ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. เผย มิ.ย. ยาง – ปาล์ม-มันฯ-กุ้ง ราคายังทรุด

ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. เผย มิ.ย. ยาง – ปาล์ม-มันฯ-กุ้ง ราคายังทรุด


ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนมิถุนายน 2562 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว น้ำตาลทรายดิบ สุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ยางพาราแผ่นดิบ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง กุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงการคาดการณ์สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนมิถุนายน 2562 ที่จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส.

สินค้าเกษตรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่

ข้าวเปลือกหอมมะลิ คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.22-0.50 อยู่ที่ราคา 15,735-15,780 บาท/ตัน
ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.24-1.69 อยู่ที่ราคา 11,250-11,300 บาท/ตัน เนื่องจากความกังวลจากภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ผู้ประกอบการค้าข้าวจึงต้องการเก็บข้าวไว้ในสต็อกเพิ่มขึ้น

น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.50-5.00 อยู่ที่ราคา 11.84-12.13 เซนต์/ปอนด์ (8.32-8.52 บาท/กก.) โดยคาดการณ์ว่าในเดือนมิถุนายนจะมีฝนตกชุกในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของบราซิลซึ่งอาจส่งผลให้มีการชะลอการเก็บเกี่ยวอ้อยออกไป ประกอบกับคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลโลกในปี 2562 ถึง 2563 จะลดลงร้อยละ 1.9 คงเหลือ 182.2 ล้านตัน โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลผลิตน้ำตาลของประเทศไทยและประเทศอินเดียที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อยของโลกลดลงเช่นกัน

สุกร ราคาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 2.82 อยู่ที่ราคา 71.00 – 73.00 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้สุกรเจริญเติบโตช้า ทำให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลง

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% คาดว่าราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.47-1.24 อยู่ที่ราคา 7,753-7,813 บาท/ตัน เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาวะสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

ยางพาราแผ่นดิบ ราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.21 – 3.78 อยู่ที่ราคา 45.27 – 46.48 บาท/กก. เนื่องจากตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม เกษตรกรจะเริ่มทำการกรีดยาง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางพาราจะทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.15-1.00 อยู่ที่ราคา 7.21-7.28 บาท/กก. เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สะสมค่อนข้างมากตั้งแต่กลางเดือนเมษายนจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ขณะที่ภาคเอกชนมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น

ปาล์มน้ำมัน ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.85 – 11.11 อยู่ที่ราคา 1.75 – 1.60 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันยังคงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมีปริมาณสูงเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับไทยยังไม่สามารถระบาย สต๊อกผ่านช่องทางการส่งออกได้

มันสำปะหลัง ราคาจะลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.59 – 9.57 อยู่ที่ 1.85 – 1.70 บาท/กก. เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญทำให้เกษตรกรยังคงต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อลดภาวะการขาดทุน ส่งผลให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่ได้คุณภาพ ประกอบกับจีนลดปริมาณการนำเข้ามันเส้น

กุ้งขาวแวนนาไม ราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.36 – 0.72 อยู่ที่ราคา 137.00 – 138.00 บาท/กก. เนื่องจากกำลังซื้อทั่วโลกที่ลดลง และผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้การส่งออกกุ้งของไทยลดลง ประกอบกับในช่วงเดือนมิถุนายน คาดว่าจะมีผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมจากอินเดียและเวียดนามออกสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคากุ้งขาวแวนนาไมทั่วโลกและไทยมีแนวโน้มลดลง

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

จีนส่ง “สินค้าเกษตร” ด้วยรถไฟความเร็วสูง แค่ 2 วัน กระจายสู่ 14 เมือง