Made in China 2025: มาถึงจุดไหนและมีนัยต่ออุตสาหกรรมไทยอย่างไรในปี 2019

Made in China 2025: มาถึงจุดไหนและมีนัยต่ออุตสาหกรรมไทยอย่างไรในปี 2019


ผู้เขียน: ตฤณ พานิชสาส์น
เผยแพร่ใน https://www.scbeic.com/ และ ในการเงินการธนาคาร คอลัมน์เกร็ดการเงิน วันที่ 15 เมษายน 2019

https://www.scbeic.com/th/detail/product/5995?fbclid=IwAR21O7bMc3ZaGHwg978NkIxmPhbmOydIf8amMz7mw8BFGernzy0RyGjU468

ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 มาถึงจุดไหน และจะถูกผลักดันต่อไปหรือไม่?

นับตั้งแต่ปี 2015 รัฐบาลจีนได้ผลักดันยุทธศาสตร์ Made in China 2025 (MIC 2025) มุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตของจีนจาก “โรงงานของโลก” เป็น “แหล่งผลิตสินค้านวัตกรรมของโลก” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาคการผลิตและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับสินค้าจีน โดยมุ่งเน้น 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อการสร้างนวัตกรรมในการผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักและมีการระบุถึงอยู่บ่อยครั้งในเอกสารเผยแพร่ของรัฐบาลกลางของจีน แต่ที่น่าสนใจก็คือ ตั้งแต่ปลายปี 2018 รวมถึงในที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนปี 2019 รัฐบาลจีนไม่มีการกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ MIC 2025 ในที่สาธารณชนเลย

สาเหตุที่ไม่มีการระบุถึง MIC 2025 คาดว่าเป็นเพราะจีนถูกสหรัฐฯ วิจารณ์ว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากจีนมีวิธีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่โปร่งใสผ่านการบังคับการโอนถ่ายเทคโนโลยี รวมถึงการให้เงินสนับสนุนบริษัทและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งในช่วงการทำสงครามการค้ากับจีนตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลจีนไม่ได้กล่าวถึง MIC 2025 นั้นไม่ได้หมายความว่าจีนจะล้มเลิกเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรม แต่เป็นเพียงการแสดงท่าทีที่จะปรับแผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงการลดปริมาณเงินสนับสนุนที่รัฐบาลให้แก่บริษัทและรัฐวิสาหกิจจีน โดยในการประชุมสภาผู้แทนฯ นั้น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยังย้ำถึงเจตนาที่จะผลักดันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการระบุไว้ใน MIC 2025 เดิม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสารสนเทศ อุปกรณ์การผลิตวัตถุดิบใหม่ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถยนต์พลังงานใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้เปิดเผยว่า จะเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของรัฐในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี 2019 เพิ่มขึ้น 13.4%YOY เป็นเม็ดเงินจำนวน 3.54 แสนล้านหยวน ดังนั้น ถึงแม้ว่าทางการจีนจะพยายามหลีกเหลี่ยงการพูดถึง MIC 2025 ทางตรง แต่รัฐบาลจีนยังคงเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตผ่านนโยบายอุตสาหกรรมอยู่

วิเคราะห์ความสำเร็จและอุปสรรคของยุทธศาสตร์ MIC 2025

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์นี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตั้งกองทุนขึ้นมาหลายกองทุน เช่น กองทุนสนับสนุนการยกระดับของอุตสาหกรรมแผงวงจรรวม และกองทุน Advanced Industry Investment Manufacturing Fund (AIIMF) โดยใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านหยวน1เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจจีนได้รับการสนับสนุนตามเป้าหมาย โดยในปี 2016 กองทุน AIIMF เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD เป็นมูลค่า 1.5 พันล้านหยวน2 ซึ่งในปี 2018 บริษัท BYD ได้กลายเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดอันดับสองของโลก

การดำเนินยุทธศาสตร์ MIC 2025 จะเน้นการนำนโยบายไปใช้ในโครงการนำร่องในหลายเมืองเพื่อทดลองก่อน หากสำเร็จแล้วถึงจะต่อยอดขยายผลนำไปใช้ในระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น ในปี 2015 รัฐบาลจีนเลือกเมืองหนิงโป ในมณฑลเจ้อเจียง เป็นเมืองนำร่องในการใช้แผนพัฒนา Made in China 2025 และในปีนั้นได้เริ่มโครงการนำร่องด้านการผลิตแบบอัจฉริยะไปกว่า 46 โครงการ รวมทั้งโครงการการประกอบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แบบอัจฉริยะในมณฑลส่านซี และโครงการ Industrial 3D printing system ในมณฑลหูหนาน เป็นต้น จนถึงขณะนี้ได้ขยายเพิ่มไปมากกว่า 200 โครงการกระจายไปตามเมืองต่างๆ ของจีน และยังมีแผนที่จะเพิ่มอีก 100 โครงการในปี 2019 และหากดูจากจำนวนสิทธิบัตรที่บริษัทจีนได้รับจากสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายแห่งสหรัฐฯ จะเห็นว่าจำนวนการออกสิทธิบัตรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

 

โดยในปี 2017 บริษัท Huawei เป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิบัตรจากสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายแห่งสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก

อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ MIC 2025 กำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 2 ประการ โดยหนึ่งในนั้นคือความท้าทายในการกระจายผลประโยชน์ ซึ่งขณะนี้แนวทางของยุทธศาสตร์ MIC 2025 กำลังเกิดประโยชน์กระจุกตัวเฉพาะกับบริษัทแถวหน้าของจีนที่มีความพร้อมและพื้นฐานเดิมดีอยู่แล้ว แต่บริษัทส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีในการผลิตอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากยุทธศาสตร์นี้มากนัก จึงเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายในการยกระดับทั้งอุตสาหกรรม จากรูปที่ 1 ยังแสดงให้เห็นอีกว่า บริษัทสัญชาติจีนยังได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ น้อยกว่าบริษัทจากประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ อีกทั้ง ระดับการใช้ระบบออโตเมชั่นในจีนยังน้อยกว่าในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเช่นกัน 

 

 

นอกจากนี้ ความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่งคือความท้าทายในการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด เนื่องจากบริษัทในจีนยังคงมีการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการของรัฐ อีกทั้งการอัดฉีดให้เงินสนับสนุนของรัฐเป็นการแทรกแซงต่อกลไกตลาด และมีเงินทุนบางส่วนที่ไม่ได้ถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตส่วนเกินในบางอุตสาหกรรมของจีน เช่น อุตสาหกรรมโลหะ ถ่านหิน และอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรัฐบาลจีนกังวลว่า ปัญหานี้อาจจะเกิดขึ้นกับบางอุตสาหกรรมที่กำลังผลักดัน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการประมานการณ์ว่าขีดความสามารถในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในปี 2020 อยู่ที่ 20 ล้านคัน แต่ยอดขายในปี 2020 นั้น รัฐบาลตั้งเป้าไว้เพียง 2 ล้านคัน ซึ่งแปลว่าอาจจะมีการผลิตส่วนเกินถึง 18 ล้านคัน รัฐบาลจึงมีมาตรการห้ามไม่ให้ขยายกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตยังไม่ถึง 80% เป็นต้น

ความเชื่อมโยงกับ MIC 2025 และโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมไทยในระยะต่อไปคืออะไร?

อีไอซีมองว่า อุตสาหกรรมไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแผน MIC 2025 ทั้งในด้านการส่งออก การลงทุน และการนำเข้า

 

 

ในด้านการส่งออก บริษัทจีนในอนาคตจะไม่เป็นเพียงโรงงานประกอบชิ้นส่วนอีกต่อไป แต่จะมุ่งเน้นด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูงโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โครงสร้างของสินค้าส่งออกไทยไปจีนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วยเพราะไทยมีความเชื่อมโยงด้านการค้ากับจีนที่สูง ภาคการส่งออกไทยคงจะไม่สามารถส่งออกเพียงแค่วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อให้จีนนำไปประกอบเพื่อส่งออกต่อเหมือนที่ผ่านมา แต่บริษัทไทยจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของตัวเองเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะต้องพัฒนาการส่งออกสินค้าที่มีความซับซ้อนและใช้นวัตกรรมมากขึ้นและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีน ซึ่งอุตสาหกรรมไทยหลายส่วนมีศักยภาพจากความชำนาญในการผลิตสินค้าหลายรายการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรไฟฟ้ามาเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ส่วนอุตสาหกรรมพลาสติก จะต้องเปลี่ยนจากการส่งออกเม็ดพลาสติกไปจีนในลักษณะกึ่งวัตถุดิบ เช่น Linear Low Density Polyethylene (LLDPE) ให้เป็นพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Bioplastic) เป็นต้น

อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ยุทธศาสตร์ MIC 2025 ที่มีความสอดคล้องกับหลายอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ การบิน หุ่นยนต์ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล และการแพทย์ จีนมีแผนพัฒนาที่เน้นการสร้างชาติ ผลักดันบริษัทในประเทศสอดคล้องกับไทยที่เน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงมีศักยภาพในการร่วมมือกันในด้านการลงทุน อีไอซีมองว่า โครงการ EEC ของไทยที่เน้นดึงดูดการลงทุนจากบริษัทจีนที่มีคุณภาพและมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาโครงการ EEC แต่การเข้ามาลงทุนของจีนนั้นจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน มีการจ้างงานและการกระจายความรู้ให้ฝ่ายไทย ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยจากการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่จากจีนตามแผน MIC 2025 ส่วนในด้านการนำเข้า อุตสาหกรรมไทยสามารถปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากจีน เช่น การนำเข้าหุ่นยนต์จากจีนซึ่งมีราคาที่ไม่สูงเกินไปมาใช้เพื่อเปลี่ยนจากโรงงานดั้งเดิมให้เป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยระบบออโตเมชั่น

นอกจากยุทธศาสตร์ MIC 2025 แล้ว อีไอซีมองว่านโยบาย Belt and Road Initiative ของจีนที่เชื่อมโยงผ่านไทยจะเพิ่มโอกาสความร่วมมือกันในมิติต่างๆ ทั้งด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี รวมถึงระบบขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพและความเชื่อมโยงในการพัฒนาอุตสาหกรรม ระหว่างจีนและไทย ตัวอย่างบริษัทจีนชั้นนำที่ได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทยแล้ว ได้แก่ บริษัท Sentury Tire ในจังหวัดระยอง ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของ Smart Factory 4.0 ที่ได้นำระบบออโตเมชั่นมาใช้ในการพัฒนาเป็นโรงงาน อัจฉริยะของจีนในไทย รวมทั้ง เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้เริ่มทำการทดสอบระบบ 5G โดยบริษัท Huawei ภายในโครงการ EEC โดยสรุปแล้ว ความสอดคล้องของทั้งสองยุทธศาสตร์เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ซึ่งหากไทยสามารถใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ จะเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ได้สำเร็จในอนาคต