ที่ประชุม 4 หน่วยงาน เห็นชอบ เพิ่มวงเงินขาดดุล งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เป็น 469,000 ล้านบาท เดินหน้าบัตรสวัสดิการฯ ยันคนจนไม่กระทบเตรียมเสนอ ครม.พิจารณา 6 ส.ค. นี้ พร้อมวางแนวทางรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไตรมาสสุดท้ายปี 62
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ธปท. สศช. สำนักงบประมาณ โดยที่ประชุมเห็นชอบปรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 จากเดิม รายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท ประมาณการณ์รายได้เดิม 2.75 ล้านล้านบาท ลดลง 19,000 ล้านบาท เหลือ 2.731 ล้านล้านบาท
ทำให้ยอดขาดทุนงบประมาณ เพิ่มจาก 450,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 469,000 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานจีดีพีขยายตัวร้อยละ 6 ในปี 63 รายได้ของรัฐบาลหายไปเนื่องจากรายได้ กสทช.ลดลงจากการชดเชยคืนช่องทีวีดิจิทัลหลายราย
สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าว เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมนี้ และในช่วงรอการพิจารณางบประมาณจากสภา ช่วง 3 เดือนสุดท้ายปลายปี อาจต้องเสนอรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือในหลายส่วน ดังนั้นเบื้องต้นจะใช้แนวทางให้ส่วนราชการลงนามสัญญาลงทุนกับผู้รับเหมา เมื่อกรรมาธิการงบพิจารณาเสร็จแล้ว โดยกำหนดเงื่อนไขในสัญญาเอาไว้ ว่าสัญญาจะมีผลเมื่อได้รับงบประมาณลงทุน
นอกจากนี้ยังมีงบประมาณ ลงนามสัญญาไปแล้ว เป็นงบลงทุนผูกพันประมาณ 2 แสนล้านบาท บวกกับเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ มองว่ายังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทาง อีกทั้งยังต้องจัดหาเงินมารองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี โดยหลายหน่วยงานกำลังศึกษาออกมาตรการในการช่วยเหลือ
สำหรับการใช้เงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของผู้ถือบัตร ยังใช้ได้ต่อเนื่อง เพราะได้มีการเสนอจัดสรรงบปี 63 เอาไว้ในงบประมาณแล้ว ผู้มีรายได้น้อยจึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
ทั้งนี้ ปฏิทินการจัดทำงบประมาณ หลังจากประชุม 4 หน่วยงานกำหนดกรอบงประมาณในวันนี้แล้ว จากนั้น 9 สิงหาคม สำนักงบประมาณเปิดรับคำขอจัดสรรงบประมาณจากส่วนรายการ 17 ตุลาคม เสนอสภาพิจารณาในวาระแรก วาระ 2-3 ประมาณต้นเดือนมกราคม 63 จากนั้นเสนอวุฒิสภาพิจารณา ช่วงกลางเดือนมกราคม 63 คาดว่าเสนอทูลเกล้างบประมาณปี 63 ช่วงปลายเดือนมกราคม
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เบิกจ่ายงบฯ 3 ไตรมาส ทะลุ 1.33 ล้านล้านบาท