ทั้งนี้ ข้อมูลจากวันที่ 15 ส.ค.61 ที่ผ่านมาพบว่ามีการลงทะเบียนเข้าใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจากผู้ประกอบการแล้วประมาณ 1 หมื่นราย มีการยื่นขอสินเชื่อแล้วประมาณ 1,000 ราย โดยจำนวนเงินที่ยื่นของสินเชื่อประมาณรายละ 1 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้มียอดการยื่นขอสินเชื่อแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยทาง ธพว.ได้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า “หน่วยรถม้า” เข้าไปดำเนินการภายใน 3 วัน และภายใน 7 วันจะต้องตรวจสภาพกิจการและสามารถให้คำตอบกับผู้ยื่นขอสินเชื่อได้ว่ากิจการของผู้ประกอบการนั้นเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อได้หรือไม่
ในส่วนของกองทุนสินเชื่อประชารัฐเพื่อ Micro SME ในวงเงิน 8,000 ล้านบาท (สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0) วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ระยะสัญญา 7 ปี ได้มีการยื่นขอเข้ามาแล้วเป็นวงเงินจำนวน 5,000 ล้าน และได้รับการอนุมัติไปแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท
สำหรับกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้าน ขณะนี้มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 15,000 ล้านบาทในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเหลืออีกประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่จะเร่งให้มีการปล่อยกู้ได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้
ขณะเดียวกันในปีนี้ ธพว.ได้ตั้งเป้าที่จะปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนให้ได้ประมาณ 32,000 ล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อจากกองทุนที่กล่าวมาทั้งหมด รวมกับสินเชื่อเพื่อการพลิกฟื้นและฟื้นฟูเอสเอ็มอี อีกจำนวน 3,000 ล้านบาท และสินเชื่อสร้างอาชีพ วัยเก๋า วงเงิน 1,000 ล้านบาท และ โครงการ “สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว” หรือ โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน Local Economy Loan ในจำนวนวงเงินทั้งหมด 50,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้อนุมัติไปแล้ว 20,000 ล้านบาท
“สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยบุคคลธรรมดาสามารถยื่นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท และนิติบุคคลสามารถยื่นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะสัญญา 7 ปี ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรก ปีที่ 4 ถึง ปีที่ 7 MLR ต่อปี ซึ่งงจะมีระยะเวลาสิ้นสุดรับคำขอกู้ภายใน 18 ธันวาคม 2561 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อ” นายมงคลกล่าว