แบงก์ชาติเผย ตลาดสินเชื่อแข่งขันสูง ดันกลุ่มเริ่มทำงาน-วัยเกษียณ หนี้อื้อ

แบงก์ชาติเผย ตลาดสินเชื่อแข่งขันสูง ดันกลุ่มเริ่มทำงาน-วัยเกษียณ หนี้อื้อ


ธปท.เผยแพร่รายงานผลการประชุมร่วม ระบุ ธนาคารพาณิชย์และ non-banks แข่งขันรุนแรงในตลาดสินเชื่อรายย่อย กระตุ้นการก่อหนี้เกินจำเป็น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนสูง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย

โดยผลการประชุมมีประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีสัญญาณกลับมาเร่งขึ้นโดยเฉพาะจากสินเชื่อหมวดรถยนต์ รวมทั้งพบว่าธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่ธนาคาร (non-banks) แข่งขันกันรุนแรงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อย มีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่หย่อนลง และมีการให้สินเชื่อที่กระตุ้นการก่อหนี้เกินจำเป็น ซึ่งอาจเพิ่มความเปราะบางทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนได้

ที่ประชุมจึงเห็นว่า ธพ. และ non-banks ควรปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้มากขึ้นโดยเฉพาะผู้กู้กลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเริ่มทำงาน และกลุ่มวัยเกษียณ ซึ่งมีแนวโน้มก่อหนี้สูงเกินตัวและอาจมีเงินเหลือไม่พอต่อการยังชีพ

ล่าสุด เมื่อสิ้นไตรมาสแรกตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยยังสูง อยู่ที่ 12.96 ล้านล้านบาท หรือ ราวๆ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเทศ(จีดีพี) โดยเมื่ออัตราหนี้ครัวเรือนสูงจะเป็นอันตรายหากเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว เมื่อครัวเรือนไม่สามารถใช้หนี้หรือผ่อนชำระ จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสถาบันการเงิน ทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

โดยคนไทยมีการกู้ยืมมากที่สุดมาจากแหล่งต่างๆ ดังนี้

ธนาคารพาณิชย์ มีสัดส่วนมากที่สุด 43%

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) 28%

สหกรณ์ออมทรัพย์ 16%

สถาบันการเงินที่ไม่ใช่แบงก์ (Non-Bank) 10%

อื่นๆ 3%

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนเป็นประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อระบบการเงินไทย หากไม่เร่งดูแล โดยเร็วจะก่อตัวเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตได้ การดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและดำเนินการในหลายมิติพร้อมกัน ทั้งการดูแลการปล่อยสินเชื่อของ ธพ. และ non-banks ให้รัดกุม และคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้มากขึ้น

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
คลังเตรียมงบ 1 แสนล้าน ให้รัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ