รู้จัก”ภาษีดอกหญ้า” ที่ “เอ๋ ปารีณา” ครอบครองที่ดินกว่า 1.7 พันไร่

รู้จัก”ภาษีดอกหญ้า” ที่ “เอ๋ ปารีณา” ครอบครองที่ดินกว่า 1.7 พันไร่


โดย….กองบรรณาธิการ ThaiQuote 

เป็นข่าวโด่งดังและรอการตรวจสอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า การครอบครองที่ดิน กว่า 1.7 พันไร่ในพื้นที่ อ.จอมบึง จ. ราชบุรี ของ ส.ส.หญิง ดาวเด่น “เอ๋ ปารีณา ไกรคุปต์” เป็นการครอบครองที่ถูกต้องตามกฎระเบียบของทางราชการหรือไม่ อีก 1-2 วัน คงชัดเจน แต่ในเบื้องต้น ที่ ส.ส. ปารีณา ยืนยัน คือ การเข้าครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินกว่า 1.7 พันไร่ เป็นการเข้าใช้สิทธิเพื่อทำมาหากิน โดยการเสีย “ภาษีดอกหญ้า” ไม่ใช้การยึดครองถือกรรมสิทธิ?

“ภาษีดอกหญ้า” คืออะไร ที่ดินที่ต้องเสียภาษีชนิดนี้ คือ ที่ดินอะไร และ มีสิทธิสามารถทำอะไรได้บ้างในที่ดินเหล่านี้ ?

การเสีย “ภาษีดอกหญ้า” คือ การเสียภาษีท้องถิ่นประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า “ภาษีบำรุงท้องที่” ซึ่งผู้เข้าใช้สิทธิทำประโยชน์ในที่ดิน รกร้าง หรือการเข้าถางป่าเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน และเพื่อให้มีหลักฐานที่อ้างอิงจากการเข้าใช้ประโยชน์บนที่ดินนั้น จึงมีการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ยกตัวอย่างเช่นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้ได้เอกสารรับรองการจ่ายภาษี ที่เรียกว่า “ภ.บ.ท.5” เพื่ออ้างอิงถึงการครอบครองที่ดินดังกล่าว

ทั้งนี้ทั้งนั้น การจ่าย “ภาษีดอกหญ้า” หรือ “ภ.ท.บ.5” จึงเป็นเอกสารยืนยันการเข้าครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ แต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิใดๆ เพราะไม่ได้ออกจากกรมที่ดิน หรือหน่วยงานอื่นใด ที่มีอำนาจในการออกเอกสารรับรองสิทธิ

ดังนั้น การเข้าไปใช้สิทธิในที่ว่างเปล่าเหล่านั้น จึงอาจเข้าไปถือสิทธิในที่ดินที่มีเจ้าของที่มีกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินของหน่วยงานรัฐ อย่างเช่นที่ราชพัสดุ หรือที่ของทหาร ที่ดินของ ส.ป.ก. ที่ดินของอุทยานฯ ของ กรมป่าไม้ เป็นต้น แต่การเข้าใช้สิทธิเพื่อทำประโยชน์โดยการจ่าย “ภาษีดอกหญ้า” หรือ “ภ.ท.บ.5” นั้นอาจเกิดประโยชน์ในอนาคตก็ได้ หากที่ดินว่างเปล่าเหล่านั้น ในอนาคตภาครัฐมีนโยบายให้ผู้ครอบครองที่ดินภ.บ.ท.5 นำมาออกเอกสารสิทธิที่ดินเหล่านั้น

ส่วนนโยบาย จะมีหลักเกณฑ์ ให้ใคร มีคุณสมบัติอย่างไร เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะกำหนดรายละเอียดออกมา เพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ครอบครองที่ดินว่างเปล่าโดยการเสีย “ภาษีดอกหญ้า” ผู้ครอบครองสามารถใช้ประโยชน์ทำกิน สร้างที่พักอาศัยได้ ตราบที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ยังไม่เรียกคืน โดยผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ที่ทำกิน หรือบ้านที่อยู่อาศัยนั้น เป็นสิทธิของผู้ครอบครอง แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ใดในพื้นที่ดังกล่าว