วงวิชาการถกปมนโยบายพรรคการเมือง “เน้นใช้เงินแก้ปัญหาประชาชน”

วงวิชาการถกปมนโยบายพรรคการเมือง “เน้นใช้เงินแก้ปัญหาประชาชน”


3 นักวิชาการถกปัญหานโยบายพรรคการเมืองไทย ชี้ไม่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้ถูกต้อง –ไม่มีการผลักดันนโยบาย เห็นคล้อยตามพรรค ติงเน้นใช้งบประมาณแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ

กองบรรณาธิการ ThaiQuote
ท่ามกลางรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ผนึกกำลังกันเดินหน้าบริหารประเทศ ซึ่งปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องพบเจอก็คือ นโยบายพรรคการเมือง ต่างๆ ที่เข้ามาร่วมงานกัน เพราะแต่ละฝ่ายต่างต้องการผลักดันแนวทางของตัวเองทั้งนั้น

ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองก็มีนโยบายที่เสมือนสัญญากับประชาชนไว้ แล้วจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ แล้วในความเป็นจริงนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร มีหน้าที่เพียงยกมือโหวตหรือรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนแค่นั้นหรือ?

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมมือกับ เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (TPD) จัดวงเสวนาทางวิชาการขึ้น เรื่อง “policy watch” เสวนาจับตาการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

เปิดเวทีวงเสวนาโดย ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ฉายภาพว่า การจัดทำนโยบายของพรรคการเมือง ควรจะต้องเกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลและศึกษาวิธีการทำมาเป็นอย่างดี แต่จากความสำเร็จของนโยบายกินได้ที่คนซื้อ นับจากยุคพรรคไทยรักไทยเป็นต้นมา ทำให้การทำนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองเริ่มเกิดการเลียนแบบกันไปมา ถ้าพรรคอื่นมีอะไรก็จะต้องมีให้และมากกว่า กลายเป็นนโยบายของพรรคที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการศึกษาเท่าที่ควร

ทั้งนี้ อ.อรรถสิทธิ์ ได้อธิบายข้อมูลที่น่าสนใจและพบว่าในการเลือกตั้งช่วงปี 2554-2557 พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็ก ออกแบบนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการมากกว่างบประมาณประเทศถึง 4 เท่า ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2562 อาจไม่เห็นรูปแบบนี้มากนัก เนื่องจากรัฐธรรมนููญปี 2560 ได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอข้อมูลที่ใช้ประกอบนโยบาย รวมถึงรายละเอียดการใช้งบประมาณต่างๆ แต่ปรากฏว่าข้อมูลกลับไม่มีการเปิดเผยมากนัก มีเพียงพรรคการเมือง 4-5 พรรคจากทั้งหมดกว่า 70 พรรคที่นำเสนอข้อมูลดังกล่าว ซึ่งยังเป็นภาพสะท้อนว่าการออกนโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ เป็นการออกเพื่อหาเสียง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการศึกษาความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

รวมทั้งในส่วนของบทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้น ก็มีสิทธิในการผลักดันนโยบายได้ แต่จากการสำรวจข้อมูลการทำงานของ ส.ส.นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กลับไม่ค่อยมีการนำเสนอร่างกฎหมายจาก ส.ส.มากเท่าใด ไม่ว่าจะในสมัยสภาที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ส.ส.จึงไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนในการผลักดันนโยบายมากนัก เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่มักจะทำตามพรรคการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่า ส.ส.มีการโหวตตามพรรคเกิน 90% ส่วนถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ ประชาชนก็แทบทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงตอกย้ำว่านโยบายที่ผ่านมามักเป็นการหาเสียงเพื่อให้ได้คะแนนแล้วก็จบ

“ประเทศไทยเราไม่ได้ดำเนินนโยบายผ่านการใช้กฎหมาย แต่เราดำเนินนโยบายผ่านการใช้เงินในการแก้ปัญหา เช่น การช่วยชาวนา เราไม่เคยพูดถึงการใช้กฎหมายจัดสรรที่ดินใหม่ การใช้นวัตกรรมต่างๆ แต่เรากำหนดว่าจะรับซื้อเกวียนเท่านั้นเท่านี้ และเราก็มีปัญหาในการหาเงินเข้าคลัง แล้วจะแก้ไขอย่างไร ง่ายสุดเราสามารถแก้ไขที่กฎหมายก่อน แต่ถ้ากฎหมายแก้มาจาก ครม. ที่มาจากกระทรวง แปลว่าถ้าข้าราชการรู้ดี แล้วเราจะมี ส.ส.ไปทำไม อย่างเรื่องของ EEC ที่บอกว่ามีปัญหา ส.ส.ก็ต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่มาดราม่ารายวันพูดในสภาเท่านั้น นี่ชี้ให้เห็นว่า ส.ส.ไม่ได้ทำหน้าที่ทางนิติบัญญติเลย” ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าว

 

ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้แยกแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐบางเรื่องออกมาเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีนัยยะแฝงสองส่วน ส่วนแรกคือกลัวว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะเลือกทำแต่นโยบายที่ได้ฐานเสียง ละเลยนโยบายหลักพื้นฐานสำคัญ บางส่วนจึงต้องเขียนไว้เป็นหน้าที่ อีกนัยยะหนึ่งคือไม่ให้เกิดนโยบายประชานิยม จึงกำหนดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเอาไว้ไม่ให้ไปเคลมว่าเป็นผลงานของพรรคการเมือง

อย่างไรก็ดี ดร.สติธร กล่าวต่อไปว่า หนึ่งในมาตรการเสริมจากรัฐธรรมนูญ คือกลไกมาตรา 77 ที่กำหนดให้กระบวนการออกกฎหมายต้องดำเนินการใน 4 ประเด็น คือ 1.วิเคราะห์ความจำเป็นว่าต้องออกกฎหมายนั้นหรือไม่ 2.ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น 3.ต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย 4.ต้องดูแลติดตามผลสัมฤทธิ์ ซึ่งในส่วนของการรับฟังความเห็นนั้น ได้มีการกำหนดวิธีการเพื่อรองรับเฉพาะหน้า โดยการใช้แพลทฟอร์มออนไลน์ แขวนไว้บนเว็บไซต์ 10-15 วัน แต่วิธีการนี้ก็ไม่ได้ทำให้คนสนใจเท่าใดนัก และแนวโน้มของการจับตาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายทั่วโลกของภาคประชาชน ไม่ใช่ดูจากผลที่สำเร็จออกมาแล้ว แต่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การก่อตัวขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา มีการใช้แพลทฟอร์มออนไลน์ในการรับฟังกฎหมาย โดยเปิดให้ใครก็ตามที่ต้องการผลักดันนโยบายที่ต้องแก้ไขกฎหมายบางอย่าง ต้องเสนอหลักการและแนวคิดออกมาก่อน เสนอว่าปัญหาคืออะไร ต้องการปรับปรุงอย่างไร พร้อมเปิดขึ้นเว็บไซต์สาธารณะ หลังจากนั้นจึงรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอที่มีต่อแนวคิดนั้น มาประมวลทำเป็นข้อเสนอในการร่างกฎหมาย แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการรับฟังอีกรอบเพื่อได้ข้อสรุปจึงค่อยเข้าไปสู่กระบวนการนิติบัญญติตามปกติ

“เขาใช้แพลทฟอร์มออนไลน์ แต่ไม่ใช่แค่เอาปลายทางคือร่างกฎหมายที่ออกมาแล้วไปแขวนให้คนคอมเมนท์อย่างประเทศไทย และเขาใช้เวลาเป็นเดือนไม่ใช่แค่เพียง 10-15 วัน ดังนั้นประชาชนจึงได้มีส่วนร่วมเริ่มขั้นตอน ตั้งแต่หลักการ กระบวนการ แบบนี้จึงทำให้มีผู้ที่ติดตามตลอด และมีส่วนร่วมตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิต ไม่ใช่รอติดตามดูสิ่งที่ออกมาแล้วว่าเป็นอย่างไร หากเทียบกับนโยบายกินได้ในยุคปี 2540 ที่ประสบความสำเร็จ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทยนั้น ไม่ใช่เพียงออกคำสั่งและนโยบาย แต่คือการออกกฎหมายประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มาเชื่อมโยงกัน ผ่านการรับฟังและจัดเวิร์คช็อปต่างๆ ทำให้นโยบายเป็นไปได้” ดร.สติธร กล่าว

ด้าน เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การนำเสนอนโยบายในประเทศไทยยังไม่ใช่การพูดถึงเพียงความต้องการของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของทัศนคติ การใช้ความรู้สึกเข้ามาผสมรวม เช่น การนำเสนอผลักดันกฎหมายรับรองคำนำหน้าเพศของกลุ่มที่มีความหลากหลาย ซึ่งเคยมีนักการเมืองที่พยายามทำร่างข้อมูลและขับเคลื่อน แต่สุดท้ายพรรคการเมืองไม่ยอมรับ และทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยหรือไม่ ดังนั้นการนำเสนอนโยบายจึงไม่ได้มีเพียงการดูผลกระทบหรือความต้องการของประชาชน แต่ยังเกี่ยวข้องกับความรู้สึก การถูกยอมรับในฐานผู้แทนประชาชนด้วย

ทั้งนี้ เคท กล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งของภาคประชาชนที่พยายามรวมตัวกันเสนอเพื่อผลักดันหรือแก้ไขกฎหมายใดๆ แต่ร่างกฎหมายที่ประชาชนนำเสนอมักไม่ถูกยอมรับ หรือถูกนำไปปรับแก้จนเจตนารมณ์ดั้งเดิมถูกลดทอนไปด้วยเทคนิคทางด้านกฎหมายต่างๆ ดังนั้นการนำเสนอกฎหมายจากภาคประชาชนจึงยังถูกทำให้ดูเป็นเรื่องยากอยู่ ตลอดจนเรื่องของการติดตามนโยบายต่างๆ ซึ่งทิศทางช่วง 5 ปีที่่ผ่านมาอาจพบว่าคนสนใจทวงถามการดำเนินนโยบายของภาครัฐน้อยลง โดยอาจเป็นเพราะความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ จึงเกิดภาพของความเงียบบางอย่างขึ้น ฉะนั้นจึงควรเกิดกลไกหรือเครื่องมือเพื่อให้คนเข้าถึงกระบวนการเหล่านี้ได้มากที่สุด

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“บิ๊กตู่”เตรียมชี้แจงนโยบายให้หัวหน้าส่วนราชการ 8 ส.ค.นี้