายได้ประมาณ 7,000-10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากรัฐบาลยังคงมาตรการห้ามเดินทางอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผลการสำรวจ IATA พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 40% แม้ว่าสถานการณ์ไวรัสจะสามารถควบคุมได้ก็ยังคงจะรอเวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือน กว่าจะมั่นใจและกลับไปใช้บริการสายการบินอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

 

ข่าวที่น่าสนใจ