“หม่อมเต่า”ย้ำค่าแรง 400 บ.อยากให้ได้ทุกคน

“หม่อมเต่า”ย้ำค่าแรง 400 บ.อยากให้ได้ทุกคน


ม.ร.ว.จัตตุมงคล รมว.แรงงานคนใหม่เผยค่าแรง 400 บาท/วันไม่มาก และอยากให้ลูกจ้างได้ทุกคน แต่รัฐต้องพิจารณาทุกด้านให้รอบคอบ เพราะมีผลกระทบหากให้ไปแล้วอาจได้เลิกจ้าง

วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 – ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยภายหลังสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสเข้าทำงานในตำแหน่งรมว.แรงงานวันแรกว่า ประเด็นข้อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ถืวอ่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงมาก และอยากจะให้แรงงานไทยทุกคนได้รับกันทั้งหมด แต่จะปรับขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องคำนึงถึงนายจ้าง ภาวะเงินเฟ้อ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เพราะหากปรับขึ้นและมีผลกระทบตามมา คนที่ได้รับผลมากที่สุดก็คือลูกจ้างแรงงาน

“เพราะหากปรับขึ้นไปแล้วนายจ้างได้รับผลกระทบ ก็นำไปสู่การเลิกจ้าง การปรับขึ้นค่าแรงต้องให้คณะกรรมการไตรภาคี ทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลมาพิจารณาร่วมกัน” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า คาดว่าการพิจารณาของไตรภาคีไม่น่าจะทันการแถลงนโยบายของรัฐบาลแน่นอน แต่ไม่ใช่การไม่ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ต่อประชาชน ตามที่มีพรรคการเมืองหาเสียงไว้ ซึ่งค่อยๆ ทำก็ได้ หากขึ้นทั้งหมดทีเดียวไม่ได้ ก็ค่อยๆ ขึ้น หรือขึ้นเป็นบางพื้นที่ ซึ่งตามปกติของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็คือช่วงปีใหม่

นอกจากนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล ยังให้โอวาทกับข้าราชการกระทรวงแรงงานว่า ภารกิจด้านแรงงานถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในทุนมนุษย์ ที่ต้องสอดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการผลิต รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานด้านแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ และเรื่องของการประกันสังคม ตนเชื่อมั่นว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ รวมถึงมีความเสียสละ และมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่จะให้แรงงานและประชาชนคนไทยทุกคนมีงานทำ มีศักยภาพสูง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

พร้อมกันนี้้ จะสานต่องานของ พล.ต.อ.อดุลย์แสงสิงแก้ว อดีต รมว.แรงงานคนก่อน เนื่องจากตนเองไม่ได้คาดหวังว่าจะได้มาทำงานที่กระทรวงแรงงาน จึงต้องขอเวลาศึกษางานก่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคืออยากให้มีการทำงานโดยการตั้งเป้าหมายและกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างชัดเจน เช่น ในอีก 30 ปีข้างหน้าต้องการที่จะเห็นอะไร และจะทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมายนั้น และสิ่งสำคัญสำหรับปัญหาแรงงานในประเทศไทย คือ การต้องเปลี่ยนแปลงแรงงานจากระดับกลางให้เป็นแรงงานทักษะของประเทศ หรือที่ต่างชาติเรียกว่า Work Force Transformation โดยจะต้องมีนักวิชาการ (Technical) มาช่วยกันทำงานตรงนี้ด้วย

อนึ่ง สำหรับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2486 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนที่ 15 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย Harrow School England Trinity College Cambridge U.(Mechanical Sciences and Economics Tripos) Kennedy School, Harvard U. (Public Finance and Economics Development) ได้รับปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 31

เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกรโท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐกรเอก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการกองนโยบายภาษีอากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รองอธิบดีกรมสรรพากร รองปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากร ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้แก่ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว) มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) และเหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
เอกชนค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หวั่นกระทบ SME