จีนวางแผนสร้าง “ฟาร์มโซลาร์เซลล์กลางอวกาศ” ส่งไฟฟ้าสู่พื้นโลกแบบไร้สายภายในปี 2035 หวังมีพลังงานสะอาดใช้อย่างไร้ขีดจำกัด
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (CAST) ได้เปิดเผยว่า จีนวางแผนจะบรรลุเป้าหมายโครงการ “สถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนอวกาศ” หนัก 200 ตัน โดยมีกำลังผลิตระดับเมกะวัตต์ ภายในปี 2035
นักวิจัยในโครงการประจำสถาบันฯ “หวังลี่” ระบุในการประชุมด้านวิศวกรรมระหว่างจีน-รัสเซีย ครั้งที่ 6 (China-Russia Engineering Forum) ว่าสถานีพลังงานแสงอาทิตย์กลางอวกาศจะทำงานด้วยการกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งยังไม่เคยมาถึงพื้นโลกได้ เขาอธิบายว่า พลังงานดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นคลื่นไมโครเวฟหรือเลเซอร์ ก่อนจะยิงมายังผิวโลกแบบไร้สายเพื่อให้มนุษย์อุปโภคต่อไป
“เราหวังจะยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มนุษยชาติบรรลุความใฝ่ฝันที่จะได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างไร้ขีดจำกัดในอีกไม่ช้าไม่นานนี้” หวังกล่าว
หวังลี่ ระบุว่า หากเทียบกับพลังงานฟอสซิลแบบเดิมซึ่งสร้างมลภาวะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสาเหตุของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันหนักหน่วง พลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศถือว่ามีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่า ทั้งยังมอบทางออกเป็นคลังพลังงานอันยั่งยืนให้แก่ดาวเทียมต่างๆ ตลอดจนพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งหรือพื้นที่ห่างไกลบนโลกได้
ความคิดในการกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศเริ่มแพร่หลายขึ้นจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ของไอแซก อสิมอฟ (Isaac Asimov) เมื่อปี 1941 ต่อมาในปี 1968 ปีเตอร์ กลาเซอร์ (Peter Glacer) วิศวกรอวกาศชาวสหรัฐฯ จึงเขียนข้อเสนอเกี่ยวกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศขึ้น
จีนได้เสนอแนวทางในการกักเก็บแสงอาทิตย์ และสร้างความก้าวหน้าหลายประการด้านการส่งพลังงานแบบไร้สาย นับตั้งแต่จีนบรรจุประเด็นพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศ ให้เป็นโครงการวิจัยที่สำคัญของประเทศเมื่อปี 2008
อย่างไรก็ตาม ความทะเยอทะยานอันยาวนานนี้กลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน เนื่องจากต้องดำเนินการปล่อยแผงพลังงานแสงอาทิตย์สู่อวกาศและดำเนินการติดตั้งจำนวนมาก รวมถึงต้องติดตั้งระบบส่งพลังงานปริมาณมหาศาลแบบไร้สายที่มีประสิทธิภาพด้วย
จีนจึงทุ่มเงินลงทุนราว 200 ล้านหยวน (ราว 860 ล้านบาท) ในการดำเนินการก่อสร้างฐานทดสอบในเขตปี้ซาน เทศบาลนครฉงชิ่ง เพื่อศึกษาวิจัยการส่งพลังงานอันทรงพลังแบบไร้สาย ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
“งานวิจัยต่างๆ ในด้านนี้จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นแก่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอวกาศของจีนในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ อย่างการขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์” หวังลี่ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
จีนเปิดตัว “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” รุ่นใหม่ พร้อมเดินเครื่องปี 2020